หยุดพักสักนิด อย่าเพิ่งคิดโทษตัวเอง 4 ข้อคิดฮีลใจอย่างไรเมื่อทำงานพลาด

3 ก.พ. 2566 - 02:56

  • ความรู้สึกอยากโทษตัวเองจากการทำงานพลาดเป็นเรื่องปกติ มาดูกันว่าเราควรปรับวิธีคิดเพื่อฮีลใจตัวเองอย่างไรตามแนวคิดของนักปรัชญาชื่อดังเพื่อชีวิตที่ดี

how-to-heal-yourself-when-failed-at-work-SPACEBAR-Main
การทำงานพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอ แม้ว่าบางครั้งความผิดพลาดนั้นจะไม่ใช่ความผิดเราไปทั้งหมด แต่เราก็อาจโดนตำหนิและถูกว่ากล่าวว่าไม่ระมัดระวังตัวได้เช่นกัน 
 
พวกเราคงจำความรู้สึกเขินอาย หรือรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไปอย่างบอกไม่ถูก และในบางครั้งหลายคนอาจเหมารวมความรู้สึกทั้งหมดว่าเป็นความผิดของตนเอง และเกิดการโทษตัวเองอย่างไม่รู้ตัว 
 
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความรู้สึกผิดจากการทำ ‘พลาด’ ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากมองให้ดีมันคือบทเรียนอีกหน้าหนึ่งในสมุดบันทึกชีวิตที่คอยเตือนใจไม่ให้เราทำพลาดซ้ำ และขัดเกลาให้เราเกิดการเรียนรู้เพื่อเป็นคนที่ดีขึ้น พูดไปก็อาจฟังดูง่าย เพราะหลายคนล้วนรู้กันดีว่าการจัดการกับความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรื่อง่าย และไม่เคยง่ายเลยสักนิด 
 
ถ้าเป็นเช่นนี้ ในยามที่ความรู้สึกอยากโทษตัวเองเกิดขึ้นในใจ เราควรทำอย่างไรกันดี? นี่คือ 4 สิ่งที่เราควรเข้าใจเพื่อพัฒนาจิตใจตนเองให้ดีขึ้น โดยหยิบยืมแนวคิดฉบับย่อที่สุดของนักปรัชญาที่เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิตตามหลักจริยศาสตร์ (ethics) 

1. มนุษย์คือความไม่สมบูรณ์แบบ 

คุณเป็นมนุษย์ รวมถึงพ่อแม่คุณ เจ้านายคุณ ลูกน้องของคุณ หากขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ สิ่งที่พึงรำลึกคือการเป็นมนุษย์นั้นล้วนไม่สมบูรณ์แบบ นี่คือสิ่งที่พวกเราเป็นและไม่มีทางปฏิเสธได้ พวกเรามีสิ่งที่ขาดเหลือในชีวิต พวกเรามีสิ่งที่ต้องการจะเติมเต็ม ทรัพย์สิน ความสุข ความรัก ความมั่นคงในชีวิต ความขยัน ความเก่งกาจ บางคนมี บางคนไม่มี แต่ที่แน่ๆ คงไม่มีใครมีสิ่งเหล่านี้อย่างครบถ้วน 
 
มิเชล เดอ มงแตญ (Michel de Montaigne) นักปรัญชาชาวฝรั่งเศสยุคเรเนอซอง เคยกล่าวถึงมนุษย์ว่า มนุษย์นั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบเลยหากเทียบกับสัตว์ในวงศ์ตระกูลอื่น โดยเฉพาะในเรื่องของประสาทสัมผัส มนุษย์อย่างพวกเรานั้นไม่สามารถเทียบเคียงได้เลย สิ่งที่ทำให้พวกเราอยู่เหนือสัตว์อื่นคือความสามารถในการใช้เหตุผล ถึงกระนั้นเหตุผลของมนุษย์ก็สามารถสั่นคลอนได้จากความอิจฉา ริษยา หรืออคติ ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งในบางครั้งบางคราวการตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ก็อาจมีเรื่องของอารมณ์มานำเหตุผลอยู่บ้าง 
 
จากตรงนี้ถ้าพวกเรานึกถึงคำพูดสอนใจที่ว่า ‘จงใช้เหตุผลนำอารมณ์’ ก็ดูเหมือนเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถึงกระนั้นมันยังดูเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะใช้เหตุผลกับทุกๆ เรื่องอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์ต้องอยู่กับการประนีประนอม เราต้องอ้าแขนรับกับธรรมชาติแห่งความเป็นตัวเรา รักษาความสมดุลระหว่างเหตุผลและอารมณ์ แม้ว่าอาจมีวันใดวันหนึ่งที่เราเอียงไปทางอารมณ์มากกว่าบ้าง แต่นั่นแหละคือความสวยงามของการเป็นมนุษย์ พวกเราล้วนไม่สมบูรณ์แบบ และเป็นสิ่งที่พวกเราควรตระหนัก และเข้าใจอยู่เสมอ 

2. หยุดคาดหวัง แต่อย่าทิ้งความหวัง 

ความคาดหวังเป็นสิ่งน่ากลัว ความคาดหวังคือการด่วนสรุปโดยการนำตัวเองไปอยู่กับผลลัพธ์ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ยังไม่ได้เกิดเสียด้วยซ้ำ เป็นอีกเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเราทุกคนล้วนถูกความคาดหวังจากคนรอบข้าง รวมถึงสังคมที่เราอยู่ครอบงำ 
 
เราถูกคาดหวังให้เป็นเด็กดี เราถูกคาดหวังให้เป็นเจ้าคนนายคนจากคำอวยพรของญาติมิตร เราถูกคาดหวังจากระบบการศึกษา เมื่อเราเข้ามาทำงานเราถูกคาดหวังจากระบบองค์กรและเจ้านาย เราไม่สามารถหนีพ้นจากอิทธิพลของสื่อต่างๆ ที่ครอบงำว่าอะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี หรืออะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น 
 
ความคาดหวังเหล่านี้ได้ฝังรากลึกอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่เด็ก ทำให้เรากลายเป็นคนที่กลัวความผิดพลาด เพราะเมื่อใดที่เราทำพลาด สิ่งที่เราคิดถึงเป็นอันดับแรกคือเราได้กลายเป็นคนที่แย่ลงไปแล้ว เราด่วนสรุปจากความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย เช่น การทำงานพลาดทำให้เราด่วนสรุปว่าอนาคตเราจะดับมืดลงทันที ทั้ง ๆ ที่มันคงไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น 
 
สิ่งที่เราควรทำคืออยู่กับห้วงอารมณ์นั้นสักพัก และไตร่ตรองความเป็นไปได้ว่าในอนาคตยังพอมีหนทางอื่นอยู่อีกมาก และนี่คงเป็นเวลาที่ความหวังมาทำหน้าที่แทน เพราะท้ายที่สุดแล้วความหวังเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์ให้อยากมีชีวิตอยู่และก้าวต่อไปได้  

3. ตระหนักกับสิ่งที่ตัวเองทำเสมอ 

มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) นักปรัชญาชาวเยอรมันได้แบ่งประเภทการใช้ชีวิตไว้สองแบบ แบบแรกเรียกว่าการใช้ชีวิตแท้จริง (Authentic) แบบที่สองเป็นการใช้ชีวิตไม่แท้จริง (Inauthentic) 
 
การใช้ชีวิตแบบ Authentic คือการใช้ชีวิตที่เราพยายามสลัดเอาอิทธิพลจากสิ่งรอบข้างออกไปให้หมด ไม่ว่าจะเป็นสื่อ เช่น โซเชียลมีเดีย โทรทัศน์ ฯลฯ หรือจะเป็นสังคมรอบข้างอย่างเพื่อน พ่อแม่ เพราะอิทธิพลเหล่านี้จัดว่าเป็นสิ่งที่หล่อหลอมทำให้เราไม่ใช่ ‘ตัวเรา’ หรือพูดง่ายๆ ว่าเรื่องบางเรื่องเราไม่ได้คิดเอง แต่เราเห็นด้วยกับ ‘คนอื่น’ มากกว่าเสียงภายในใจเรา 
 
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักคือการตัดสินใจเลือกทางเดิน หรือรูปแบบการทำงานที่ตรงกับเสียงหัวใจของเรา เพื่อลด ‘แรงกดดัน’ จากสิ่งรอบข้างให้มากที่สุด เราไม่จำเป็นต้องเสียใจที่เราไม่สามารถเป็นพนักงานดีเด่น ถูกใจหัวหน้า และเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากความต้องการของเราที่เกิดจากการสังเกตผู้อื่น (หรือบางทีอาจเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณเอง) โดยเราลืมตระหนักถึงลักษณะนิสัยของเรา รูปแบบการใช้ชีวิตของเราที่บางทีอาจไม่ได้เหมาะที่จะเป็นแบบนั้น หรือเราอาจจะเหมาะที่จะเป็นแบบนั้นในรูปแบบของเรา เช่น เราเป็นคนมีความรับผิดชอบ ทำงานตรงเวลา มีความระเบียบเรียบร้อย หากนี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ เราควรภูมิใจกับมัน 
 
ในขณะที่การใช้ชีวิตแบบ Inauthentic จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม มันคือการใช้ชีวิตแบบแบกรับทุกแรกกดดันรอบด้าน โดยที่ไม่สนใจขีดจำกัดของตัวเอง สิ่งที่จะเสียไปคือสุขภาพจิตที่ดี และการมีความสุขในชีวิตและการทำงานที่ลดน้อยลง เรามีความต้องการ อยากได้ อยากเป็น เราเพิ่มพูนเป้าหมายให้กับตัวเองจนลืมขีดจำกัดของตัวเอง หรืออย่างที่ไฮเดกเกอร์เรียกไว้ว่าอยู่ในภาวะหลงลืม (forgetfulness) เผลอนึกคิดว่าตนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีดับสูญ (infinite being) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอมตะ ทำได้ทุกอย่าง อยู่เหนือทุกสิ่ง ซึ่งความจริงแล้วจักรวาลไม่ได้ขับเคลื่อนไปแบบนั้น 

4.ให้อภัยตัวเอง 

เราควรให้โอกาสตัวเองได้พักบ้าง เมื่อถึงคราวที่ทุกอย่างมันหนักหน่วงจนทำให้จิตใจดำดิ่งกับความทุกข์ เราควรหันมามองตัวเองมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูตัวเราให้ดีขึ้น เราไม่จำเป็นต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา หรือกดดันตัวเองอย่างสาหัส เมื่อใดที่เราทำงานพลาดพลั้ง เราไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองเป็นคนแรก แต่ให้มองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ มองลึกให้เห็นสาเหตุ ปัจจัยแวดล้อมที่เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อหาทางแก้ไข (ถ้าปัญหานั้นเราสามารถแก้ไขได้) มากกว่าจะจมจ่อมอยู่กับการโทษตัวเองเพียงผู้เดียว 
 
ท้ายที่สุดแล้วความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เติบโตมาพร้อมกับการเรียนรู้ที่ดีกว่าเดิม เหมือนที่มีคนเปรียบเปรยว่า ‘ฉันในตอนนี้ไม่ใช่ฉันคนเดิมในวินาทีก่อนหน้า’ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากคำสอนในพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ว่า ทุกสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีอัตตา หรือตัวตนที่มั่นคงถาวร 
 
ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเรา เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับคนในสังคม องค์กร และเพื่อนร่วมงานได้อย่างมีความสุข แต่เมื่อใดที่เราทำผิดพลาด ลองมองด้วยสายตาที่เห็นเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง หรือเสริมสร้างการเรียนรู้ตัวเองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการทำงานครั้งต่อไป 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์