ที่ผ่านมา “ขยะพลาสติก” ดูเป็นของมีค่าที่หลายประเทศมองเป็นโอกาสทำเงิน และเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิล นี่แหละจุดเริ่มต้นของ “หลุมพรางทางความคิด” ที่ทำให้บางประเทศพินาศเพราะโอกาสที่ว่ามาพร้อมกับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชากร
นำเข้าขยะ ได้ไม่คุ้มเสีย
จีน : ย้อนกลับไปดูวังวนที่จบสิ้นแล้วของประเทศจีน อดีตฉายา “ถังขยะโลก” กับเคสการเลิกนำเข้าขยะเพื่อรีไซเคิล ในปี 2018 โดยแดนมังกรเริ่มรับขยะพลาสติกจากต่างประเทศตั้งแต่ช่วงปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศทางเศรษฐกิจและต้องการวัตถุดิบสำหรับการผลิต กว่า 30 ให้หลัง จีนคลาคล่ำไปด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง เรื่องนี้เปิดโปงหลุมพรางทางความคิดของการรีไซเคิลพลาสติก ที่ฝังหัวชาวกรีนมาเสมอว่าเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นทางออกเรื่องการจัดการขยะที่ดีที่สุด โดยหลังจากปี 2018 ที่จีนประกาศปิดการรับขยะพลาสติกจากต่างประเทศผ่านมาตรการ Green Fence และ National Sword ก็สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขยะโลก
มาเลเซีย : หลังจากจีนประกาศไม่รับขยะพลาสติกในปี 2018 มาเลเซียกลายเป็นจุดหมายใหม่สำหรับขยะพลาสติกจากหลายประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่ในปี 2019 (เพียงปีเดียว) มาเลเซียก็ออกมาประกาศว่าจะส่งคืนขยะพลาสติกจำนวนมากที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย และในปี 2020 ก็ออกกฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการเป็นจุดทิ้งขยะของโลก
ประเทศไทย : เช่นเดียวกับมาเลเซีย หลังจีนประกาศกร้าว ไทยเราก็เริ่มรับขยะพลาสติกจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น (หลังรับมานานแล้วแต่น้อยกว่า) โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การนำเข้าขยะพลาสติกของไทยในปี 2018 มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า จาก 69,500 ตัน เป็นกว่า 552,912 ตัน โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดมายังประเทศไทย ด้วยปริมาณการส่งออกราว 50 ล้านกิโลกรัม ในปี 2022 นอกจากนี้ ยังพบการลักลอบนำเข้าขยะอย่างผิดกฎหมายอีกนับไม่ถ้วน

ปริมาณขยะพลาสติกที่หลั่งไหลสู่ไทย ส่งผลให้เกิดการเติบโตของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลพลาสติก ทว่า โรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากทุนจีน รุ่นพี่ที่เคยประกอบธุรกิจเหล่านี้สบช่องเข้ามาทำเหมือนเคย เสมือนการสร้าง “อาณานิคมขยะใหม่” เพื่อเอาใจคู่ค้าเดิม และรองรับของเสียที่ถูกปรามในประเทศของตน
วิบากกรรมในเรื่องนี้ คือการปักหมุดโรงงานรีไซเคิลใหม่ ซึ่งเป็นการเปิดประกอบกิจการโดยหลบๆ ซ่อนๆ และหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพราะไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ใยดีเรื่องสุขภาพ (ของแรงงานในโรงงานและคนในชุมชนใกล้เคียง) รวมทั้งไม่ได้มีการจัดการที่ดีพอ นอกจากการคิดถึงแต่ผลกำไร

การทะลักเข้ามาของขยะพลาสติก รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ สุมรวมกับปัญหาขยะที่มีอยู่เดิมในประเทศ ทำให้รัฐบาลประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2018 พร้อมกำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2020 เป็นต้นมา ทว่า ที่ผ่านมามีการผ่อนผันให้บริษัทผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลมีเวลาปรับตัว
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ “ต้องห้ามนำเข้า” มาในราชอาณาจักร ซึ่งมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป
เศษพลาสติกประเภท 39.15 คืออะไร?
เศษพลาสติกประเภท 39.15 หรือที่เรียกว่า Harmonized System (HS Code) เป็นการจำแนกสินค้าทางการค้าระหว่างประเทศที่ใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะในกระบวนการตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกสินค้า ในพิกัด 39.15 จะครอบคลุมถึงพลาสติกประเภท “พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วหรือเศษพลาสติก”
“ทางผ่าน” ช่องว่างที่หลายฝ่ายกังวล
การมีผลบังคับใช้โดยกฎหมายเรื่องการกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งผลในทางที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะพลาสติกจากต่างแดน ป้องกันผลกระทบจากมลพิษที่มาจากพลาสติกไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งยังตัดวงจรอุปทานของโรงงานจัดการขยะและรีไซเคิลพลาสติกที่นำเข้าขยะอันตราย ปกป้องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ รวมถึงปกป้องรายได้และวิถีชีวิตของกลุ่มซาเล้งและคนเก็บขยะ
แต่การยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะเรื่องการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกประเภทอื่น หรือการสำแดงเป็นขยะอื่นๆ (ไม่ตรงกับความจริง) รวมถึงการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านส่งขยะไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ต้องมีการตรวจสอบและควบคุมอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ

เส้นทางสู่ความยั่งยืนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
การยุตินำเข้าขยะพลาสติกนับเป็นการเบนเข็มทิศทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และลบภาพประเทศไทยในฐานะ “ถังขยะโลก” แต่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะภายในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิล และการส่งเสริมการลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ยังต้องมีกระบวนการติดตามผลและตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจะไม่มีการหมกเม็ด
และแน่นอนว่าเส้นทางความยั่งยืนเรื่องของพลาสติก ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะขณะที่ไทยรวมถึงหลายประเทศไหวตัวกับเรื่องนี้แล้ว แต่ในภาพกว้างเวทีใหญ่ COP29 ยังถูกนิยามว่าเป็นการต่อรองที่ยืดเยื้อเพื่อเขียน 'เช็คเปล่า' ให้กับโลก ในขณะที่การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 (INC-5) ครั้งล่าสุดที่ปูซาน เกาหลีใต้ ก็จบลงโดยไม่บรรลุข้อตกลง พร้อมขยายการเจรจาออกไปแบบไม่มีกำหนด
สุดท้าย ความไม่ลงรอยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นอุปสรรคขัดขวางความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลงระดับโลกเพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม