‘หูฉลาม’ เมนูเหลา ค่านิยม ปมสูญพันธุ์ และห่วงโซ่อาหาร

29 ม.ค. 2568 - 03:53

  • “ฉลาม” ไม่ได้เป็นแค่นักล่าในทะเลที่น่าสะพรึงในภาพยนตร์ฮอลลีวูด แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล

  • เพราะหูของมันทำให้รวย! ฉลามจึงถูกล่าเพื่อคุณค่าทางจิตใจ มากกว่าการเลี้ยงชีพประทังชีวิต

  • คนไทยกินหูฉลามลดลงร้อยละ 34 ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ลดการเสิร์ฟหูฉลามไปแล้วกว่า 8.1 ล้านครั้ง

ecoeyes-shark-fin-menu-value-extinction-and-food-chain-SPACEBAR-Hero.jpg

เราจะพาไปดูเหตุและผลของเรื่องนี้ พร้อมโยงเมนูเหลา ค่านิยม ปมสูญพันธุ์ และห่วงโซ่อาหาร

“ฉลาม” กับความสำคัญต่อระบบนิเวศ

“ฉลาม” ไม่ได้เป็นแค่นักล่าในทะเลที่น่าสะพรึงในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ดุจนักจัดสรรทรัพยากรทะเลที่มีวิวัฒนาการมากว่า 400 ล้านปี ด้วยการใช้มาตรฐาน “อ่อนแอก็แพ้ไป” ซึ่งสำคัญไม่ต่างกับเสือในป่าใหญ่ โดยฉลามเป็นผู้ล่าอันดับสูงสุด (Apex Predator) ที่คัดเลือกประชากรปลาแข็งแรง สุขภาพดี และกำจัดสัตว์น้ำไม่แข็งแรง คอยควบคุมประชากรสัตว์อื่นๆ ในระบบนิเวศไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป จนกระทบกับความสมดุลของระบบนิเวศ

ตัวอย่างของการเสียสมดุลเมื่อมหาสมุทรขาดผู้ล่าอย่างฉลาม เคยปรากฏในชายฝั่งภาคตะวันออกของสหรัฐฯ เมื่อมีการล่าสัตว์น้ำมากเกินไป ทำให้ประชากรฉลามท้องถิ่นลดลงกว่า 90% การลดฮวบของฉลามทำให้เหยื่อของมันอย่าง กระเบน (Cownosed rays) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หอยเชลล์ซึ่งเป็นอาหารของกระเบนเกลี้ยงน่านน้ำ ผลร้ายที่ตามมาคืออุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงหอยเชลล์ในพื้นที่แทบล่มสลาย

อีกกรณีคือ เมื่อผู้ล่าสูงสุดอย่างฉลามหายไป จำนวนผู้ล่าระดับรองลงมาจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดการล่าปลากินพืชมากตามไปด้วย เมื่อปลากินพืชลดจำนวนลง ก็จะส่งผลให้ปริมาณสาหร่ายเพิ่มขึ้น ทำให้สาหร่ายในระบบนิเวศขยายตัวแย่งพื้นที่ปะการัง จนนำไปสู่สภาวะปะการังเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

humans_hundreds_times_deadlier_than_sharks_SPACEBAR.jpg

ทำไมคนถึงล่าฉลาม?

เพราะหูของมันทำให้รวย! (ความจริงคือส่วนของครีบฉลามต่างหาก) เมนูหูฉลามที่ถูกเสิร์ฟเป็นอาหารเหลา เมนูมงคล เกิดจากการล่าฉลามเพื่อตัดครีบมาทำเมนูนี้โดยเฉพาะ โดยฉลามจะถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนเอาเฉพาะส่วนครีบออก ก่อนจะถูกโยนกลับลงทะเลอีกครั้ง หลักๆ มันคือการแสดงออกถึงการมีสถานะทางสังคมบวกกับความเชื่อ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ร้านอาหารหรูจะใช้เมนูหูฉลามเป็นตัวดึงดูดลูกค้าที่ต้องการเสริมโชคลาภ ความร่ำรวย และการมีสุขภาพที่แข็งแรง

ecoeyes-shark-fin-menu-value-extinction-and-food-chain-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ครีบฉลามตากแห้งเพื่อน้ำไปประกอบเมนูหูฉลาม

แต่น่าเสียดายที่ความเชื่อนี้กำลังกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการล่าฉลามจนใกล้สูญพันธุ์

ตัวเลขจาก WildAid ระบุว่า แต่ละปีฉลามราว 100 ล้านตัวถูกล่า ในจำนวนนี้ครีบจากฉลามกว่า 73 ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นเมนูซุปหูฉลาม 

กินเพื่อโชคดี หรือเข่นฆ่าเพื่อให้สูญพันธุ์?

อาหารหรูอย่างซุปหูฉลามถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “เบญจภาคีอาหารเหลา” ของชาวจีนที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ด้วยความเชื่อที่ว่า หูฉลามสามารถบำรุงพละกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภ  (หรือแค่คำบรรยายของร้านอาหารที่พยายามขายในราคาที่แพงกว่าปกติ) 

เพราะที่จริงแล้วมันไม่ได้ทำให้ใครเป็นอมตะ รวยขึ้นหรือจนลง แม้กระทั่งไม่ได้ช่วยให้สุขภาพดีอย่างที่คิด ทว่า มันเป็นแค่อาหารที่แลกมาด้วยชีวิต และเรากำลังช่วยขับเคลื่อนวงจรการล่าฉลามต่อไป ซ้ำร้ายคือบางทีการที่ฉลามต้องสังเวยชีวิต ก็เพียงเพื่อให้บางคนที่แค่อยากลองกิน ใช่แล้ว! แค่คนอยากรู้อยากลองได้ ลิ้มรสที่คิดว่าแสนโอชา แต่กลับไม่มีจริตรสดังหวัง เพราะที่เสพรสกันคือสัมผัสดีๆ ที่มาจากการปรุงน้ำซุปล้วนๆ (งั้นก็กินซุปเพียวๆ ก็พอป่ะ?)

ฉลามลดลงไปแค่ไหน?

จำนวนฉลามทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว หากคิดว่า “รอให้ประเทศจีนออกกฎหมายห้ามกินหูฉลามไปเลยก็จบ” คงต้องขอโทษด้วย...เพราะถึงจะมีการห้ามล่าและตัดหูฉลามในบางประเทศ แต่การจับฉลามเพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างน้ำมันตับฉลาม หรือแม้กระทั่งเครื่องสำอาง ยังคงเป็นการค้ากลุ่มใหญ่ที่ไม่มีทีท่าว่าหยุดยั้ง

62% เป็นหูจากฉลาม “สายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์”

shark-wildaid.jpg
Photo: ผลสำรวจจาก WildAid

จากการเก็บตัวอย่างครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่างจากแหล่งค้าในหลายจังหวัดในประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง ไวล์เอด (WildAid)  ทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ ได้ทำการตรวจสอบชนิดพันธุ์โดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล พบว่าชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่พบมีการค้าขายอยู่ในไทย มีอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ และ 62% เป็นชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของIUCN Red List ทั้งยังพบเป็นหูจากฉลามหางจุดมากที่สุด และส่อเป็นหูจากฉลามวัยอ่อนจากหลายแหล่ง

ขอบคุณคนไทยที่ #ฉลองไม่ฉลาม

นื่องในวันรู้จักฉลาม (14 กรกฎาคมของทุกปี) องค์กรไวล์ดเอด ได้เผยรายงานผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามและเนื้อฉลามในประเทศไทย ปี 2023 จัดทำโดยบริษัทวิจัยแรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) พบว่า คนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศกินหูฉลามลดลงร้อยละ 34 ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาหรือเทียบเท่า การเสิร์ฟหูฉลามที่ลดลงไป 8.1 ล้านครั้ง แต่ยังมีคนเมืองมากกว่าครึ่ง สนใจที่จะกินหูฉลามในอนาคต ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญ

2.jpg
Photo: ผลสำรวจจาก WildAid

การสำรวจคนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จำนวน 1,007 คน ทางออนไลน์ในปี 2023 พบว่า มีคนเมืองร้อยละ 21 ที่บริโภคหูฉลามในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ลดลงจากร้อยละ 29 จากการสำรวจเมื่อ 2017 แม้ว่าประชากรคนเมืองทั่วประเทศในช่วงอายุเดียวกันมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 2.7 ล้านคน

1.jpg

ทั้งนี้ การรวมกลุ่มทางสังคม หรืองานสังสรรค์ยังคงเป็นวาระโอกาสหลักที่คนเมืองบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุดพบการบริโภคกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (60%) งานแต่งงาน (57%) และบริโภคกับเพื่อนที่ร้านอาหาร(46%)

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกนี้ไม่มีฉลาม?

หากโลกนี้ไม่มีฉลาม ห่วงโซ่อาหารในทะเลก็จะพังทลายอย่างรวดเร็ว มหาสมุทรจะกลายเป็นบ้านผีสิงที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมไม่ได้ ไร้สมดุล และแนวปะการังสวยๆ ที่เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวหรือนักดำน้ำ ก็จะหาดูได้แค่ในภาพถ่าย โปสเตอร์ สารคดี หรือให้ AI สร้างขึ้นมาดูต่างหน้าเท่านั้น ถ้ายังรักการดำน้ำดูปะการัง อย่าลืมช่วยกันรักษาฉลามให้รอดก่อนที่ทะเลจะกลายเป็นแค่การเที่ยวดูสาหร่ายที่เติบโตเต็มพื้นที่

นอกจากนี้ ฉลามยังเป็นต้นแบบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นักวิจัยศึกษาจากโครงสร้างและเกล็ด เช่น นวัตกรรมกังหันลม วัสดุที่ช่วยลดแรงเสียดทานของผิวเครื่องบิน ตลอดจนการศึกษาวิจัยเรื่องยาและเวชภัณฑ์

ecoeyes-shark-fin-menu-value-extinction-and-food-chain-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: เมนูซุปหูฉลาม

แล้วถ้ายังสงสัยว่า “ซุปหูฉลาม” จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นจริงไหม?

คำตอบคือ อาจจะไม่! แต่ถ้าอยากได้ความร่ำรวยและโชคลาภจริงๆ แนะนำให้รักสัตว์ก่อน เพราะความรักที่แท้จริง จะนำมาซึ่งความรัก(ษ์) หรือไม่ก็ลองไปบริจาคเงินให้กับการอนุรักษ์ฉลามดูสิ! นั่นจะทำให้รู้สึกดีและได้โชคดีจากการช่วยโลกให้รอดมากกว่าการกินมันเข้าไป

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์