หลายคนอาจจะเคยเห็นเหล่านักรีวิวรวมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์ ติ๊กต่อกเกอร์ชื่อดังที่ได้ออกมาแชร์รีวิวประสบการณ์การลดน้ำหนักโดยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เมื่อมีกระแสออกมามากๆ ทำให้บรรดาผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักทางอ้อมให้ความสนใจกันอย่างล้นหลามและพุ่งเป้าไปยังโรงพยาบาลที่ไว้ใจได้ โดยพยายามจะเข้าทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักและกระชับหุ่นของตัวเองบ้าง
จากกระแสดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของแพทย์หลังจากได้เห็นคลิปรีวิวการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดความอ้วนว่า การออกมารีวิวในรูปแบบนี้อาจเป็นการบิดเบือนสารที่จริงๆ แล้วผู้รีวิวประสบปัญหาโรคอ้วนจริงแต่ออกมาแนะนำเหมือนเป็นการทำหัตถการความงาม และการที่แพทย์ทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารให้คนไข้นั้นเป็นการรักษาโรคจริงๆ หรือเป็นเพียงทางลัดสู่รูปร่างที่ผอมเพรียวกันแน่
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric Surgery) เป็นหนึ่งในวิธีการทางทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับในต่างประเทศแล้ววิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารมีมานานกว่าสิบปี โดยในต่างประเทศเป็นวิธีการรักษาสำหรับกลุ่มผู้มีปัญหาน้ำหนักเกินหรือประสบภาวะโรคอ้วนรุนแรง ((Morbid Obesity) จนส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมักเป็นผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 35-40 และมีโรคร่วมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การผ่าตัดกระเพาะอาหารจึงเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้ อย่างไรก็ตามการจะผ่าตัดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์์
แม้ว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะถูกออกแบบมาเพื่อบรรเทาปัญหาให้แก่ผู้ป่วยโรคอ้วน แต่ในบางกรณีผู้ที่ไม่ได้ประสบภาวะอ้วนรุนแรงแต่มีความสนใจเข้ารับการผ่าตัดเพื่อจุดประสงค์ด้านรูปร่างและความงาม วิธีลดน้ำหนักทางลัดเพื่อทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเห็นได้ชัดก็ดึงดูดให้บางคนมองว่าการผ่าตัดกระเพาะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสู่รูปร่างที่ผอมเพรียว
แต่ในแง่ของจรรยาบรรณแพทย์ การผ่าตัดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการขาดสารอาหาร ภาวะแทรกซ้อนทางลำไส้ หากดำเนินการโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ แพทย์อาจละเมิดหลักจรรยาบรรณที่ควรให้ความสำคัญกับผู้ป่วย วิธีนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและนำไปสู่ผลกระทบทางกฎหมายได้ ก่อนการผ่าตัดแพทย์จึงควรประเมินอาการของผู้ป่วยก่อนว่ามีข้อบ่งชี้เพียงพอต่อการผ่าตัดหรือไม่
นอกจากนี้ องค์กรแพทย์หลายแห่ง เช่น American Society for Metabolic and Bariatric Surgery (ASMBS) และ Royal College of Surgeons ได้กำหนดแนวทางชัดเจนไว้ว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารควรใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนรุนแรงเท่านั้น
แม้ว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้แต่จุดมุ่งหมายหลักของการผ่าตัดยังคงเป็นเพื่อการรักษาทางการแพทย์มากกว่าการเสริมความงาม แพทย์ที่มีจรรยาบรรณควรยึดถือแนวปฏิบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานและปฏิเสธการทำหัตถการที่ไม่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
นอกจาจรรยาบรรณที่แพทย์ควรมีแล้ว ผู้ที่หลงใหลในความงามตามบิวตี้แสตนดาร์ดเองก็ต้องตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างการรักษาโรคอ้วนกับการอยากผอมโดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ จะใช้แค่เงินในการแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้เพราะเงินไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง
หากอยากจะลดน้ำหนักให้ได้ผลและไม่ให้เกิดปรากฏการณ์โยโย่เอฟเฟกต์ วิธีการที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมอาหาร การกินอาหารให้ครบห้าหมู่ตรงตามหลักโภชนาการนอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักแล้วยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดีด้วย