ในช่วงวีคเอนที่ผ่านมา หลายคนไปเดินเล่นและร่วมงาน Active City Forum กิจกรรมปลุกเมือง อยู่ดี ไม่มีโรค ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกลุ่ม we!park เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ มุ่งยกระดับวิถีชีวิตกระฉับกระเฉงทั่วถึง เท่าเทียม ณ เอ็มสเฟียร์ ตลอด 3 วัน (21-23 มี.ค.) และเปิดประสบการณ์ให้ทุกคนร่วมสร้างสุขภาพดีไปพร้อมกัน
สำหรับงาน “Active City Forum : Activate city for healthier Life ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ด้วยเราทุกคน” เป็นการเนรมิตพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โชว์ต้นแบบที่นำไปสู่การกระตุ้นเมืองเพื่อสุขภาพของไทยอย่างสร้างสรรค์ ภายในงานมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ มี Public Tour ออกสำรวจเมือง 3 เส้นทาง ทั้งทางเรือ ทางน้ำ และการเดินเท้า มีนิทรรศการเมืองแห่งการมีส่วนร่วม และกิจกรรมสร้างเครือข่ายหลากหลายรูปแบบ

“เปลี่ยนเมือง” ด้วยนโยบายและกลไกสร้างสรรค์
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการเจ็บป่วย คือการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ส่งผลให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามูลค่ามหาศาล ซึ่งหนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ คือการไม่ขยับเคลื่อนไหวร่างกายหรือมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ

“การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สสส. กำหนดนโยบายส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ครอบคลุมหลายมิติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พัฒนาพื้นที่สาธารณะ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนมีกิจกรรมทางกาย และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ของตนเอง”
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการต้นแบบที่สามารถขยายผลได้ อาทิ “สวน 15 นาที” พื้นที่ออกกำลังกายใกล้บ้าน “สวนสาธารณะ” พื้นที่ปลอดเหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี โดยการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว อันเป็นกุญแจสำคัญสู่กรุงเทพฯ เมืองยั่งยืนในทศวรรษหน้า ด้วยเป้าหมายสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กในระยะเดิน 15 นาทีจากทุกชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้สร้างแล้ว 180 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 400 ไร่ และตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 500 แห่ง ภายในปี 2026
“เปลี่ยนเมือง” ด้วยการออกแบบพื้นที่สุขภาวะ
เพราะ “เมือง” ส่งผลถึง “สุขภาพ” ของคนเราโดยตรง และเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์มากถึง 78% ทว่า ปัจจัยในการพัฒนาเมืองสุขภาวะ คือเรื่องการออกแบบ ปัญหาภูมิอากาศที่แปรปรวน ฝุ่น PM2.5 ทางเท้าไม่เรียบ พื้นที่สีเขียวมีน้อย สะท้อนได้ว่า “การออกแบบเมืองไม่เอื้อให้ขยับร่างกายในทุกๆ มิติ”

“ตอนนี้มีการพัฒนาเมือง มีโมเดลที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รัฐลงทุนโดยเอกชน พื้นที่เอกชนลงทุนโดยรัฐ หรือพื้นที่เอกชนลงทุนโดยเอกชนเอง การมีโมเดลที่หลากหลายทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น”
นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและหัวหน้าโครงการ we!park กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานได้นำเสนอแนวคิดและเรียนรู้จาก 5 เคสการออกแบบเมืองที่ส่งผลต่อสุขภาพคนเราไปพร้อมกัน ประกอบด้วย
เมืองสุขภาพดีที่มีผู้คนและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง “โคเปนเฮเกน”
สิ่งที่ทำให้โคเปนเฮเกนกลายเป็นเมืองสุขภาพดีอันดับต้นๆ ของโลก คือการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะโดยให้ความสำคัญกับ “ผู้คน” และ “สิ่งแวดล้อม” ในฐานะแกนกลางของเมือง
แนวคิดนี้สะท้อนออกมาในทุกๆ มิติของการออกแบบเมือง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะแบบมีส่วนร่วม การออกแบบนโยบายที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ การออกแบบแนวทางการบริโภคอาหารอย่างเป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับ ESD (Education for Sustainable Development) ภาวะโลกร้อนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงข่าย Pocket Park ท่ามกลางหมู่ตึกที่ “โตเกียว”
ในเมืองหลวงของประเทศเกาะที่มีพื้นที่จำกัดซึ่งเต็มไปด้วยหมู่ตึก โตเกียวมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพื้นที่สีเขียวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Finance Initiative)
Public-Private Finance Initiative นี้ช่วยกระจาย Pocket Park หรือพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กไปทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของภาครัฐหรือพื้นที่ของเอกชน เช่น พื้นที่โดยรอบและภายในตัวอาคาร โดยมีการทำข้อตกลงเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวต่างๆ เหล่านั้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบให้พื้นที่สีเขียวภายในเมืองเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายระบบนิเวศอีกด้วยช
สวนบำบัดที่ช่วยเยียวยาหัวใจป่วยไข้จากนักออกแบบสวนชาว “อังกฤษ”
“การสร้างพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วยพืชพรรณหลากหลายชนิด สีสัน กลิ่น และสัมผัส กระตุ้นความรู้สึกและสร้างบรรยากาศแห่งการผ่อนคลาย” คือแนวคิดหลักในการออกแบบสวนบำบัดของ Paul Harvey-Brookes หรือนักออกแบบพืชพรรณชาวอังกฤษ ผู้เลือกใช้พืชหลากหลายชนิดเป็นเครื่องมือในการออกแบบพื้นที่สุขภาวะที่ไม่เพียงทำหน้าที่สร้างความสบายตา แต่ยังสามารถฟื้นฟูและเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านการออกแบบสีสัน กลิ่น พื้นผิวสัมผัส และประสบการณ์ที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นผัสสะของมนุษย์...เพราะธรรมชาติมีพลังมากกว่าที่คุณคิด
เคล็ดลับสร้างเมืองให้เกิดสติและความยั่งยืนใน “เกเลพู ภูฏาน”
Mindfulness City หรือเมืองแห่งสติ คือชื่อเล่นของเมืองเกเลพู ประเทศภูฏาน ที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยหลักคิด 3ประการ คือ ความมีสติ (Mindfulness) ความยั่งยืน (Sustainability) และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข (Harmony)
ท่ามกลางโลกที่แข่งขันกันก้าวไปสู่ความทันสมัยและการเป็นเมืองอัจฉริยะ GMC (Gelephu Mindfulness City) มุ่งสร้างตัวเองให้เป็นเมืองที่เติบโตไปพร้อมกับธรรมชาติ การดูแลจิตวิญญาณ และการดำรงชีวิตอย่างมีสติ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของคนทุกวัยควบคู่ไปกับการสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น นอกจากการดูแลทั้งสุขภาพกายและใจของคนเมืองแล้ว เกเลพูยังตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเมืองซึ่งปล่อยคาร์บอนเป็นลบแห่งแรกของโลกอีกด้วย
แผนการพัฒนาที่คิดเผื่อโลกในปี 2030 ของ “สิงคโปร์”
Singapore Green Plan 2030 เป็นแผนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนของสิงคโปร์ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปี ภายในแผนประกอบไปด้วยนโยบายที่สำคัญมากมาย เช่น
- ปลูกต้นไม้เพิ่มกว่า 1 ล้านต้น และขยายพื้นที่สีเขียว
- ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- ยุติการจดทะเบียนรถยนต์ดีเซล ภายในปี 2025
- ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก
- ลดการใช้พลังงาน 15% ภายในปี 2030
เพราะ “เมืองป่วย” เราเลยต้อง “จ่าย”

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เผยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยทุกกลุ่มมีภาวะเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น โดยพบว่าคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 74.6% ในปี 2019 เหลือเพียง 55.5% ในปี 2020
ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ตกงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงสุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียน มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ซึ่ง 2 ใน 3 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว เพิ่มอัตราผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพของประเทศ และกระทบกับเศรษฐกิจไทยด้วยมูลค่าความสูญเสียประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 9.7 ของ GDP ทุกปี ขณะที่มีคนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ประมาณ 400,000 ราย หรือคิดเป็น 81% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศ

มาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้ว่า Well-topia พื้นที่สำหรับทุกคน เมืองยั่งยืนในอุดมคติหน้าตาเป็นยังไง?ลองไปหาคำตอบกันต่อได้เลย