ช่วงนี้เธอดูผอมลงเยอะเลยนะ!
ประโยคที่สาวๆ ได้ยินอาจยิ้มจนแก้มปริ แต่ไม่ใช่กับ “พะยูน” หรือน้องหมูน้ำ ซึ่งเป็น 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนของไทย
“จากการเฝ้าติดตาม พบพะยูนเข้ามาหากินอาหาร 1 ตัว ชื่อ ‘หลังขาวใหญ่’ แต่มีร่างกายที่ผอมลงจากครั้งแรกที่พบในการสำรวจ” ข้อความที่เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุไว้เป็นผลการสำรวจเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบแหล่งอาหารพะยูน
ผลจากวิกฤตโลกร้อน ทำให้แหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลหายไป ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดกระบี่ ลงไปถึงจังหวัดตรัง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ยังส่งผลให้ระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ ทำให้หญ้าทะเลแห้งนานขึ้น ประกอบกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลมีความอ่อนแอและไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเหมือนในอดีต
ในขณะเดียวกันฝนที่ตกหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการกัดเซาะของชายฝั่งมากขึ้น เกิดเป็นตะกอนดินไหลลงทะเลและทับถมแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล
ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ จำนวนพะยูนที่ลดลง ทั้งที่ซูบผอมและขาดสารอาหารตาย รวมถึงที่อพยพย้ายถิ่นที่อยู่ไปหาแหล่งอาหารอื่น นอกจากนี้ในระยะหลัง การผ่าซากพะยูนยังพบว่าในท้องมีสาหร่ายมากขึ้น ซึ่งปกติพะยูนจะกิน “หญ้าทะเล” เป็นอาหารหลัก แต่ที่ต้องกินสาหร่ายก็เพื่อความอยู่รอด

คนต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะว่า “พะยูน” รอไม่ได้
เพื่อแก้วิกฤตหญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างเร่งด่วน ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จึงได้ทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติ บริเวณแหล่งหญ้าทะเลท่าเทียบเรือหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นอาหารเสริมให้กับพะยูนในสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยใช้ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า และสาหร่ายผมนางผสมกันในแต่ละแปลง
ทั้งนี้ การใช้แปลงผักทดลองนับเป็นการทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากการใช้เวลาฟื้นฟูแหล่งอาหาร ทั้งการปลูก การคัดเลือกชนิดพันธุ์หญ้าทะเลให้เหมาะกับสภาพพื้นที่นั้นใช้เวลานาน ซึ่งนั่นหมายความว่า ภารกิจนี้รอไม่ได้ เพราะยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นนานเท่าไหร่ เราอาจต้องสูญเสียพะยูนไปมากเท่านั้น

