“ยุง” เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่หลายคนมองว่าสร้างความรำคาญ รบกวนการใช้ชีวิต หรือแค่ชอบดูดเลือดสร้างโรค แต่จริงๆ แล้วยุงมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ อย่าง “ยุงตัวอ่อน” ที่อยู่ตามแหล่งน้ำเป็นอาหารของสัตว์น้ำ เช่น ปลา กบ และแมลงน้ำอื่นๆ ขณะที่ “ยุงตัวเต็มวัย” ก็เป็นแหล่งอาหารของนกและค้างคาว อีกบทบาทที่ไม่ค่อยคุ้นกัน นั่นก็คือยุงมีส่วนช่วยในการผสมเกสรของพืชบางชนิด ซึ่งทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล
โลกที่ร้อนขึ้นทำให้ยุงแพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ดันอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ซึ่งไม่เพียงทำให้เรารู้สึกอบอ้าว แต่ยังส่งผลกระทบต่อการแพร่พันธุ์ของยุง จากเดิมที่ยุงเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ตอนนี้สามารถแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ทำให้การระบาดของโรคที่ยุงเป็นพาหะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้ซิกา โรคชิคุนกุนยา โรคเท้าช้าง ไข้สมองอักเสบ ซึ่งล้วนแต่น่ากลัวและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต การเกิดโรคต่างๆ นี้ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ดังนั้น “ยุง” จึงกลายเป็นเครื่องเตือนใจให้เราต้องตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์
เรามักจะคิดว่าไข้เลือดออกเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ แต่ในยุคที่โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว โรคนี้กลับกลายเป็นภัยคุกคามที่ยากจะหลีกเลี่ยง หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเผชิญกับการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้น เนื่องจาก “การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ” และ “ฝนที่ตกหนัก” ทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ไอเดีย “จับยุงแลกเงิน” ในฟิลิปปินส์
คาร์ลิโต เซอร์นัล หัวหน้าหมู่บ้านแอดดิชัน ฮิลส์ ในกรุงมะนิลา เสนอไอเดียที่แปลกใหม่ในแคมเปญ “จับยุงแลกเงิน” ให้เงินรางวัลสำหรับผู้ที่จับยุงในหมู่บ้าน โดยหวังว่าจะช่วยลดจำนวนยุงที่แพร่เชื้อในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น แม้กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะได้ผลแค่ไหน
แต่ที่แน่ๆ คือมันทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก ในยุคที่โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว!! ซึ่งมันคงไม่ใช่แค่ปัญหาของฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญ

เมื่อยุง 5 ตัว แลกเงิน 1 เปโซ...“ทางออกใหม่ หรือแรงบันดาลใจทำฟาร์มยุง?"
...รวยแน่
...การทำฟาร์มยุงมาแล้ว
...ถ้ายุงมีปีกข้างเดียวจะรับไหม?
หลากหลายคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียระบุ มีทั้งที่สร้างประเด็นให้คิดต่อและมาเมนต์แบบติดตลกเฉยๆ
คำถามคือ การจับยุงแลกเงินจะช่วยได้จริงหรือ? หรือจะกลายเป็นช่องทางให้เกิด “ฟาร์มยุง” ที่เพาะเลี้ยงได้กันแน่? เพราะวงจรชีวิตของยุงมีทั้งหมด 4 ระยะ คือ ไข่ > ตัวอ่อน > ตัวโม่ง > ยุงตัวเต็มวัย ใช้ระยะเวลาประมาณ 7-14 วัน (ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม)
เรื่องนี้แม้แต่ต้นคิดอย่าง เซอร์นัล ยังรู้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่น่าจะช่วยให้ปัญหาโรคไข้เลือดออกดีขึ้นได้ แถมจะเสียเงินไปอย่างสูญเปล่า...แต่เขาก็ยืนยันว่าจะแจกเงิน โดยตามรายงานข่าวบอกว่าโครงการแจกเงินค่าจับยุงนั้นจะดำเนินการเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่ง 2 คนแรกที่นำยุงมามอบให้ คือเด็กนักเรียนในหมู่บ้าน จากนั้นก็มีคนนำยุงมาแลกเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เซอร์นัลได้ออกมาเปิดเผยกับสำนักข่าวต่างประเทศว่า “หมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดและมีความหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในมะนิลา เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือกันและกัน”
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ ได้ชื่นชมความตั้งใจดีของผู้บริหารท้องถิ่นในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก แต่เมื่อถูกถามว่าวิธีแจกเงินเพื่อสู้กับโรคไข้เลือดออกนั้นเวิร์คไหม คำตอบที่ได้คือ...ไม่มีคำตอบ!!

ยุงกับเรื่องความยั่งยืน (SDGs)
ยุงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างที่เราเกริ่นไปข้างต้น และยุงก็เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) : Goal 3 Good Health and Well-being เพื่อสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย โดยมีเป้าหมายย่อยครอบคลุมประเด็นด้านสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีหลายประเด็น เช่น ลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้ ยุติการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียและโรคเขตร้อน
สองเรื่องยุ่งๆ ของยุงที่น่าสนใจ
“ยุงต้องการน้ำเพียง 14.5 มิลลิลิตรเพื่อขยายเผ่าพันธุ์”
อย่างที่รู้กันดีว่ายุงชอบวางไข่ในน้ำนิ่งหรือพื้นดินเปียกชื้น เพราะยุงต้องการน้ำปริมาณเล็กน้อยเพียง 1ช้อนโต๊ะเท่านั้นเพื่อการวางไข่ ซึ่งเป็นปริมาณที่สะสมได้ง่ายในยางรถเก่า ถ้วยเก่า ขวดน้ำเก่า กะลา โพรงต้นไม้ อ่างน้ำสำหรับนก จานรอง หรือแม้กระทั่งฝาขวด
“ในโลกนี้ยังมีพื้นที่ปลอดยุง”
ประเทศเอกราชหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มียุงอาศัยอยู่ในธรรมชาติ คือ “ไอซ์แลนด์” ดินแดนที่มีชื่อเสียงในด้านภูมิประเทศทางธรรมชาติอันน่าทึ่ง รวมถึงธารน้ำแข็ง น้ำตก และน้ำพุร้อนใต้พิภพ โดยลักษณะเด่นประการหนึ่งที่ทำให้ไอซ์แลนด์แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ในโลกก็คือ การไม่มียุง หรือ non-existence of mosquitoes ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างรวมกัน รวมถึงด้วยอากาศที่หนาวเย็นและลมพัดแรง ทำให้ชาวไอซ์แลนด์และผู้มาเยือนเพลิดเพลินกับภูมิประเทศที่น่าทึ่งของประเทศนี้ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องยุงกัด
แบบนี้คนไม่ชอบยุง น่าจะตบยุงสะสมถุงใหญ่ๆ เพื่อหาเงินไปเที่ยวไอซ์แลนด์นะ…ว่าไหม?