‘กระดาษ’ วัสดุที่ ‘เหมือนจะ’ เป็นมิตรต่อโลก กับเบื้องหลังอันดำมืดที่คนไม่รู้

24 ม.ค. 2566 - 06:20

  • ‘กระดาษ’ ขึ้นชื่อเรื่องย่อยสลายง่าย และเป็นที่รู้กันว่ารีไซเคิลได้ เมื่อพลาสติกเริ่มออกฤทธิ์ร้าย หลายคนจึงหันไปพึ่งกระดาษแทน

  • แต่การย่อยสลายง่าย (ชนิดที่อยากใช้ซ้ำก็ทำไม่ได้) นี่แหละที่ควรระวัง เพราะมันบังคับให้เราใช้แล้วทิ้ง

Paper-Dark-Side_Tablet
‘กระดาษ’ ขึ้นชื่อเรื่องย่อยสลายง่าย และเป็นที่รู้กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรว่ารีไซเคิลได้ เมื่อพลาสติกเริ่มออกฤทธิ์ร้าย หลายคนจึงหันไปพึ่งกระดาษแทน ไม่ว่าจะเป็นกล่องผลิตภัณฑ์กระดาษต่างๆ หลอดกระดาษ สำลีก้านกระดาษ ปกหนังสือกระดาษ แต่อีกสารพัดกระดาษที่เบียดพลาสติกออกไปจากความนิยม เพราะเราคิดว่าอย่างไรเสียการใช้วัสดุที่ดูจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายง่าย ย่อมดีกว่าการใช้พลาสติก 
 
จนกระทั่งมารู้ว่าเบื้องหลังการผลิตกระดาษก็สร้างมลพิษและทำให้คนหลงเชื่อว่าดีต่อโลก คล้ายกรณีถุงผ้าที่กระบวนการผลิตก่อมลพิษเยอะกว่าพลาสติกมาก จนบางครั้งการใช้พลาสติกให้คุ้มค่ายังดีต่อโลกมากกว่าการใช้ถุงผ้าเสียอีก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3TSpCrI5b1wAohIgAIenzX/adbddf3191351ba98dc5ddceba3c18fa/Paper-Dark-Side-01

เสียงโอดครวญจาก ‘เมืองกระดาษ’ 

แต่การย่อยสลายง่าย (ชนิดที่อยากใช้ซ้ำก็ทำไม่ได้) นี่แหละที่ควรระวัง เพราะมันบังคับให้เราใช้แล้วทิ้ง ดันให้ความต้องการพุ่งสูงจนต้องผลิตกันหน้าตั้ง สุดท้ายผลก็ไปตกที่สิ่งแวดล้อม และคนที่อาศัยบริเวณโรงงานกระดาษ เมืองคาลามาซู รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองกระดาษ’ ที่สะท้อนปัญหานี้ได้ดี  
 
“บางวันโรคหอบหืดเราก็กำเริบ” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3DpKZqeVXNklEyvQGRZjRu/d00999cd3b0c4343f2433c944796bc65/Paper-Dark-Side-02
สื่อช่อง MLive ลงพื้นที่ไปสอบถามชาวบ้านที่อาศัยใกล้โรงงานกระดาษ เมืองคาลามาซู โดยกลิ่นฉุนอันตรายที่เกินค่ามาตรฐานนี้คาดว่าเป็นกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide) ที่เกิดจากน้ำเสียของพืช ทำให้คนที่อาศัยบริเวณนี้มีโรคหอบหืดติดตัวกันเป็นเรื่อง (ไม่) ปกติ 
 
“บางวันกลิ่นเหม็นเหมือนน้ำมันดิน บางวันกลิ่นเหมือนกองขยะเน่าเสียทั้งกอง” 
 
แต่ไม่ใช่แค่กลิ่นอย่างเดียว โรงงานกระดาษยังปล่อยสารเบนซินและสารปรอทปนเปื้อนในอากาศมากถึงปีละ 11,500 ตัน จำนวนมลพิษเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นความเสี่ยงมะเร็งที่ผู้คนบริเวณรอบต้องแบกรับ 
 
จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โรงงานกระดาษก็มีท่าทีจะขยายตัวไปเรื่อยๆ ทั้งที่รัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากโรงงานเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีทั้งบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5N5LQ31QnQ25pDxBJ8wbpt/06ff50628f06d7beb0b628276e96a8ed/Paper-Dark-Side-03

โลกนี้ยังมีอีกหลายเมืองกระดาษ... 

ผู้ส่งออกกระดาษรายใหญ่ที่สุดในโลกเดาได้ไม่ยากเลยว่าเป็นจีน ซึ่งก็เผชิญปัญหามลพิษในลักษณะเดียวกัน และยังมีกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นในประเทศอื่นภายใต้การควบคุมของอีกประเทศ 
 
ตัวอย่างปี 2018 มีกรณีโรงงานกระดาษ Sun Paper Group ของจีน ตั้งอยู่ที่เมืองเซโปน สปป.ลาว โรงงานนี้ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำส่งผลให้ปลาและวัวจำนวนมากล้มตาย  และยังส่งกลิ่นเหม็นเดือดร้อนไปถึงสุขภาพของประชาชนบริเวณใกล้เคียง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4RQl6RNsbPHC2JOepqtcSz/60adc6d44e5471c7e2143619f4992af3/Paper-Dark-Side-04
Photo: ผลกระทบน้ำเสียจากโรงงานกระดาษ ประเทศจีน. Photo: Environmental Justice Atlas
แม้แต่ในไทยเองก็พบว่ามาตรฐานการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน นิคม เขตประกอบการอุตสาหกรรมหละหลวม จนโรงงานผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษปล่อยน้ำเสียเกินมาตรฐานมาได้ถึง 20 ปี ก่อนจะมาเข้มงวดขึ้นในปี 2561 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามลพิษจะหายไป เพราะกระบวนการผลิตกระดาษ/เยื่อกระดาษกับมลพิษเป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอ ไม่มากก็น้อย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5JEX4nPSptLAXWquVZGrbA/d60f8367ed3542f94eea4d1914651155/Paper-Dark-Side-05

ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่... แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้เลยดีกว่า 

แม้แต่สัตว์ที่ธรรมชาติสร้างอย่างวัวยังผลิตมลพิษ (มีเทน) เลย ใดใดในโลกล้วนส่งผลต่อเนื่องถึงสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ บ้านของมนุษยชาติ และไม่ว่าจะเป็นข้างบ้านเราหรือไม่ อย่าลืมว่ามลพิษทั้งหลายลอยปนในอากาศและแหล่งน้ำที่คนไปจนถึงสัตว์หลายชนิดใช้หายใจและดื่มกิน 
 
ทางที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด ก่อนจะใช้อะไรก็ตามอยากชวนให้ถามตัวเองสักนิดว่าสิ่งนั้น ‘จำเป็น’ จริงหรือไม่ แม้กระทั่งกับของที่แปะป้ายว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเช่น 'กระดาษ' 
 
เพราะสุดท้ายกว่าจะได้ของแต่ละอย่างมาก็มีราคาและทรัพยากรที่ต้องจ่ายทั้งนั้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์