ดูเหมือนว่าหน้าหนาวปีนี้ฝุ่น PM2.5 จะมาตามนัด! เพราะกราฟสีที่แสดงคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร เริ่มมีสีส้ม-เหลืองสลับให้เห็น ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ 28.9-56.4 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า เกินมาตรฐานอยู่ใน "ระดับสีส้ม" เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 33 พื้นที่

ข้อแนะนำสุขภาพ
คุณภาพอากาศระดับสีเหลือง (ปานกลาง)
- ประชาชนทั่วไป สามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ แต่ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก
- ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง
คุณภาพอากาศระดับสีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)
- ประชาชนทั่วไป แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา
- ประชาชนกลุ่มเสี่ยง แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์

สถิติผู้ป่วยสะสมกลุ่มโรคจากมลพิษทางอากาศ
จากข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) ล่าสุด พบว่าในปี 2567 (1 ม.ค. – 12 ธันวาคม 2567) ทั้งประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศรวม 11,367,572 คน จำแนกตามโรคโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้
- โรคผิวหนังอักเสบ 2,442,761 คน
- โรคตาอักเสบ 1,936,899 คน
- โรคหลอดเลือดสมอง 1,790,917 คน
- หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 1,323,167 คน
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 1,165,379 คน
- โรคหลอดลมอักเสบ 950,399 คน
- โรคปอดอักเสบ 660,349 คน
- ไข้หวัดใหญ่ 636,039 คน
- ผลกระทบระยะยาว 253,078 คน
- โรคหอบหืด 99,622 คน
- โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง 87,240 คน
- โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 21,511 คน
- กลุ่มโรคอื่นๆ 211 คน
ทั้งนี้ ด้วยขนาดฝุ่นที่เล็กของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม จึงง่ายต่อการแพร่กระจายสู่ถุงลมปอด ส่งผลให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการสะสมในเนื้อเยื่อปอด ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง เกิดหลอดลมอักเสบและมีอาการหอบหืด
ในขณะที่ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาในที่โล่ง กระบวนการอุตสาหกรรม การบด การโม่ หรือฝุ่นผงจากการก่อสร้าง หากหายใจนำฝุ่นเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสมในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
...รู้หรือไม่? ในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งที่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด เพราะฝุุ่น PM2.5 สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่นๆ เข้าสู่ปอด เช่น โลหะหนัก อย่างปรอท และแคดเมียม อีกทังยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

การเดินทางของฝุ่น PM2.5 เข้าร่างกายสู่สมอง
เนื่องจากขนาดที่เล็กมากทำให้อนุภาคของฝุ่น PM2.5 สามารถเดินทางเข้าไปสะสมในสมองโดยผ่านทาง 3 ช่องทางหลัก คือ
- จากจมูก ผ่านผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น ซึมผ่านขึ้นไปที่ “สมองส่วนหน้าด้านล่าง”
- จากหลอดลม ผ่านเข้าไปในปอด ซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยัง “สมอง”
- ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจระหว่างการพูดคุย ซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรือไปเปลี่ยนจุลชีพและสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหาร ก่อนจะไหลเวียนไปที่ “สมอง”
ส่อง 3 ใน 7 มาตรการเคาต์ดาวน์ PM2.5 ในเมืองหลวง
1 ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่
หนึ่งในมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) คือการห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ภายใต้พื้นที่บังคับใช้จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน เขตบางรัก และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง
2 เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ
ประชาชนสามารถเข้ารับบริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลนคราภิบาล
3 Work from Home ลดฝุ่น
สำหรับมาตรการ Work from Home เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน เป็นการจัดทำโครงการที่ช่วยทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ที่สัญจรบนถนนลดลง 8% โดย กทม.วางเป้าหมายเพิ่มเครือข่ายมากขึ้น ทั้งบริษัท ห้างร้านต่างๆ จำนวน 200,000 คนในปีนี้
สำหรับปัญหา PM 2.5 นับภัยคุกคามต่อความไม่ยั่งยืนด้านสุขภาพของคนไทย โดยปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ PM2.5 เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ นอกเหนือจากการไม่ออกกำลังกาย หรือการสูบบุหรี่ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ใกล้คลอดนี้จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย และจะช่วยให้เราทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองสุขภาวะดีที่มีรากฐานแนวคิดเรื่องความยั่งยืน