พิษ ‘โรคเลื่อน’ เขยื้อนเป้าโลก EU ประกาศเลื่อนเป้าหมายแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2040

26 มี.ค. 2568 - 06:18

  • สหประชาชาติ เผยเกือบทุกประเทศ รวมถึงประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ ส่งแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ไม่ทันเส้นตาย

  • ล่าสุด EU ประกาศเลื่อนข้อเสนอเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับปี 2040 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ecoeyes-eu-delays-2040-greenhouse-gas-emissions-target-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่โดน “โรคเลื่อน” เคลื่อนเวลาคลอดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เพราะในระดับโลกก็ถูก “โรคเลื่อน” เขยื้อนเป้าหมายแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกัน

โดยก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาณออกมาบ้าง จากการที่สหประชาชาติ เผยว่าเกือบทุกประเทศรวมถึงประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ส่งแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ไม่ทันเส้นตาย โดยในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้มีเพียง 10 ประเทศ จากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอกวาดอร์ นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย ที่ยื่นแผนจัดการปัญหาโลกร้อน ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทันตามกำหนดเส้นตาย (10 กุมภาพันธ์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลของสหประชาชาติที่ติดตามการส่งแผนของประเทศต่างๆ)

ในขณะที่ประเทศจีน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่และกำลังโดนพิษของโลกร้อนเล่นงานกลับส่งแผนหยุดโลกร้อนไม่ทันตามกำหนดเวลา เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ อังกฤษ และบราซิล โดยกรณีของสหรัฐฯ นั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก่อนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะสั่งให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส

และล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรป ก็เจอพิษอาการเลื่อน หรือ “โรคเลื่อน” คำแสลงที่ใช้กันในหลายวงการ ชะลอการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU) สำหรับปี 2040 ออกไป ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ อาจไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้หากยังมีอุปสรรคทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตอนนี้

ecoeyes-eu-delays-2040-greenhouse-gas-emissions-target-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เป้าหมาย Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ในขณะที่การเจรจาในระดับนานาชาติยังดำเนินไปท่ามกลางความท้าทายจากหลายฝ่าย EU ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีหลักของข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็ได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายไม่น้อย ทั้งในปี 2030 ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 55% และในปี 2050 ที่ต้องบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดจนแทบจะเป็นศูนย์

ทว่า ท่ามกลางความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายนี้ ปัญหาของการ “โรคเลื่อน“ ก็เริ่มชัดเจน เมื่อแผนการเสนอเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซสำหรับปี 2040 ซึ่งคาดว่าจะได้รับการกำหนดในไตรมาสแรกของปีนี้ กลับถูกเลื่อนออกไปหลังจากเผชิญกับแรงกดดันจากหลายฝ่าย รวมถึงภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลบางประเทศ ที่เห็นว่ากฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจในขณะนี้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเลื่อนนี้มาจากความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศสมาชิกบางประเทศของ EU โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมถ่านหิน ซึ่งยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงพลังงาน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เรียกร้องให้ผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่วางแผนไว้ สิ่งที่คาดหวังจะทำให้ยุโรปสูญเสียความเป็นผู้นำในด้านการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็เป็นการสะท้อนถึงปัญหาที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ในการหาความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการปกป้องสิ่งแวดล้อม

การที่ EU ตัดสินใจเลื่อนการเสนอแผนเป้าหมายปี 2040 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า การลดการปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 จะยังคงเป็นไปได้หรือไม่ หรือว่าอาจกลายเป็นเพียงแค่ “ลมปาก”

ในขณะที่ยุโรปเผชิญกับภาวะโลกร้อนที่รุนแรงที่สุดในโลก ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า การหลีกเลี่ยงการดำเนินการในวันนี้จะทำให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่ยากจะฟื้นฟูได้

แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่ความหวังยังคงอยู่ที่การร่วมมือกันของทุกประเทศในโลก ที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สำคัญนี้ ซึ่งเป็นการรับผิดชอบร่วมกันในฐานะพลเมืองของโลก

เมื่อ “โรคเลื่อน” กลายเป็นภัยคุกคามของเป้าหมายโลก ก็ถึงเวลาที่เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราจะเลื่อนเวลาออกไปได้อีกนานแค่ไหน? และโลกจะรอไหวหรือไม่?

ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเราไม่อยากรอ (แบบไร้ความหวัง) ก็ตั้งใจลงมือทำในสิ่งที่เราทำได้ อย่ารอให้โลกไปต่อไม่ไหว ใครอยากเริ่มเลยวันนี้คลิกไปดู ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก คอนเทนต์ซีรีส์ที่จะกระตุกต่อมรักษ์โลก และเรื่องราวกวนๆ ชวนให้ลงมือทำได้ที่ SPACEBAR VIBE

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์