ในวันที่โลกยังจัดการกับขยะพลาสติกไม่ได้ เรากลับพบว่ามีขยะอีกประเภทกำลังล้อมโลก ไม่ใช่ที่มองเห็นบนพื้นดิน ในแม่น้ำลำคลอง ไม่ใช่ที่ลอยตุ๊บป่องและแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกในมหาสมุทร แต่มันลอยละล่องอยู่เหนือหัวเรา นั่นคือ “บนอวกาศ”
ใช่แล้ว! บนอวกาศที่ดูเงียบสงบในสายตาของเรา แท้จริงแล้วกำลังเต็มไปด้วยเศษซาก “ขยะอวกาศ” หรือ Space Debris ภัยเงียบที่กำลังก่อตัวจน องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ต้องออกโรงถามว่า Space Debris: Is it a Crisis? ขยะอวกาศ: วิกฤติแล้วหรือยัง?
เมื่ออวกาศ...ไม่ได้ว่างเปล่าอย่างที่คิด
ขยะอวกาศ อาจฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันคือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในอวกาศ การบิน ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และอาจลามมาถึงชีวิตประจำวันของเราได้ในอนาคต

จากรายงาน Space Environment Report ปี 2025 โดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ระบุว่า ปัจจุบันมีวัตถุที่ถูกติดตามอยู่ในวงโคจรรอบโลกมากถึง 40,000 ชิ้น มีเพียง 11,000 ชิ้นที่เป็นดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ แต่ขยะอวกาศจริงๆ มีมากกว่านั้น โดยจากการประเมินของ ESA ระบุว่า
- ขยะขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร ประมาณ 54,000 ชิ้น
- ขนาดกลาง 1–10 เซนติเมตร ราว 1.2 ล้านชิ้น
- ขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร (แต่ใหญ่กว่า 1 มม.) มากถึง 130 ล้านชิ้น
แม้จะเล็กเพียง 1 เซนติเมตร แต่วัตถุเหล่านี้มันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือมากพอจะเจาะทะลุดาวเทียม ทำลายอุปกรณ์ในอวกาศให้พังได้ในพริบตา
จุดเริ่มต้นของหายนะที่เรียกว่า “Kessler Cascade”
ใครเคยดูหนังเรื่อง Gravity: มฤตยูแรงโน้มถ่วง อาจจะพอนึกออกว่าการที่วัตถุในอวกาศ “ชนกัน” นั้น ไม่ใช่แค่เศษชิ้นส่วนปลิวไปเฉยๆ แต่มันคือ ปฏิกิริยาลูกโซ่แห่งหายนะ ที่เรียกว่า Kessler Cascade นั่นคือเมื่อวัตถุหนึ่งชนกับอีกชิ้นหนึ่ง เศษซากที่เกิดขึ้นจะไปชนกับวัตถุอื่นๆ ต่อไป กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ยากจะควบคุม
ESA บันทึกว่าในปี 2024 มีเหตุการณ์การแตกตัวโดยไม่ได้เกิดจากการชนกันมากถึง 11 ครั้ง สร้างขยะใหม่กว่า 2,600 ชิ้น และแน่นอนว่าไม่มีใครวางแผนหรือควบคุมเหตุการณ์เหล่านี้ได้ แม้ว่าเราจะหยุดส่งดาวเทียมขึ้นไปตั้งแต่วันนี้ ทว่า ขยะที่มีอยู่ก็ยังจะเพิ่มจำนวนขึ้นอยู่ดี เพราะมัน “ระเบิดเพิ่ม” ได้เองจากการแตกตัว

ขยะอวกาศอาจตกกลับมาทักทายสิ่งมีชีวิตบนโลก
อย่าคิดว่าขยะอวกาศจะลอยอยู่เฉยๆ ตลอดไป เพราะสถิติล่าสุดในปี 2024 ระบุว่าเพียงปีเดียว มีวัตถุอวกาศขนาดใหญ่ตกลงสู่โลกมากถึง 1,200 ชิ้น หรือเฉลี่ยวันละ 3 ชิ้น!
แม้หลายชิ้นจะสลายตัวไปในชั้นบรรยากาศ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ “รอด” ลงมาถึงพื้นโลก แถมเศษวัสดุที่เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ (เช่น อะลูมิเนียม) ยังปล่อยสารที่ทำลายชั้นโอโซน และรบกวนสมดุลอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศอีกด้วย พูดง่ายๆ คือขยะในอวกาศก็อาจจะกลับมาเป็น “ขยะพิษ” บนโลกได้เช่นกัน
รายงานฉบับนี้คือสิ่งที่เน้นย้ำให้มนุษย์ตระหนักรู้ว่า กิจกรรมในอวกาศของเราได้เพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในอวกาศและในชั้นบรรยากาศของโลกแล้ว
“หาก SpaceX ยังคงดำเนินแผนขยายกลุ่มดาวเทียม Starlink ให้มีจำนวนถึง 30,000 ดวง (ซึ่ง ณ ตอนนี้ -ปี 2025 มีดาวเทียมที่โคจรอยู่แล้วมากกว่า 6,000 ดวง -บางแหล่งอาจระบุเกือบ 7,000) ในอนาคตเราก็จะมีดาวเทียมกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ 15 ดวงต่อวัน ขณะที่ Amazon กำลังจะเริ่มต้นนำกลุ่มดาวเทียม Kuiper มาใช้ และจีนกำลังดำเนินโครงการกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ ดังนั้น ในอีก 5 - 10 ปีข้างหน้า เราจะเห็นจำนวนดาวเทียมที่ถูกปลดระวางเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”
โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอวกาศ กล่าว
นอกเหนือจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นแล้ว จำนวนดาวเทียมที่กลับเข้ามาสู่ชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เศษซากบางส่วนจะตกลงสู่พื้นโลก ซึ่งคุกคามทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ แล้วถ้าชิ้นส่วนตกลงที่ไทย ใครต้องรับผิดชอบ?
หยุดสร้างขยะอวกาศอย่างเดียวไม่พอ ต้องช่วยกันเก็บด้วย
ESA กล่าวชัดว่า “แค่หยุดสร้างขยะเพิ่ม...ไม่เพียงพอ” สิ่งที่โลกควรทำตอนนี้ คือจัดการกับขยะที่ลอยอยู่แล้วให้ได้จริงจัง โดยแนวทางที่กำลังถูกผลักดัน อาทิ พัฒนายานอวกาศที่สามารถบำรุงรักษาหรือเก็บขยะในวงโคจรได้ การออกแบบดาวเทียมรุ่นใหม่ให้ไม่ทิ้งเศษซากเมื่อหมดอายุ หรือการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอวกาศ (Circular Economy in Space)
ข่าวดีคือมีการนำจรวดและดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแบบ “ควบคุมได้” เพิ่มขึ้นมากในปีที่ผ่านมา โดยตอนนี้ 90% ของจรวดในวงโคจรระดับต่ำ (LEO) สามารถออกจากวงโคจรได้ภายใน 25 ปี และกว่า 80% เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิม

ขยะอวกาศ: กระจกสะท้อนความต้องการมนุษย์
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเทคนิค หรือวิทยาศาสตร์ล้วนๆ แต่มันคือภาพสะท้อนว่าเราปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นทะเล แผ่นดิน หรืออวกาศ และเรามักจะใช้แล้วทิ้ง พร้อมหวังว่า “มันจะหายไปเอง”แต่ความจริงไม่มีขยะชิ้นไหนหายไปเฉยๆ ทุกอย่างรอเวลาแตกตัว ล่องลอย และกลับมาสร้างผลกระทบให้กับผู้สร้างที่ไม่ได้ยั้งคิดถึงอนาคต
ความยั่งยืน จึงไม่ใช่แค่ “ไม่สร้างเพิ่ม” แต่คือ “การรับผิดชอบต่อสิ่งที่สร้างไว้แล้ว” ในอวกาศก็เช่นกัน