Spacebar VIBE ชวนมองเรื่องความยั่งยืนผ่านงานศิลป์ จากผลงานการรังสรรค์ของบรรดาศิลปินระดับโลกและศิลปินไทย ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) ครั้งที่ 4 ที่จัดขั้นภายใต้แนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)”
รักษา กายา (Nurture Gaia)
เมื่อมนุษย์ทำร้ายพระแม่ ผู้โอบอุ้มสรรพชีวิต
“ไกอา” (Gaia) ชื่อเทพปกรณัมกรีก พระแม่ผู้โอบอุ้มสรรพชีวิต สตรีผู้เกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์และเกษตรกรรม เปรียบดั่งความเชื่อของทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มี “พระแม่ธรณี” #MotherNature #MotherEarth ธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงทุกสิ่งบนโลก และสิ่งมีชีวิตจะอยู่ไม่ได้โดยขาดธรรมชาติ
ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปราชญ์และศิลปิน รวมถึงดาไลลามะ, ติช นัท ฮันห์, เจมส์ เลิฟสต็อก, บรูโน ลาทัวร์, ชยสาโร ภิกขุ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ต่างเคยถกประเด็น “ไกอา” ในบริบทของแผ่นดินในฐานะสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมนุษย์ไม่เคารพไกอา จึงเกิดความเสียหายขึ้นกับป่าฝน ความหลากหลายทางชีวภาพก็ลดลง กลายเป็น “หายนะ” ทั่วโลก

แนวคิด “รักษา กายา” ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหารุมเร้าของโลกเราทุกวันนี้ในทุกมิติ การเห็นความสำคัญของธรรมชาติในช่วงเวลาที่ “สภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ถูกยกระดับเป็น “สภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ผ่านการตีความจากทั้งศิลปินรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ 76 ชีวิต จาก 39 ประเทศทั่วทุกมุมโลก ที่แตกต่างกันทั้งพื้นเพ ความเชื่อ และการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านสื่อผสมของศิลปะร่วมสมัยทุกรูปแบบ ทั้งภาพวาด ประติมากรรม วิดีโอ และอินสตอลเลชั่น (ศิลปะจัดวาง) โดยต่างใส่นัยยะ ซ่อนความหมายอย่างลึกซึ้ง พร้อมชวนให้ผู้คนขบคิดเรื่องความยั่งยืน ทั้งสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ความเท่าเทียม และการเมือง

“ศิลปะเป็นที่พักใจในช่วงเวลาอันท้าทายนี้ เหตุการณ์ต่างๆ เช่น ดินถล่ม น้ำท่วม และความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังส่งสัญญาณถึงเรา งาน BAB จะเผยให้เห็นพลังของศิลปะในการสร้างแรงบันดาลใจ และชี้ทางให้เราผ่านช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนนี้ไปได้“
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ท เบียนนาเล่ กล่าว
10 งานอาร์ทฮีลใจใน BAB 2024 มุมมองศิลปะกับความยั่งยืน

1 Steel Life
Elmgreen & Dragset
BAB BOX ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นกน้อยหายใจรวยรินในมือเด็กขาวบริสุทธิ์ ทำให้เราฉุกคิดเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เพื่อนร่วมโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร้อน มลภาวะทางอากาศ PM2.5 ไมโครพลาสติก ผลกรรมจากฝีมือมนุษย์ยุคบริโภคนิยมและทุนนิยม ผลงานที่สองศิลปินจากเดนมาร์กและนอร์เวย์ อย่าง Elmgreen & Dragset ตั้งใจสื่อถึงการขอให้เราทำอะไรบางอย่าง แต่เราไม่สามารถทำได้

2 Transfigurations
Agi Haines
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
เด็กทารกรุ่นต่อไป ผลผลิตจากพ่อแม่และสิ่งแวดล้อมยุคโลกเดือด Agi Haines อาร์ทติสนักวิจัยและอาจารย์จากลอนดอน อังกฤษ แสดงให้เห็นเรือนร่างของทารกเพื่อจินตนาการว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้กับทารก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทางการแพทย์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราทำอยู่จะสะท้อนออกมาเป็นทารกหรือคนในรุ่นถัดไป ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานของเรารุ่นต่อไป

3 Whitewash for Mother Earth
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม)
BAB BOX ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
Mixed media on canvas ผลงานขนาดใหญ่ที่สุดที่ศิลปินเคยสร้างสรรค์ กับความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี ที่เกิดจากการผสมผสานสีและทรายอันเป็นองค์ประกอบของธรรมชาติ สะท้อนถึงการทำลายล้างพันธุ์พืช ธรรมชาติ และชั้นบรรยากาศโดยฝีมือมนุษย์ พร้อมเตือนว่ามนุษย์คือ “ผู้อกตัญญู” ที่ทำลายพระแม่ธรณีผู้ให้ชีวิต

“ผ้าใบผืนใหญ่เป็นตัวแทนเรือนกายของพระแม่ธรณี งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการลงพื้นดำ จุดกำเนิดของโลกในจักรวาล ก่อนถูกสาดส่องด้วยแสงจากดวงอาทิตย์ สีขาวที่สื่อถึงเมฆฝน แสงแดด น้ำ องค์ประกอบของการกำเนิดชีวิต แต่งแต้มด้วยสีแดงที่อยากสื่อถึงเลือดของแม่ เลือดของสิ่งมีชีวิต สร้างเท็กซ์เจอร์ ริ้วรอย บาดแผล สิ่งที่ทำให้ Gaia เจ็บปวด จบด้วยเลเยอร์สุดท้ายที่เลือกใช้สีขาว แฝงสองนัยยะ คือกลบเกลื่อนปิดบังทุกสิ่งที่สร้างขึ้น และความสะอาด ความเมตตาปราณี เหมือนยาที่ชโลมลงบนผิวกายเพื่อเยียวยารักษาพระแม่ธรณี”
ทั้งนี้ ผลงานของ อ.กัญญา ยังมีจัดแสดงในหอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยแต่ละชิ้นเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ผืนดิน ก้อนหิน กระแสลม น้ำ เกลียวคลื่น

4 One Eyed Rangda
Ari Bayuaji
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
“ราชินีปีศาจรังดา” ที่ชาวบาหลีมีไว้เตือนใจให้นึกถึงโศกนาฏกรรมและภัยธรรมชาติที่คร่าชีวิตผู้คน พร้อมสำนึกตลอดว่าจะต้องทำความดีด้วยการรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรมเพื่อชีวิตที่สงบสุข ในขณะที่ **“บารง”**สิ่งมีชีวิตหัวเป็นสิงโตหรือเสือ คือสัญลักษณ์ของฝ่ายดีที่ช่วยปกป้องดินแดนตามเทวตำนานฮินดูของบาหลี โดย 70% ของผลงานชิ้นนี้ Ari Bayuaji รังสรรค์จากขยะเชือกพลาสติกที่พบตามป่าชายเลนใกล้ที่พักในบาหลี

5 The Impermanence of Protection : Big Bend National Park
George Bolster
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ผลงานที่จิตรกรเลือกใช้สีสันและพื้นผิวบนงานพรมแขวน แสดงภาพภูมิทัศน์ในสหรัฐ ภาพดังที่เป็นฉากหลังของฮอลลีวูด โดยจัดวางในลักษณะพาโนราม่าเหมือนธรรมชาติและเหตุการณ์รายรอบตัว แต่หากมองใกล้ๆ จะเห็นเป็นผืนผ้าเก่าที่ขาดรุ่ย เปรียบเปรยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความทรุดโทรมของธรรมชาติ ที่มีฉากหน้าสวยงาม แต่เบื้องหลังกำลังเสื่อมถอย

6 Sisters (Flame and Foam)
Chiara Camoni
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมที่ทำให้เราเห็นภาพความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของมนุษย์กับโลกธรรมชาติ ผ่านสองพี่น้องที่เชื่อมสายสะดือเส้นยาวกับพระแม่ธรณี หวนให้นึกถึงวัฏจักรของการมีอยู่ การยอมรับทั้งชีวิตและความตาย ความดีงามและความชั่วร้าย

7 Freude! Freude!
Amanda Coogan
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
อาร์ทติสสาวชาวไอร์แลนด์ เลือกนำเสื้อผ้ามือสองมาแขวนเรียงราย ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวของ Fast Fashion แฟชั่นจานด่วนที่มาไวไปไวตามสมัยนิยม เน้นราคาถูก ใส่แล้วทิ้งได้อย่างไม่เสียดาย แต่กลายเป็นขยะล้นโลก และเป็นปัญหาใหญ่ในบางประเทศที่แก้ไขได้ยาก ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก

8 Kannamma, Rananamma, Rani
George K.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์ เจ้าฟ้า)
หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) และแก่นสำคัญที่สรุปได้ด้วยวลีสั้นๆ ว่า “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เห็นได้ในผลงานของนักเขียนและกวีอย่าง George K. ที่สื่อผ่านผลงานชุดอิรวัน ประติมากรรมขนาดเท่าคนจริงที่ลงสีจริงแบบธรรมชาตินิยม แรงบันดาลใจจากเทศกาลของรัฐทมิฬนาฑู ที่คนข้ามเพศเข้าพิธีแต่งงานเชิงสัญลักษณ์และเป็นม่ายในเวลาต่อมา เป็นสามหุ่นที่มีนัยยะซ่อนเร้น เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก มีทั้งความเปราะบางและความแข็งแกร่ง ความดิบและความอบอุ่น

9 Parvati
Ravinder Reddy
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
Parvati เป็นงานศิลปะที่คนกรุงเทพฯ คุ้นตา เพราะเป็นหนึ่งในซีรีส์ของ Ravinder Reddy ศิลปินที่พูดถึงเพศหญิง และ “พลังของเพศแม่” ที่แสดงว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นวัตถุ หรือถูกแบ่งแยกทางเพศ แต่เป็นผู้รับประสบการณ์ในชีวิตที่อ่อนโยน เข้าใจชีวิตและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งแนวคิดสตรีนิยม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธีมรักษา กายา ที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่ ซึ่งช่วยปกปักรักษาชีวิตมนุษย์ และเป็นผู้ให้ ดังจะเห็นได้จากการเรียกเทพเจ้าในธรรมชาติ ซึ่งมักขึ้นต้นด้วย “แม่” ที่คนให้ความเคารพนับถือ เช่น พระแม่โพสพ พระแม่คงคา หรือพระแม่ธรณี ทั้งนี้ ในงานของศิลปินนั้นต้องการเผยแพร่ศิลปะจัดวางหญิงสามัญธรรมดา แต่สื่อความหมายและความเชื่อมโยงกับสังคมเป็นไปในทางผู้รักษาเยียวยาโลก

10 Thumb Centric Cosmology
ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์ เจ้าฟ้า)
ผลงานโดย ศุภวิชญ์ อาร์ทติสรุ่นใหม่ที่เฝ้ารอการมาถึงของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่าง “ดาวหาง” แต่กลับผิดหวังเพราะมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ความสว่างยามราตรีจากแสงไฟประดิษฐ์ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม แลรบกวนวงจรชีวภาพภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต แต่เขากลับเห็นรูปดาวหางชัดๆ จากจอมือถือ ทำให้เขามองระบบดิจิทัลในเชิงจิตนิยม แล้วพบว่าการก้มมองมือถือแต่ไม่ได้มองท้องฟ้าเลย มันทำให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งร่วมกับจักรวาลหายไป จึงอยากฟื้นฟูให้ความเชื่อมต่อนี้มันกลับมาเหมือนในอดีต

นี่เป็นเพียง 10 ผลงานที่เราชื่นชอบแล้วหยิบยกมาเล่าให้ฟังเพียงบางส่วน ยังมีอีกกว่า 200 ผลงานที่รอให้เราไปชมและซึมซับเรื่องราวของความยั่งยืน เรื่องราวของ Nurture Gaia เช่น Golden Girl ผลงานขนาดใหญ่ยักษ์ของ Choi Jeong Hwa ศิลปินชาวเกาหลีใต้ ที่รังสรรค์ผลงานจากวัสดุวัสดุรีไซเคิล โดยเขากล่าวว่า “ขยะคือศิลปะ และศิลปะมาจากหัวใจ”, ผลงานของ วิชชุลดา ศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้
Telle mère tel fils (Fish, Fire, Fallout) สีทันดรสันดาป ของนักรบ มูลมานัส, ผลงานชื่อดุจมารดาดั่งบุตร ที่ยกเครื่องบินสามลำมาพันผูกของ Adel Abdessemed, งานชุด Project Pleiades เทพี 4 องค์ Black Magdalene ของศิลปินชาวฟิลิปปินส์ Agnes Arellano, งานแกะสลัก Story from Plateau ของบุญโปน โพทิสาน ศิลปินชาวลาว ที่เล่าถึงผลกระทบต่อเนื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตกค้างอยู่ในชนบทประเทศลาว รวมถึงผลงานชิ้นสำคัญของผู้ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะโลก Louise Bourgeois อย่าง Nature Study งานแกะสลักเนื้อหินภาพลักษณ์กำกวมด้วยการผสมอวัยวะเพศชายและหญิง คนและสัตว์เข้าด้วยกัน
โดยทั้งหมดนี้จะจัดแสดงบนสถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร / วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร / วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร / วัดบวรนิเวศวิหาร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ / วันแบงค็อก (One Bangkok) / ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 - 25 กุมภาพันธ์ 2568