งานวิจัยใหม่ชี้ซัมเมอร์นี้อาจไม่ใช่แค่...ลื้อดูร้อน แต่ลื้ออาจดูแก่ลงถึง 14 เดือน!

4 มี.ค. 2568 - 07:31

  • WMO เตือนปี 2025 โลกจ่อเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดทุบสถิติ ขณะที่ 14 จังหวัดในไทยเตรียมรับมือกับอากาศร้อนสูงสุด 42°C

  • งานวิจัยใหม่ศึกษาเรื่องอายุทางชีววิทยาเชื่อมโยงกับความร้อนในพื้นที่ พบผู้ที่อาศัยในเขตร้อนมีอายุเกินจริงมากถึง 14 เดือน

ecoeyes-new-research-reveals-that-heat-causes-us-to-age-biologically-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้วจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2025 โดยสัญญาณสำคัญของการเปลี่ยนฤดูกาลคือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลักษณะของฤดูร้อนเต็มรูปแบบ แม้ว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่จะยังมีอากาศเย็นในช่วงเช้า แต่โดยรวมแล้วอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าฤดูร้อนปีนี้จะลากยาวไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม

WMO เตือนปี 2025 โลกจ่อเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดทุบสถิติ (อีกครั้ง)

เรียกว่าทำลายสถิติกันปีต่อปี เมื่อปีที่ผ่านมาหลายคนบ่นว่าร้อนสุดๆ ได้จบไปแล้ว ก็ถึงคราวที่ปี 2025 จะฮอตทุบสถิติกันบ้าง โดยช่วงต้นปี องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ออกมาเตือนว่า ปี 2025 มนุษย์เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด และข่าวร้ายที่ตามมาคืออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (Climate Change)  ดำเนินไปอย่างเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น ถ้าไม่มีการดำเนินการป้องกันอย่างจริงจัง

โดยรายงานล่าสุด WMO ระบุว่าอุณหภูมิในโลกจะยังคงสูงขึ้นในระยะยาว จากการที่กิจกรรมของมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เกิดการสะสมความร้อนในชั้นบรรยากาศ ข้อมูลนี้ทำให้คาดว่าในปี 2025 อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ด้านภูมิอากาศรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงภัยพิบัติจากความร้อนที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ecoeyes-new-research-reveals-that-heat-causes-us-to-age-biologically-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: WMO เตือนปี 2025 โลกจ่อเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดทุบสถิติ

ซัมเมอร์ปีนี้ อาจไม่ใช่แค่...ลื้อดูร้อน แต่ลื้ออาจดูแก่ลงอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ ฮีทสโตรก ที่เราต้องกังวลช่วงหน้าร้อน เพราะคำว่า “แก่” พูดเบาๆ ก็เจ็บ สำหรับคนไทยที่ชินชากับอากาศร้อนอบอ้าว คราวนี้งานวิจัยใหม่อาจทำเรารู้สึกหนาว เพราะแสงแดดที่แผดเผาจะเร่งทำให้ร่างกายของเราเสื่อมเร็วขึ้น แก่เร็วขึ้นแบบไม่รู้ตัว? ซึ่งผลวิจัยใหม่ล่าสุดยืนยันแล้วว่าคลื่นความร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลต่อ DNA ของผู้คน และเร่งการแก่ชราทางชีววิทยา

โดยงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Science Advances ได้ศึกษาเรื่อง “อายุทางชีววิทยา” กับการเชื่อมโยงเรื่องความร้อนในพื้นที่ ด้วยการวัดผลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 56 ปีขึ้นไป (อายุเฉลี่ย 68 ปี) รวม 3,686 คนในสหรัฐฯ พร้อมกับเก็บตัวอย่างเลือดในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดระยะการวิจัย 6 ปี จากการใช้เทคนิคตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางเอพิเจเนติกส์ (Epigenetics) ซึ่งช่วยวัดความสมบูรณ์ของ DNA(DNA methylation) ทำให้เราได้คำตอบชัดเจนว่า คนที่อยู่ในพื้นที่เขตร้อนจะมีอายุทางชีววิทยาเพิ่มขึ้น (แก่เร็วขึ้น) ถึง 14 เดือน เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เย็นกว่า

“ผู้เข้าร่วมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีวันอากาศร้อนสูง พบว่ามีอายุทางชีววิทยาเพิ่มขึ้นถึง 14 เดือน เมื่อเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีวันที่มีความร้อนน้อยกว่า 10 วันต่อปี แม้จะควบคุมปัจจัยหลายประการแล้วก็ตาม เราก็ยังคงพบความเกี่ยวข้องนี้ เพียงเพราะคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีวันอากาศร้อนมากกว่า คุณจึงแก่เร็วขึ้นตามหลักชีววิทยา”

Eunyoung Choi หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาครั้งนี้ กล่าว

ทีมวิจัยยังระบุด้วยว่า ความสัมพันธ์นี้ยังคงอยู่แม้ว่าจะควบคุมปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์ การออกกำลังกาย แอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามหลายข้อ เช่น อากาศร้อนทำให้แก่เร็วได้อย่างไร? การไปอยู่ที่ร้อนจัดในเวลาสั้นๆ ทำให้แก่ลงเร็วได้หรือไม่? และการออกไปอยู่ที่เย็นกว่าจะช่วยชะลอการแก่ได้ใช่ไหม? ซึ่งพวกเราหวังว่าการศึกษาต่อไปในอนาคตจะช่วยไขความลับเหล่านี้ได้

ecoeyes-new-research-reveals-that-heat-causes-us-to-age-biologically-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: 14 จังหวัดในไทยเตรียมตัวรับมืออากาศร้อนจัด 42°C

14 จังหวัดในไทยเตรียมตัวรับมืออากาศร้อนจัด 42°C

กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน 14 จังหวัดในประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศร้อนจัด พร้อมกับความเสี่ยงจากพายุฤดูร้อน ที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยจังหวัดที่มีโอกาสเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่า 42°C ได้แก่

  1. แม่ฮ่องสอน
  2. อุตรดิตถ์
  3. หนองคาย
  4. ตาก
  5. สุโขทัย
  6. อุดรธานี
  7. เชียงใหม่
  8. พิษณุโลก
  9. หนองบัวลำภู
  10. ลำพูน
  11. เลย
  12. ขอนแก่น
  13. ลำปาง
  14. ชัยภูมิ

สำหรับผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงความร้อนสูงควรเตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศร้อนจัด โดยดื่มน้ำเยอะๆ หลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อน และเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงความเสี่ยงพายุฤดูร้อน ซึ่งอาจทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ ดังนั้น อย่าลืมติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดและเตรียมตัวรับมืออย่างเหมาะสม

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์