ภาพถ่ายใต้ทะเลบริเวณเกาะลิซาร์ต (Lizard Island) ที่อยู่ในแนวปะการัง #เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) เมื่อเมษาหน้าร้อนที่ผ่านมา
นี่คือส่วนหนึ่งของแนวปะการังที่เป็นหลักฐานชั้นดีที่บ่งชี้ว่า สุขภาพโลกของเราอยู่ในจุดไหน
เกรตแบร์ริเออร์รีฟ เป็นแนวปะการังตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียที่ยาวที่สุดในโลก กว่า 2,300 กิโลเมตร มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีปะการังกว่า 400 ชนิด ปลาราว 1,500 สายพันธุ์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หลายชนิด เช่น เต่าตนุ (Green Turtle) ที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในภาพ

ล่าสุด (7 สิงหาคม) ผลการศึกษาที่เผยแพร่ใน Nature วารสารด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกระบุว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา อุณหภูมิน้ำตามแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟอบอุ่นที่สุดในรอบ 400 ปี
“ผมตกใจมากเมื่อเห็นข้อมูลโผล่ขึ้นมา จนเราต้องตรวจสอบอีกหลายครั้ง ว่ามันคือเรื่องจริง” ดร.เบนจามิน เฮนลีย์ หัวหน้าทีมเขียนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกล่าว
จากสถิติที่บันทึกตั้งแต่ปี 1960 พบว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรรอบๆ แนวปะการังเพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับร้อนขึ้นเป็นพิเศษในช่วงปรากฏการณ์ 5 ปีที่ร้อนที่สุดที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา (คือปี 2004, 2016, 2017, 2020) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass bleaching)
และล่าสุดคือครั้งที่ 6 ในเดือนมกราคมถึงมีนาคมเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา
“เราอาจจะได้เห็นการล่มสลายของหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก”
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ถึงมรณกรรมของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ หากมนุษย์ยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงจังเหมือนกับที่พูด
นับตั้งแต่ปี 1995 ปัญหาโลกร้อนได้ทำลายแนวปะการังแห่งนี้ไปแล้วราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่น้ำทะเลที่อุ่นเกินไปส่งผลให้เนื้อเยื่อ (coral polyp) ของปะการังขนาดใหญ่ที่เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลตาย
ส่วนการฟอกขาวที่เกิดขึ้นเพราะปะการังเผชิญกับความเครียด เพราะสภาวะที่ผิดปกติ พวกมันจึงขับสาหร่ายที่อาศัยอยู่ซึ่งเป็นสีสันของปะการังออกไป จนปะการังกลายเป็นสีขาวโพลน
สหประชาชาติ (UN-United Nations) ระบุว่า ถึงจะรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นเพียง 1.5 องศาเซสเซียส ปะการังราว 90% ของโลกก็ไม่รอดอยู่ดี
อุณหภูมิโลกวันนี้สูงขึ้น ราว 1.48 องศาเซลเซียส (นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18) ถ้าดูจากนาฬิกาสภาพอากาศ (Climate Clock) ที่นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน 2 คน คือ โกแลน (Gan Golan) และแอนดรูว์ บอยด์ (Andrew Boyd) ร่วมกันสร้างเพื่อเตือนมนุษยชาติให้หันมาตระหนักถึงภาวะโลกร้อนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน
เพราะเราเหลือเวลาอีกเพียง 4 ปีกับอีก 300 กว่าวันเท่านั้น ที่จะหยุดยั้งอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เพราะถ้าถึงจุดนั้น โลกจะเข้าสู่ภาวะอันตราย สภาพอากาศผิดเพี้ยนอย่างไม่มีวันหวนกลับ สัตว์เฉพาะถิ่นจะสูญพันธุ์ น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะหดหาย น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นเกือบเมตร คนจำนวนมากจะอดอาหาร แนวปะการังทั่วโลกจะหายไป 70-90%
ข่าวดีคือเรายังพอมีเวลาเยี่ยวยาให้โลกกลับมาเหมือนเดิม แต่ข่าวร้ายก็คือแทบจะไม่มีใครใยกับปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง
หลักฐานทางสถิติเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกและภาวะโลกร้อนบอกเราเช่นนั้น ตั้งแต่โลกมีการพูดถึงประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2530 ในรายงานฉบับสำคัญ (โดย World Commission on Environment and Development) ที่ต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Our Common Future ที่กล่าวถึงคำว่า sustainable development ครั้งแรกในโลก
อุณหภูมิโลกกลับสูงขึ้น โดยไม่มีทีท่าจะลดลง สวนทางกับเสียงรณรงค์และโฆษณาเรื่องความยั่งยืนที่ดังขึ้นทุกวัน
แต่ดูเหมือนเสียงนั้นจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในทางอื่นมากกว่าจะให้น้ำหนักกับการเยียวยาสิ่งแวดล้อมอย่างซื่อตรง