#ยั่งยืนไม่ยาก ใจความหลักที่ใช้สื่อสารในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ซึ่งเป็นงานการประชุมสัมมนาประจำปีของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ชวนให้เราคิดต่อโดยเหน็บ ‘เครื่องหมายคำถาม’ ไว้ข้างหลัง
“เรามองเห็นอนาคตที่ชัดเจนว่า ภาคการผลิตจะเปลี่ยนกระบวนการไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ”
ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวขณะเปิดงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ที่ปีนี้จัดเป็นปีที่ 5 เพื่อโชว์ผลงาน และแสดงวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนและนวัตกรรมของ GC ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของไทยที่ไปไกลระดับโลก

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อม บรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างจัดงานเกี่ยวกับ #ความยั่งยืน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับการผลิตให้ไปถึงเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ตั้งไว้ร่วมกันในปี 2050
นับจากวันนี้ เหลือเวลาอีก 26 ปี ที่ทั้งท้าทายและเดิมพันสูง เพราะถ้าทำไม่ได้ ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า มนุษยชาติและโลกจะย่อยยับ เพราะการพัฒนาจะทำลายสิ่งแวดล้อมแบบไม่หวนกลับ

ธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนดังและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจและภาครัฐต่างส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ด้วยการกระตุ้นและรณรงค์ว่า ‘ทุกคน’ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นจริง
#ยั่งยืนไม่ยาก เป็นหนึ่งในแคมเปญที่เกิดขึ้น และในความเป็นจริงแล้ว ความยั่งยืนก็เป็นเรื่องเรียบง่าย แค่ใช้และทำทุกสิ่งอย่างให้ “พอดีๆ ชีวิตก็เป็นสุข”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นักพัฒนาด้านความยั่งยืนระดับประเทศ เป็นเจ้าของประโยคข้างต้น และเคยตั้งข้อสังเกตพร้อมตอบคำถามในประเด็นที่สอดคล้องกับ #ยั่งยืนไม่ยาก ไว้อย่างน่าคิดในบทความ “ทานัง” การปรับเปลี่ยนปรัชญาการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบัน

ทำไมสิ่งที่ไม่ยาก ถึงกลายเป็นเรื่องที่ทำไม่ง่ายในทุกระดับ ไม่ว่าองค์กร สังคม หรือส่วนตัว
และนี่คือความคิดและข้อสังเกตของคนที่ทำเรื่องพัฒนาและความยั่งยืนมาทั้งชีวิต
ปล.แม้บริบทในหนังสือจะเป็นเรื่องเก่าสักหน่อย (หนังสือตีพิมพ์ พ.ศ.2554) และผู้พูดเป็นผู้เฒ่าวัย 70 กว่าปี แต่ประเด็นเรื่องที่พูดนั้นยังคงเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน แถมหลายเรื่องดูจะหนักข้อขึ้นกว่าเก่า
วิกฤต เพราะ ‘หลงเงิน’ จนลืมโลก
“คนเราหลงระเริงอยู่ในเรื่องของกิเลสตัณหาจากระบบทุนนิยม จากบริโภคนิยม จึงทำให้คนนึกถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ นึกถึงอำนาจ นึกถึงวัตถุ คนเรามันหลงไปทั้งโลก หลงจนลืมความเป็นสัจธรรมจริงๆ ว่าโลกมันไปไม่ได้แล้ว
“จำนวนคนและจำนวนวัตถุที่มีอยู่บนโลก คนกินคนใช้บนโลกมันไม่พอกันแล้ว แต่คนก็ยังไม่ใส่ใจ แม้เรื่องขยะ เรื่องน้ำเน่า เรื่องการบริโภคอาหารก็ไม่พอกิน ภัยธรรมชาติก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“คนอื่นเขาเตือนทั้งนั้นแหละ เตือนแล้วเตือนอีก ก็พยายามบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน ท่าน (ในหลวง รัชกาลที่ 9) รับสั่งมาว่ามันไม่ไหว
“ถ้าคนมุ่งหากำไรกันแบบนี้แล้ววันหนึ่งมันก็จบ โลกก็จะล่มสลายด้วย เพราะฉะนั้นก็บอกให้บันยะบันยัง ให้กลับไปสู่ความพอดี รักษาเส้นทางสายกลางไว้
“เพราะฉะนั้นคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่มีอะไร กินข้าวมากไปก็จุกใช่ไหม อึดอัดใช่ไหม น้อยไปก็หิวโหย ท้องร้องจ๊อกๆ ทำไง ก็กินให้มันพอดี เสื้อผ้ามีเต็มตู้ไหม แต่ก็ยังซื้อมาใส่เรื่อยๆ ชีวิตที่อยู่ตามธรรมชาติอยู่แบบธรรมดา อยู่อิงธรรมชาติ”
ยั่งยืนยาก เพราะสื่อโฆษณายั่วยุตลอดเวลา
“ตอนเราพูด เขาก็ฟังเรานะ แต่พอเสร็จแล้วออกไปเนี่ย เปิดสื่อโน่นสื่อนี่มันก็แหย่ให้อยาก เดินไปตลาด ของมันหีบห่อสวยเห็นแล้วมันก็อยากได้ เดี๋ยวลด 80 เปอร์เซนต์ ไม่ได้อีก เห็น Sale ปีใหม่ ปีใหม่เสร็จ Sale ตรุษจีน ตรุษจีนมาสงกรานต์ มันมีสิ่งยั่วยุเราตลอดเวลา

“เปิดทีวีมันก็กระตุ้นเราให้เราอยาก แล้วหารู้ไม่ เมื่อเราบริโภคเกินเหตุ มันนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ มันสิ้นเปลืองเงินทอง เงินทองก็ไม่ใช่ว่าจะเยอะแยะ เสร็จแล้วทรัพยากรไม่มีพอสนองตอบให้ ทีนี้คนก็อดตาย
“ท่านจึงเตือนกลับมาว่า ใช้ต้นไม้ไปต้นหนึ่ง ก็กลับมาปลูกชดใช้ 15 ต้นแทน ลูกหลานเราจะได้มีใช้ต่อไป นี่คือการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้นเอง”
เงินไม่ใช่คำตอบ
“แต่ถ้าไม่ฟังกัน นักเรียนธรรมศาสตร์ไปถามสิ (ดร.สุเมธ เคยดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มา 3 วาระ 6 ปี—ผู้เขียน) เมื่อก่อนนี้มีอุดมการณ์ เดี๋ยวนี้หาเงินก่อน เงิน เงิน เงิน จริงๆ มันไม่ใช่หรอก
“ผมมีเงินเต็มกระเป๋า ผมถามผมจะตามใจเงินหรือตามใจผม ถ้าตามใจเงิน โอเคมีเงินเยอะ เดี๋ยวกลางวันจะไปกินหูฉลามชามละ 1,500 บาท เย็นนี้ไปขึ้นเหลากินสเต๊กอิมพอร์ทชิ้นละ 3-4 พัน ไวน์ดีๆ สักมื้อนึง ขวดละ 2-3 หมื่น พอกินดีๆ สักพัก รับรองไปหาหมอ ไม่พ้นหรอก คลอเรสเตอรอลขึ้น ไตรกลีเซอไรด์ขึ้น ได้ไปนอนโรงพยาบาล มันไม่ใช่

“ต่อให้ร่ำรวย ยากดีมีจนอย่างไร กินของง่ายๆ ผักน้ำพริก กินแกงผักตำลึง กินพวกนี้สุขภาพร่างกายแข็งแรง บางทีก็มีคนชวนไปกินของดีๆ ก็ไปนะ พอไปเสร็จก็ไปถามเลขาฯ ผมได้ว่าผมกินอะไร ข้าว ต้มยำ แกงตำลึง ก๋วยเตี๋ยวอะไรง่ายๆ
สุขเพราะรักษาความเรียบง่าย-ธรรมดา
“ถ้าเรารักษาความธรรมดา ความง่ายๆ แบบนี้ก็ไปได้เรื่อยๆ ของถูกก็มีใช้ได้ ใช้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปยึดหลักว่าจะต้องแบรนด์เนม รวยก็ดีแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ของสุรุ่ยสุร่าย เอาเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เอาเงินไปช่วยเหลือคนยากจนกว่าเรา หรือให้ทุนนักเรียน 3-4 คน ที่ยากจนเขาไม่มีเงินเรียนก็มี เราก็ส่งให้เขา…
“…เราก็ทำไป ตามกฎทศพิธราชธรรม …คำแรก คือ “ทานัง” เราก็ให้ มีส่วนเกินเราก็ให้เยอะ ให้วิชาการเราก็ไปสอนหนังสือ ก็แค่นั้นชีวิตไม่เห็นยากอะไร ก็อยู่ให้พอดีๆ จะกิน จะอยู่ ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อ ชีวิตก็เป็นสุข”

ถึงวันนี้--พ.ศ.2567 นับจากวันที่ความคิดนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ 13 ปี กงล้อแห่งการพัฒนายังคงหมุนไปข้างหน้า คำว่าความยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลัก โดยมีทั้งคนที่มุ่งมั่นทำจริง และบางกลุ่มที่ฉวยใช้เป็นคำโฆษณาหาประโยชน์
นี่คือความท้าทายแห่งศตวรรษ และคงมีแต่พวกเรา และภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เป็นตัวละครสำคัญในโลกทุนนิยม (เช่น GC รวมถึงบริษัทอีกจำนวนมาก ที่มุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน) เท่านั้นที่สร้างความหมายของความยั่งยืนให้เป็นจริง
*หมายเหตุ: เรียบเรียงจากหนังสือ 72 ปีแห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, หน้า 38-39. พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์