เตือนภัยเงียบ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบคร่าชีวิตโดยไร้คำจากลา

11 ก.พ. 2568 - 07:00

  • การจากไปของ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือ “เชฟหมี ครัวกากๆ ด้วยวัย 43 ปี จากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบคร่าชีวิตฉับไว โดยไม่ทันได้ร่ำลา

coronary-artery-disease-SPACEBAR-Hero.jpg

จากกรณีการเสียชีวิตของ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เชฟหมี ครัวกากๆ” ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาด้วยวัยเพียง 43 ปี  

สาเหตุเสียชีวิตเกิดจากการพบความผิดปกติคือเส้นเลือดหัวใจตีบร่วมกับภาวะอื่นๆ ของร่างกาย ได้แก่ เบาหวานและการทำงานของไตผิดปกติ 

กรณีของเชฟหมีนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงภัยเงียบของโรคร้ายที่อาจคร่าชีวิตโดยไม่มีแม้กระทั่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า

เส้นเลือดหัวใจตีบคืออะไร? 

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือเรียกรวมๆ ว่า Coronary Artery Disease (CAD) or Coronary Heart Disease เกิดจากการสะสมของไขมันและคราบหินปูนในผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแคบลงจนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจขาดออกซิเจน และหากหลอดเลือดเกิดการอุดตันอาจทำให้หัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ทันที 

จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) และ สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) พบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลกโดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่  

  1. โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง 
  2. พฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง  
  3. ภาวะอ้วนหรือโรคอ้วนลงพุง 
  4. กรรมพันธุ์หรือประวัติครอบครัวมีสมาชิกป่วยเป็นโรคหัวใจ  
  5. ความเครียดเรื้อรังและพักผ่อนไม่เพียงพอ

แม้โรคนี้จะเป็นภัยเงียบที่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่หากมีอาการต่อไปนี้ห้ามมองข้ามเด็ดขาด อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่อาจปวดร้าวลามไปยังบริเวณแขนซ้าย คอ กราม หรือหลัง ลักษณะการหายใจติดขัด เหนื่อยง่ายกว่าปกติ วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด มีเหงื่อออกมากผิดปกติโดยเฉพาะตอนกลางคืน คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกคล้ายอาหารไม่ย่อย หลายครั้งอาการของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคอื่น เช่น 

  • โรคกรดไหลย้อน (GERD) - จุกแน่นหน้าอก แสบร้อนกลางอก แต่ไม่มีอาการเหนื่อยง่าย 
  • โรคปอด เช่น หอบหืดหรือถุงลมโป่งพอง - หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง แต่ไม่เจ็บหน้าอก 
  • โรควิตกกังวล หรือแพนิค (Panic Attack) - ใจสั่น เหงื่อออก หน้ามืด แต่ไม่ได้เกิดจากหลอดเลือดตีบ

หากไม่แน่ใจควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ป้องกันก่อนสาย ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ ตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ปรับพฤติกรรมการกิน ลดอาหารไขมันสูง น้ำตาล และเกลือ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เลิกบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก ดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จัดการความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ 

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบอาจพรากชีวิตไปอย่างไม่ทันตั้งตัว การดูแลสุขภาพและป้องกันตั้งแต่วันนี้คือกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยง อย่ารอให้สายเกินไป!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์