นับเป็นข่าวดีด้านการอนุรักษ์ และการรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยคณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอเรื่องขอความเห็นชอบกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (พ.ศ. 2567-2571) โดยอนุมัติกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ) ในระยะ 5 ปีแรก วงเงิน 402.818 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์โลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา พร้อมทั้งอนุรักษ์ระบบนิเวศเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและส่งเสริมความยั่งยืนของแหล่งน้ำสำคัญในภาคใต้

โลมาอิรวดี : สถานะและอนาคตของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
สำหรับโลมาอิรวดี หรือโลมาหัวบาตรมีครีบหลัง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเล จากเอเชียใต้จรดตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรโลมาอิรวดีในประเทศไทยกระจายตัวอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นับจำนวนได้รวมกว่าร้อยตัว
โลมาอิรวดี จัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535 และเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา จากการสำรวจเมื่อ 30 ปีก่อน พบว่ามีโลมาอิรวดีกว่า 100 ตัว แต่ในปัจจุบันประเทศไทยพบเหลือเพียงแค่ 14 ตัวเท่านั้น และนับเป็นโลมาฝูงสุดท้ายที่เหลือรอดชีวิตในทะเลสาบสงขลา
สาเหตุการลดลงของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา
ปัจจุบันประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาลดลงอย่างมาก จากสาเหตุหลายประการ หนึ่งในปัจจัยหลักคือการขยายตัวของการทำประมงในพื้นที่ ทำให้โลมาถูกจับติดเครื่องมือประมงมากถึง 60% ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพวกมัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ เช่น การเพิ่มขึ้นของตะกอนที่ถูกชะล้างมาจากบก ทำให้ที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดีเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการสูญเสียแหล่งอาหารจากการที่สัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารถูกจับไปในการทำประมง อีกทั้งการเสี่ยงจากการชนกับใบพัดเรือ และโรคต่างๆ ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีสารพิษ เช่น สารปรอท และยาฆ่าแมลง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้โลมาอิรวดีมีภาวะร่างกายอ่อนแอ และทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว

แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา
การอนุมัติแผนอนุรักษ์นี้มีสาระสำคัญในการดำเนินงานเพื่อปกป้องโลมาอิรวดี ซึ่งประกอบไปด้วย 6 แผนงานหลักที่ครอบคลุม 15 โครงการ และ 36 กิจกรรม ดังนี้
(1) การลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย (3 โครงการ/8 กิจกรรม) เช่น การจัดทำแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีที่ชัดเจน การประกาศเขตพื้นที่ห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดี
(2) การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ (1 โครงการ/1 กิจกรรม) เช่น การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณที่รับผิดชอบของชุมชนประมงท้องถิ่น
(3) การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (2 โครงการ/5 กิจกรรม) เช่น การสำรวจการแพร่กระจายและจำนวนประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภาพแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา
(4) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (1 โครงการ/1กิจกรรม) เช่น การศึกษาพันธุกรรมของโลมาอิรวดีและการศึกษาดีเอ็นเอในสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการอนุรักษ์ที่เหมาะสม
(5) การดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน (7 โครงการ/17กิจกรรม) เช่น การติดตามผลกระทบต่อโลมาอิรวดีจากการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา การพัฒนาอาชีพชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา
(6) การบริหารจัดการแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (1 โครงการ/4 กิจกรรม) เช่น การบริหารจัดการ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา
ทั้งนี้ แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีจะช่วยลดสาเหตุการตายและภัยคุกคามต่อโลมาอิรวดี ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรโลมาอิรวดีผ่านการอนุรักษ์และการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ
โลมาอิรวดี ถือเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลและน้ำจืด ดังนั้น การอนุรักษ์โลมาอิรวดีจึงไม่เพียงแค่เป็นการอนุรักษ์สัตว์ชนิดหนึ่ง แต่เป็นการรักษาความสมดุลของธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศและชุมชนอย่างยั่งยืน