ถ้าต้องเลือกระหว่าง ‘รถไฟฟ้า’ กับ ‘น้ำ’ เราจะเลือกอะไร?

16 เม.ย. 2568 - 03:58

  • สางปมโลกสวย เมื่อ “พลังงานสะอาด” บางอย่างอาจไม่ยั่งยืนอย่างที่คิด

  • การขุดแร่ลิเธียม 1 ตัน แลกมากับการสูญเสียน้ำ 1.8 ล้านลิตร

  • เมื่อเบื้องหลังแบตเตอรี่ลิเธียม ซ่อน “ราคาที่ต้องจ่าย” ที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็น “น้ำจืด” ที่โลกเรากำลังขาดแคลน

ecoeyes-what-if-clean-energy-comes-at-the-cost-of-our-water-SPACEBAR-Hero.jpg

SPACEBAR ชวนตั้งคำถามเชิงจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะประเด็น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่แม้จะถูกมองว่าเป็น “พลังงานแห่งอนาคต” แต่กลับมีผลกระทบที่ “ไม่สะอาด” เท่าที่หลายคนเข้าใจ โดยเฉพาะในแง่ของการใช้ทรัพยากร “น้ำจืด” อย่างมหาศาลในการขุดแร่ลิเธียม ซึ่งเป็นวัสดุหลักของแบตเตอรี่ EV

ecoeyes-what-if-clean-energy-comes-at-the-cost-of-our-water-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าบนสายการผลิตอัตโนมัติในโรงงานซึ่งเต็มไปด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

แร่ลิเธียม = พลังแห่งอนาคต?

ในวันที่โลกกำลังเร่งสปีดเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาด “รถยนต์ไฟฟ้า” กลายเป็นทางเลือกแห่งอนาคตที่ใครหลายคนอยากมีไว้ในโรงรถ เพราะทั้งเงียบ ไม่ปล่อยมลพิษ ดูดีมีคลาส ช่วยลดโลกร้อน (หรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนจะช่วย...) แต่เบื้องหลังแบตเตอรี่ลิเธียม แร่แห่งอนาคตที่ทำให้รถ EV วิ่งได้อย่างสง่างามบนถนนนั้น กลับซ่อน “ราคาที่ต้องจ่าย” เอาไว้ แถมเป็นราคาไม่ใช่แค่เงิน แต่มันคือ “น้ำจืด” ที่โลกกำลังขาดแคลน รวมถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบกับคนกับสัตว์อีกนับไม่ถ้วน

รู้หรือไม่?…การขุดแร่ลิเธียม 1 ตัน ต้องใช้น้ำจืดราว 500,000 แกลลอน หรือประมาณ 1.8 ล้านลิตร (เทียบเท่าน้ำดื่มขวดเล็กกว่า 3.6 ล้านขวด!) โดยเฉพาะในพื้นที่ Lithium Triangle ซึ่งเป็นแหล่งลิเธียมมากกว่า 56% ของโลก

ทำไมต้องใช้น้ำเยอะขนาดนั้น?

คำตอบที่น่าสนใจอยู่ที่ Lithium Triangle พื้นที่ทะเลเกลือและที่ราบสูงแอนดีสที่ทอดยาวผ่านชิลี โบลิเวีย และอาร์เจนตินา บริเวณนี้คือแหล่งแร่ลิเธียมมากกว่าครึ่งของโลก แต่กลับเป็นเขตแห้งแล้งที่มีฝนตกเพียงปีละ 2–33 มิลลิเมตรต่อปี

“น้ำสำหรับชีวิต” แลกกับ “พลังงานแห่งอนาคต”  คุ้มไหม?

บริษัทเหมืองต้องสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมา แล้วใช้เวลาหลายเดือนเพื่อให้ระเหยจนเหลือแค่แร่ลิเธียมเข้มข้นที่พร้อมสำหรับกระบวนการสกัด ขณะที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งรุนแรง มีฝนตกน้อยมาก การใช้น้ำจำนวนมหาศาลจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศท้องถิ่น ชุมชนพื้นเมือง และสัตว์ป่า เช่น ฟลามิงโก้สีชมพู หนูชินชิล่าหางสั้น และอูฐป่าที่เสี่ยงสูญพันธุ์

ecoeyes-what-if-clean-energy-comes-at-the-cost-of-our-water-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ภาพมุมสูงของแหล่งลิเธียมในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี ภูมิทัศน์ที่เป็นจุดกำเนิดของแบตเตอรี่

มีการศึกษาล่าสุดที่ตีแผ่ว่าข้อมูลที่เคยใช้ในการวางแผนเหมืองลิเธียมทั่วโลกอาจผิดพลาดตั้งแต่ต้น โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ (UMass Amherst) ได้เผยแพร่ผลงานในวารสาร Communications Earth & Environment ระบุว่า แบบจำลองน้ำระดับโลกประเมินปริมาณน้ำจืดใน Lithium Triangle สูงกว่าความเป็นจริงถึง 10 เท่า!!

โดยแบบจำลองเดิมคาดว่าฝนตกปีละ 90–230 มม. แต่ผลการวัดจริงพบว่า “มีเพียง 2–33 มม.ต่อปีเท่านั้น”

“ไม่มีน้ำจืดใหม่เติมเข้าระบบเลย ขณะที่มี 27 จาก 28 ลุ่มน้ำที่ศึกษา ถูกจัดว่าอยู่ในสถานะขาดแคลนน้ำอย่างวิกฤติ แม้ยังไม่เริ่มขุดแร่ด้วยซ้ำ”

ดร.เดวิด บูตต์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าว

เทคโนโลยีใหม่ใช้น้ำมากขึ้นจริงหรือ?

แม้อุตสาหกรรมเหมืองจะเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี Direct Lithium Extraction (DLE) ที่โฆษณาว่าทันสมัยกว่า แต่ทีมวิจัยกลับพบว่า 56% ของ DLE ใช้น้ำมากกว่าวิธีเดิม และเกือบ 1 ใน 3 ใช้น้ำมากกว่าวิธีเดิม ในขณะที่ความต้องการลิเธียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 40 เท่า ในอีก 5-20 ปีข้างหน้า ซึ่งสวนทางกับปริมาณ “น้ำจืด” ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามนั้น 

ถ้ารถไฟฟ้าแพร่หลาย...แต่น้ำอันตรธาน?

ทั้งนี้ ทีมวิจัยไม่ได้แนะนำให้ยกเลิกการขุดลิเธียม แต่เรียกร้องให้มีความร่วมมืออย่างเร่งด่วนระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ผลิต เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับปรุงการตรวจสอบ การเข้าใจรูปแบบการตกของฝน การไหลของน้ำในลำธาร และระดับน้ำใต้ดิน เพื่อสามารถนำไปสู่วิธีการสกัดที่ยั่งยืนมากขึ้น

แม้การใช้รถไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลดฝุ่น ลดเสียง และให้ภาพลักษณ์โลกสวย แต่ถ้าการผลิตมันต้องแลกกับชีวิตของผู้คน ชุมชนพื้นเมือง สัตว์ และระบบนิเวศ เรายังจะเรียกมันว่า “พลังงานสะอาด” ได้อยู่ไหม?

แล้วเราทำอะไรได้?

  • เลือกให้ลึกซึ้งก่อนเปลี่ยนมาใช้ EV อย่ามองแค่ “รถไม่มีควัน” แต่ต้องถามว่าเบื้องหลังของแบตเตอรี่นั้นใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง? ส่งผลต่อใคร?
  • สนับสนุนการ “รีไซเคิลแบตเตอรี่” แทนการขุดใหม่
  • อย่าหลงกับคำว่า “สีเขียว” เพราะสีเขียวไม่ได้แปลว่ายั่งยืนเสมอไป แต่ต้องตรวจสอบว่าการผลิตพลังงานนั้นเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิของคนในพื้นที่หรือไม่
  • ใช้พลังงานอย่างมีสติในทุกมิติของชีวิต ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแหล่งพลังงาน แต่ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และการเดินทาง
  • ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้น้ำน้อย ใช้น้ำเสียแทนในการสกัดแร่ หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ‘AI’ พบวัตถุดิบใหม่ที่ช่วยลดการใช้ลิเธียมในแบตเตอรี่)

EV ที่สะอาดจริงต้องคลีนตั้งแต่ต้นทาง

ขณะที่การขุดแร่ลิเธียมกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น แบรนด์ EV บางค่ายก็เริ่มปรับตัว อาทิ Renault จับมือ Veolia และ Solvay รีไซเคิลลิเธียม-โคบอลต์จากแบตเตอรี่เก่า, BMW i Series ใช้วัสดุแบตเตอรี่ที่มีลิเธียมและนิกเกิลจากการรีไซเคิล หรือ Tesla ที่เริ่มใช้แบตเตอรี่ที่เริ่มทดลองผลิตจากวัสดุรีไซเคิล

สุดท้าย บทความนี้ไม่ได้บอกให้เราไม่ใช้ EV แต่อยากชวนให้เรา “มองลึก” กว่าภาพจำของพลังงานสะอาด เพราะโลกจะสะอาดไม่ได้ ถ้าเราทำลายกันเองระหว่างทาง การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวจะ “ยั่งยืน” ได้จริงก็ต่อเมื่อเราใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ ไม่ใช่แค่ปลายทางบนถนนที่เงียบเชียบและไร้ควัน

...แล้วถ้าวันหนึ่งจำเป็นต้องเลือกระหว่าง “รถไฟฟ้า” กับ “น้ำ” วันนั้นคุณจะเลือกอะไร?

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์