กระหน่ำช้อปวันดีๆ 4.4 ที่ผ่านมา เรานั่งแกะพัสดุเสร็จหันไปมองกองขยะจากการขนส่ง ทั้งกล่อง เทปกาว แอร์บับเบิ้ล (ยังพอแยกขายได้) แต่ที่ปวดใจก็คือ บางกล่องพ่อค้าแม่ขายยัด “โฟม” ใส่มาจนเต็ม ด้วยความหวังดีเพื่อทำหน้าที่ช่วยปกป้องสินค้า (แต่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องปกป้องโลก) และกลับกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันโลกของการช็อปออนไลน์ซื้อง่ายขายคล่อง ดันธุรกิจรายย่อยและแบรนด์ใหญ่ๆ ให้เติบโตไวในพริบตา แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจ แม้ว่าเราจะสามารถซื้อเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ของกิน หรือแม้แต่อาร์ตทอยจากที่ไหนก็ได้แค่ปลายนิ้ว พร้อมขยะแถมอีกนิดหน่อย (บางทีก็เยอะนะ) นั่นหมายถึงทุกๆ การคลิ๊กเพื่อซื้อคือ “ขยะ” ที่มากขึ้นในทุกขณะ
เซฟของอ่ะเข้าใจ แล้วเซฟโลกด้วยได้ไหม?
ปัญหาเรื้อรังจากการขนส่ง “ขยะ” ที่มากกว่าแค่กล่องกระดาษ
เราต่างก็เคยเปิดกล่องพัสดุที่บรรจุสินค้า ถ้ามานั่งจำแนก “แยกขยะ” ให้ดีจะมีสิ่งของที่งงๆ ปะปนมาในกล่องกระดาษซึ่งพ่อค้าแม่ค้าใส่มาเป็น “วัสดุกันกระแทก” ที่เรามักคุ้นชินกันดี ทั้งแอร์บับเบิ้ลพลาสติก กระดาษฝอย พลาสติกอัดลม กระทั่งโฟมเม็ดเล็ก-เม็ดใหญ่ หรือมาในรูปแบบโฟมขึ้นรูปล็อกของมาพอดีเป๊ะ แม้จะมีประโยชน์ปกป้องของภายในไม่ให้ชำรุด แต่มันใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ กลายเป็นขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายอีกหลายชั่วอายุคน และแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ (ไมโครพลาสติก) แทรกซึมไปในธรรมชาติ

“ช้อปปิ้งออนไลน์” สร้างขยะแค่ไหน?
ข้อมูลจาก UN Environment Programme (UNEP) และ World Economic Forum เผยว่าในปี 2019 ขยะพลาสติกที่มาจากการบรรจุภัณฑ์การขนส่งทั่วโลกมีมากถึง 125 ล้านตัน คิดเป็นเกือบ 10% ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่ถูกผลิตในโลก และที่น่ากังวลก็คือ ส่วนมากยังทำมาจากโฟม พลาสติก เพราะน้ำหนักเบาและราคาถูก แต่วัสดุเหล่านี้มีความสามารถพิเศษคือ ใช้เวลาในการย่อยสลายนานนับร้อยปี (ถึงตอนนั้นอาจจะมีมนุษย์ต่างดาวมาเยียนโลกเราแล้ว) แต่นั่นก็หมายความว่าเรายังต้องคอยจัดการกับมันไปอีกนาน
และทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างที่คาดไม่ถึง เพราะทั้งบรรจุภัณฑ์ของสินค้า กล่องพัสดุ วัสดุกันกระแทก มีส่วนอย่างมากในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลาสติก สร้างมลพิษต่อระบบนิเวศ ข้อมูลจาก Canopy องค์กรอนุรักษ์ป่าไม้ พบว่าในแต่ละปีมีต้นไม้ประมาณ 3,000 ล้านต้นถูกตัด เพื่อผลิตนำไปผลิตเป็นกล่องและหีบห่อสำหรับขนส่งมากกว่า 240 ล้านตัน
แม้ผู้ให้บริการหลายรายจะพยายามลดการใช้พลาสติก ทั้งพลาสติกที่ใช้ห่อหุ้มสินค้า แผ่นกันกระแทก พลาสติกและสติ๊กเกอร์ที่ใช้กับสิ้นค้าชิ้นเล็ก รวมถึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลได้ หรือสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้น แต่ในบรรดาบรรจุภัณฑ์พลาสติก 86 ล้านตัน ที่ใช้กันทั่วโลกในแต่ละปี มีไม่ถึง 14% ที่ถูกรีไซเคิลด้วยซ้ำ ที่เหลือถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ หรือกระจายตัวไปตามแม่น้ำ ลำคลอง และไหลรวมอยู่ในมหาสมุทร
ถ้าไม่ปรับ ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจไม่เปลี่ยน
ในยุคที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีหลายคนสร้างนวัตกรรมวัสดุกันกระแทกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนวัสดุพลาสติกและโฟม ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (มากกว่า) และสามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
การเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลและพลาสติกชีวภาพ
“พลาสติกรีไซเคิล” ช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้งาน และอาจลดการใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดพอลิเมอร์บริสุทธิ์ PET และพอลิโอเลฟินส์ เป็นประเภทพลาสติกที่นำมารีไซเคิลมากที่สุด โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิลทางกลและทางเคมี ราวๆ 20 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 7ของการบริโภคพลาสติกบริสุทธิ์ทั้งหมด การเติบโตที่แข็งแกร่งนั้นได้รับแรงหนุนจากการพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ซึ่งสนับสนุนเพื่อเพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลและลดปริมาณของเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบรรจุภัณฑ์
ขณะเดียวกัน ความสนใจในพลาสติกชีวภาพก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพซึ่งทำจากวัตถุดิบตั้งต้นที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน โดยนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถแปลงวัตถุดิบตั้งต้นที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Renewable Feedstocks) มาเป็นเม็ดพอลิเมอร์ธรรมดาทั่วไปได้ รวมถึงย่อยสลายได้เพื่อลดปริมาณของเสีย ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นที่พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวหรือพลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น
แต่ทั้งหมดก็ยังคงทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้พลาสติกและสร้างสิ่งที่เรียกว่าขยะอยู่ดี (ถ้าเราคิดให้ดีนะ) แล้วถ้าโลกใบนี้ไม่มีพื้นที่ให้พลาสติกและโฟม ขนส่งรักษ์โลกจะใช้นวัตกรรมอะไรให้ยั่งยืน
เปิดโลกวัสดุกันกระแทก นวัตกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำเพื่อช่วยโลกซึ่งคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

จากบับเบิ้ลโฟมสู่ป๊อปคอร์น ขนส่งรักษ์โลกที่ย่อยสลายได้! กินได้!
ใครจะไปคิดว่าป๊อปคอร์นที่กินตอนดูหนังจะมีคนหัวใสใส่มาเป็นวัสดุกันกระแทกได้ (แถมอร่อยด้วย) ต้องยกเครดิตทำดีเพื่อโลกนี้ให้กับ AZECHI บริษัทจากญี่ปุ่นคิดค้นวัสดุกันกระแทกจากป๊อปคอร์น ทางเลือกที่สร้างสรรค์ และที่สำคัญคือมันอร่อย นอกจากจะลดขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้เราได้ยิ้มอิ่มเอมใจไปกับข้าวโพดคั่วหลังจากแกะพัสดุ นี่ถือเป็นการคิดค้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแสดงให้เห็นว่า “ความคิดสร้างสรรค์” สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะได้จริง

ผักตบชวา ‘สวะ’ ขยะที่สร้างประโยชน์
อีกตัวอย่างที่ดีคือ “ผักตบชวา” (อันนี้กินไม่นะ) วัชพืชที่มักจะสร้างปัญหาในคลองและแหล่งน้ำต่างๆ แต่กลับกลายเป็นวัสดุกันกระแทกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความคิดสร้างสรรค์สู่การนำผักตบชวามาแปรรูปเป็นวัสดุกันกระแทก แนวคิดที่แทบไม่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ ถ้าใช้แรงคนเก็บ หั่น และตากแดด การใช้ผักตบชวามาเป็นวัสดุกันกระแทกไม่เพียงช่วยลดปัญหาเอเลียนสปีชีส์ วัชพืชที่รุกรานระบบนิเวศที่เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน แล้วยังช่วยลดการใช้พลาสติกและโฟม นำสิ่งเหลือใช้ (Waste) มาสร้างประโยชน์ให้กับโลก สร้างงาน และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อีกด้วย

กล้วยช่วยโลก ก้านกล้วยกันกระแทกจากวัสดุธรรมชาติ
เรื่องกล้วยๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์รังสรรค์ออกมาเป็นวัสดุกันกระแทกรักษ์โลก “ก้านกล้วย” มักจะเป็นวัสดุไร้ค่าที่เกษตรกรทิ้งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต มันมีคุณสมบัติในการดูดซับแรงกระแทกได้ดีไม่แพ้โฟมพลาสติกหรือบับเบิ้ลโฟม แถมเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ช่วยลดขยะในภาคการเกษตร ลดการเผา และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ปลูกกล้วยจำนวนมาก นอกจากกันกระแทกแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์คลุมดินต้นไม้ในกระถาง เพื่อเพิ่มความชื้นและเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่ดีได้อีก

เปลือกข้าวจากท้องนาสู่การขนส่งที่ดีต่อโลก
ปกติแล้ว “เปลือกข้าว” หรือแกลบมักถูกทิ้งหรือเผาทิ้ง แต่ปัจจุบันด้วยความคิดสร้างสรรค์ทำให้บริษัท Proservation ได้นำแกลบเหล่านี้มาพัฒนาเป็นวัสดุกันกระแทกที่ชื่อว่า Recou ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนโฟมกันกระแทก แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และนำไปทำปุ๋ยหมักได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน

เห็ดรา วัสดุกันกระแทกจากธรรมชาติ
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจคือการใช้ ไมซีเลียม (รากของเห็ด) ในการผลิตวัสดุกันกระแทก แบรนด์ Ecovative จากสหรัฐฯ ได้พัฒนาวัสดุกันกระแทกจากไมซีเลียมที่มีคุณสมบัติเหมือนโฟมพลาสติก ซทำมาจากการเพาะเห็ดโคนผสมกับวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร วัสดุชนิดนี้มีความนิ่ม น้ำหนักเบา และสามารถใช้แทนโฟมพลาสติกในการบรรจุเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าบอบบางได้อย่างดี อีกทั้งไมซีเลียมยังมีคุณสมบัติที่สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงช่วยลดขยะพลาสติกและส่งเสริมการใช้วัสดุจากธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
โลกของการขนส่งที่ยั่งยืน คิดให้ไกล ทำให้จริง
สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เรื่องของการคาดหวัง แต่เป็นเรื่องของพลังแห่งการลงมือทำ ที่เราทุกคนสามารถช่วยกันสร้างการขนส่งรักษ์โลกและยั่งยืนได้จริง และบางทีในอนาคตอาจจะไม่มีขยะพลาสติกหลงเหลือจากการขนส่งพัสดุอีกเลยก็เป็นได้