สงกรานต์ เทศกาลที่คนไทยหลายคนรอคอย ไม่ใช่แค่เพราะวันหยุดยาว หรือความชุ่มฉ่ำของการสาดน้ำกลางแดดเปรี้ยง แต่ยังเป็น “วาระครอบครัว” ที่สะท้อนความอบอุ่นของสถาบันหลัก การแสดงออกถึงความรัก ความเคารพ และการเริ่มต้นปีใหม่แบบไทยๆ

จาก “ขันน้ำรดผู้ใหญ่” ถึง “ถังน้ำบนรถกระบะ”
ในอดีต…สงกรานต์ไม่ใช่เทศกาลสาดน้ำใส่กันอย่างบ้าคลั่ง แต่สาระสำคัญของประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิมคือวันรวมญาติและวันครอบครัว เป็นวันที่ผู้คนกลับบ้านไปไหว้พ่อแม่ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ด้วยขันน้ำอบ น้ำลอยดอกไม้ เป็นการขอขมาและรับพรอย่างอ่อนโยน เคล้าบรรยากาศแห่งบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระขึ้นปีใหม่
การสาดน้ำเป็นเพียงกิจกรรมที่เด็ก ๆ เล่นกันเพื่อความสนุก และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เรื่องการชำระล้างสิ่งไม่ดี
เมื่อเวลาผ่านไป ...การ “สาดน้ำ” กลายเป็นกิจกรรมยอดฮิต โดยเฉพาะในยุคที่เมืองร้อนขึ้น ผู้คนเหนื่อยล้าจากชีวิตประจำวัน การสาดน้ำจึงเป็นทั้งความสนุกและการปลดปล่อย จนเราจำภาพสงกรานต์เป็น “เทศกาลรื่นเริง“ มหกรรมวันสาดน้ำที่ใช้น้ำจำนวนมาก มีรูปแบบการจัดงานเปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสังคมทุนนิยมที่ใช้ประเพณีเพื่อสร้างรายได้ หลายพื้นที่ “ต้องมีงานสงกรานต์ยิ่งใหญ่” ที่แทบไม่เหลือเค้าวัฒนธรรมการเล่นน้ำแบบเดิม เพราะ ความคาดหวังจากทั้งสื่อ การตลาด และนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ภาพสงกรานต์ในหลายเมืองใหญ่จึงปรากฏเป็น “งานเปียกปอนระดับชาติ” ที่ใช้น้ำหลายแสนลิตรต่อวัน เทียบได้กับน้ำที่บางครอบครัวใช้ทั้งปี!
...แต่ถ้าวันหนึ่งโลกนี้ “ไม่มีน้ำ” จะยังเหลือสงกรานต์แบบเดิมอยู่ไหม?

Welcom to ภัยแล้ง!
โลกกำลังขาดน้ำ (แต่เรายังสาดน้ำอย่างเมามันส์)
แม้ว่าโลกจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 71% ของพื้นผิวโลก แต่รู้ไหมว่ามีแค่น้ำจืดไม่ถึง 2.5-3% เท่านั้นที่ดื่มได้ หลายพื้นที่ในอินเดีย แอฟริกา หรือแม้แต่ในประเทศไทยที่เริ่มประสบปัญหา “ภัยแล้ง” รุนแรงขึ้นทุกปี โดยกรมทรัพยากรน้ำ คาดการณ์ว่าหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำภายในปี 2527 หลายจังหวัดอาจไม่มีน้ำใช้ช่วงหน้าแล้งเลย นี่คือสัญญาณเตือนว่า...โลกนี้กำลัง“กระหายน้ำ” มากกว่าที่เคยเป็น
วิกฤตน้ำไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ปริมาณน้ำที่ใช้เล่นสงกรานต์ในบางพื้นที่มีมากจนเทียบได้กับการใช้น้ำประจำวันของชุมชนหนึ่ง ขณะที่ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) พบว่ามีประชากรโลกประมาณ 2,200 ล้านคนที่ยังไม่มีการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายประเทศ และประเทศไทยเองก็เผชิญปัญหา “ภัยแล้ง” และ “สารปนเปื้อนในน้ำดื่ม”
มีงานวิจัยยังพบว่าในช่วงหน้าแล้ง น้ำในหลายพื้นที่มีค่าความเค็มและโลหะหนัก “เกินมาตรฐาน” คำถามคือ...“น้ำที่เรานำมาเล่นสงกรานต์สะอาดแค่ไหน?” และ “ถ้ามีน้ำจำกัด เราควรใช้อย่างไร?”
แล้วถ้าวันหนึ่ง...โลกนี้ไม่มีน้ำล่ะ?

ลองจินตนาการสงกรานต์ทิพย์
- สงกรานต์แบบแห้งสนิท ไร้ปืนฉีดน้ำ ไม่มีสายยาง ไม่มีประแป้ง
- สงกรานต์สายลมแทนสายน้ำ ไม่มีน้ำสาด ใช้พัดลมมือถือเป่าใส่กันให้เย็น แต่ไม่เปียก!
- แป้งล้วน ไม่มีล้าง ปะแป้งกันจนหน้าขาวจั๊วะ ลบไม่ได้ด้วยน้ำ ต้องรอเหงื่อช่วยพาออก
- เต้นแห้งๆ แต่ใจเปียก ถนนข้าวสารคงกลายเป็นแดนซ์ฟลอร์ลม เต้นกันกลางแดดแบบจัดเต็ม
- งานสงกรานต์อาจเปลี่ยนเป็นเทศกาลแสง สี เสียง หรือเวิร์กช็อปประเพณีไทยแบบไม่ใช้น้ำ
- อาวุธใหม่ ปืนฟองสบู่ ปืนลม ปืนแสง ปืนฉีดน้ำอาจกลายเป็นของโบราณ แต่ปืนฟองสบู่หรือเอฟเฟ็กต์แสงสีแทนอาจมาแรง!
- รดน้ำดำหัวแบบ Virtual หรือกลิ่นแทนสัมผัส ไม่มีน้ำรด ก็ใช้สเปรย์กลิ่นน้ำอบ หรือ AR/VR จำลองการรดน้ำแทน (อารมณ์มาแต่ตัวเปียกไม่มา)
...ฟังดูเศร้า แต่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะหลายเมืองทั่วโลกเริ่ม “งดเล่นน้ำสงกรานต์” ด้วยเหตุผลเรื่องน้ำไม่เพียงพอหรือคุณภาพน้ำต่ำ
สงกรานต์แบบยั่งยืน แค่ “ปรับ” ไม่ต้องยกเลิก
สงกรานต์ที่ยังสนุกได้หน้าตาเป็นยังไง? ถึงจะมีวิกฤต เราก็ยังสามารถสนุกกับสงกรานต์ได้ แค่ต้องปรับมุมมองใหม่ ลองใช้น้ำน้อย แต่ใส่ใจ เช่น ใช้ขันแทนสายยาง จัดโซนเล่นน้ำแบบประหยัด มีระบบหมุนเวียนน้ำ เน้นกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ทำขนมไทย แข่งแต่งชุดผ้าไทย ชวนทุกคน กลับสู่รากเหง้า ให้ความสำคัญกับครอบครัว การไหว้ผู้ใหญ่ การทำบุญ สงกรานต์ไม่จำเป็นต้องเปียกจนชุ่มถึงใจ แต่ควร “ชุ่มฉ่ำถึงจิตใจ”
ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ดีและไม่ใช่ของตายตัว เราจึงต้อง “ปรับ” ตามบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อม และสาระสำคัญอยู่ที่การสร้างความเข้าใจร่วมถึงแก่นแท้ของประเพณี ไม่ใช่เพียงรูปแบบ
วัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่ง เช่นเดียวกับโลกที่กำลังเปลี่ยน ถ้าเราไม่ปรับ…วันหนึ่งเราอาจต้อง “บอกลาสงกรานต์” ที่เรารู้จักไปตลอดกาล แต่ถ้าเราเริ่มวันนี้ เล่นน้ำอย่างรู้คุณค่า สนุกแบบไม่สิ้นเปลือง เราก็ยังคงมีสงกรานต์ไว้ให้ลูกหลาน…แม้ในวันที่โลกอาจไม่มีน้ำสะอาดเหลือมากนักก็ตาม