กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูล จากรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch จัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาวในช่วง 30 ปี (1993-2022) โดยประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ลดลงจากอันดับ 9 เทียบกับ 4 ปีที่แล้ว (ช่วงปี 2000-2019) แต่ยังต้องเตรียมพร้อมตั้งรับและปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนภายใต้ภาวะโลกเดือดอย่างต่อเนื่อง

29 ปี โลกเจอเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกว่า 9,400 ครั้ง
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch ซึ่งเผยแพร่ล่าสุดระบุว่า ในช่วงปี 1993-2022 ภัยพิบัติทางธรรมชาติคร่าชีวิตคนกว่า 765,000 คน และสร้างความเสียหายเกือบ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลโดยตรงจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง
ซึ่งผลกระทบที่สำคัญที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%) ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยอุทกภัยส่งผลกระทบต่อประชากรมากที่สุด คิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะที่พายุก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุด คิดเป็น 56% ของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมด หรือประมาณ 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ อุทกภัย คิดเป็น 32% หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ฐานข้อมูลเหตุการณ์ภัยพิบัติระดับสากล (EM-DAT) ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า วิธีการนี้จะสามารถเปรียบเทียบผลกระทบของภัยพิบัติในประเทศต่าง ๆ และสะท้อนถึงแนวโน้มของความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี และแนวโน้มระยะยาว 30 ปี

เปิดรายชื่อประเทศเตรียมรับความเสี่ยงที่สุดในระยะยาวผลจากโลกร้อน
จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ยังไม่พัฒนา ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตมนุษย์และเศรษฐกิจ

10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (1993-2022)
- โดมินิกา : ประเทศในแถบแคริบเบียนที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคน พายุโซนร้อน ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตมนุษย์และความเสียหายทางเศรษฐกิจ
- จีน : ประสบกับน้ำท่วม ไต้ฝุ่น และคลื่นความร้อน (Heat wave) ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
- ฮอนดูรัส : ประเทศที่เผชิญกับพายุเฮอร์ริเคน และพายุโซนร้อน
- เมียนมา : เจอปัญหาพายุไซโคลนและน้ำท่วม
- อิตาลี : เผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง ทั้งน้ำท่วมและคลื่นความร้อน
- อินเดีย : เกิดภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น คลื่นความร้อน ไซโคลน และน้ำท่วม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 80,000 คน
- กรีซ : เผชิญกับไฟป่าและคลื่นความร้อน
- สเปน : รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนและน้ำท่วม
- วานูอาตู : ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงสูง
- ฟิลิปปินส์ : เผชิญกับพายุโซนร้อนหลายครั้งต่อปี ทำให้เกิดความเสียหายและการสูญเสียชีวิตอย่างมาก
10 ประเทศรับผลกระทบหนักสุดเพราะโลกร้อน
จากรายงาน Climate Risk Index 2025 ระบุว่าในปี 2022 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง 10 อันดับ ได้แก่
- ปากีสถาน
- เบลีซ
- อิตาลี
- กรีซ
- สเปน
- เปอร์โตริโก
- สหรัฐอเมริกา
- ไนจีเรีย
- โปรตุเกส
- บัลแกเรีย
ทั้งนี้ ทุกประเทศล้วนเผชิญกับพายุ น้ำท่วม และคลื่นความร้อน (Heat wave) ที่รุนแรง
ในกรณีของปากีสถาน เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ส่วนอิตาลีและกรีซ ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก

สำหรับดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว (1993-2022) ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
-
ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น โดมินิกา ฮอนดูรัส เมียนมา และวานูอาตู
-
ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งรายงานเตือนว่า แนวโน้มสภาพอากาศสุดขั้วกำลังกลายเป็น “ความปกติใหม่” โดยเหตุการณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ กำลังกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น
สัญญาณดี...ไทยความเสี่ยงลดลง
ในปี 2022 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Index: CRI) อยู่ในอันดับที่ 72 แสดงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วของไทยลดลง เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่อยู่ในอันดับ 34 ในขณะที่ค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว ที่ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงระยะเวลา 30 ปี (1993-2022) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 30
ค่าดัชนีข้างต้นแสดงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วของไทยในระยะยาว ลดลงเมื่อเทียบกับ 4 ปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 9 โดยขณะนั้นเป็นการประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงระยะเวลา 20 ปี (2000-2019)
สาเหตุที่อันดับของประเทศไทยลดลงอย่างมากมาจากหลายปัจจัย เช่น ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศอื่นๆ เผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่รุนแรงกว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยลดลงเนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงวิธีการประเมินดัชนีความเสี่ยง ซึ่งเพิ่มตัวชี้วัดจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และปรับเปลี่ยนช่วงระยะเวลาที่นำมาใช้ในการประเมินดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว จากเดิม 20 ปี เป็น 30 ปี

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว แต่ประเทศไทยจะยังคงเผชิญกับผลกระทบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อน ภัยแล้ง ปริมาณฝนที่ตกหนักผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมรับมือและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยล่วงหน้า ให้มีความแม่นยำ การสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนอย่างทันท่วงที การพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิโลก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้าย