
17 ปี รปห. 49: จาก ‘เหลืองแดง’ สู่ ‘ปีศาจกาลเวลา’
ทุกท่านย่อมทราบถึงเนื้อในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลทักษิณ และกลุ่มทหาร - ชนชั้นนำ อย่างลึกซึ้งพอสมควร แต่หากพูดในบริบทของปี 2566 การถอดบทเรียนตัวละครทางการเมือง ที่เคลื่อนไหวอยู่วงนอก อย่าง ‘ม็อบ’ ในสงครามสีเสื้อ ‘เหลืองแดง’ เป็นเรื่องที่ยังไม่ล้าสมัย SPACEBAR จึงชวนสังเคราะห์แนวคิดจากผู้ร่วมเหตุการณ์ ช่วยอ่านสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เพื่อตกผลึกสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการตั้งปุจฉา ‘17 ปี รัฐประหาร 2549 สงครามเหลืองแดง จบแล้วหรือยัง ?’ (รับชมสารคดีเชิงข่าว : ถอดบทเรียน 17 ปี 'รัฐประหาร 19 กันยายน 2549' ผ่านมุมมอง 'เหลืองแดง')
'วีระ สมความคิด' เล่าให้ฟังว่า เขาในฐานะ ‘อดีตเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน’ เป็นแกนนำกลุ่มแรกที่ร่วมจัดตั้งพันเครือข่ายพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2546 - 2547 ร่วมกับ พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา, สุวิทย์ วัดหนู และ จรัล ดิษฐาอภิชัย พร้อมตอกย้ำว่าปัจจุบันบริบทมันไม่เหมือนกัน ทุกอย่างผ่านมาแล้วไม่มีใครหยั่งรู้อนาคตได้ ที่สำคัญเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงปี 2549 มันหลอมรวมความคิดให้ต้องทำเช่นนั้น กระนั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าเป็น ‘ผิดพลาด’ ที่ต่อให้ย้อนเวลากลับไปได้ ก็ไม่สามารถแก้ไขได้
“เราสู้ผิดมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่า ตราบใดที่ยังไม่มีประสบการณ์ ตราบใดที่ยังไม่ได้เห็นสัจธรรม มันก็คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ณ ขณะนั้น ณ เวลานั้น พ.ศ. นั้น แต่พอเวลาที่มันผ่านมา ถึงได้เห็นธาตุแท้ ตอนนั้นเราอาจคิดว่าทักษิณ คือผู้มีอำนาจคือปัญหาประเทศ มันก็แค่ระดับหนึ่งปัญหาประเทศ แต่จริงๆ มันเหนือกว่าทักษิณ นั่นมันคือปัญหาประเทศที่แท้จริง” วีระ กล่าวทิ้งท้าย (รับชมบทสัมภาษณ์ได้ที่ : ‘เสื้อเหลือง’ กลับใจ)
ขณะที่ ‘ธิดา ถาวรเศรษฐ’ อดีตประธานกลุ่ม นปช. ได้ให้สัมภาษณ์ช่วงจังหวะที่สถานการณ์การเมืองอยู่ในช่วงสุกงอม เพราะเป็น 1 วันก่อนที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จะเดินทางกลับมาเมืองไทย (สัมภาษณ์วันที่ 21 สิงหาคม 2566) ใจความสำคัญที่สนทนา จึงไม่ใช่แค่เรื่องจุดยืนของ ‘ม็อบเสื้อแดง’ ในวันนี้ แต่พ่วงประเด็นการ ‘กลับบ้าน’ ของคนแดนไกลเข้ามาด้วย
ธิดา เท้าความถึงจุดกำเนิดของคนเสื้อแดงให้ฟังว่า ในช่วงแรกเป็นการรวมตัวของกลุ่มประชาชน ที่มีแนวคิด ต่อต้านการรัฐประหาร (2549) และต่อต้านการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 โดยในช่วงแรก ‘สีแดง’ ยังไม่ใช่สีที่ใช้ในการชุมนุม จนเวลาต่อมามีกลุ่ม อดีต สส. จากพรรคไทยรักไทย (ที่ถูกยุบ) เข้าร่วมเป็นองคาพยพ และเกิดเป็น ‘นปก.’ และ ‘นปช.’ (กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ขึ้นมา ซึ่งคนเสื้อแดงก็ต่อสู้มาตลอดภายใต้หลักอหิงสา มาจนกระทั่งการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในยุคปัจจุบัน
เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับผลสรุปการจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยไปรวมขั้วกับพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม ธิดาตอบกลับมาว่า ส่วนตัวก็รู้สึกโกรธแต่ก็เข้าใจ การเดินเกมของฝ่ายจารีต ที่พยายามบีบให้เพื่อไทยต้องจับมือกับพรรครัฐบาลเก่า ซึ่งอาจสอดคล้องกับ ‘ดีลลับ’ ในการพาทักษิณกลับบ้านด้วย แต่หากเข้าใจบริบทของพรรคและตัวของทักษิณ จะทราบว่าจริงๆ แล้วเพื่อไทยเอง ก็ไม่จำเป็นต้องจับมือกับพรรคก้าวไกล เพราะในเมื่อจุดยืนไม่ได้เหมือนกันขนาดนั้น
“เข้าใจแต่ไม่เห็นด้วย คือเวลาเราเป็นนักต่อสู้ เราต้องศึกษาแก่นแท้แต่ละชนชั้น และอะไรคือผลประโยชน์ของเขา คุณจะไปหวังว่าคุณทักษิณต้องเป็นนักต่อสู้ และต้องทำทุกอย่างให้ถูกใจนักต่อสู้ทั้งหมดมันไม่ได้ ถ้าคุณเน้นหนักไปทางเศรษฐกิจ แปลว่าการเมืองคุณก็ร่วมกับใครก็ได้ แต่คุณไม่ได้เอาเป้าหมายของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้นมันจึงง่ายสำหรับเพื่อไทยที่จะข้ามขั้ว คือเราจะต้องเข้าใจเขา เขาอาจจะมองในลักษณะเศรษฐกิจหรือธุรกิจ มันไม่มีคำว่า มิตรแท้ ศัตรูถาวรหรอก” ธิดา ฐาวรเศรษฐ กล่าวทิ้งท้าย (รับชมบทสัมภาษณ์ได้ที่ : หัวใจคน ‘เสื้อแดง’ ในวันที่ ‘เพื่อไทย’ ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว)
ท้ายที่สุดเพื่อความสมบูรณ์ ข้อมูลทุกอย่างต้องถูกสังเคราะห์ ผ่านความเห็นทางวิชาการ ที่เทียบเคียงบริบทตามหลักการที่น่าเชื่อถือได้ จึงชวน ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มาช่วยสังคายนาให้ฟัง ถึงบริบทของ ‘ม็อบเหลืองแดง’ ที่ปัจจุบันกลับตาลปัตร ต่างจากยุคแรกเริ่ม
โดย สติธร มองว่า หลังการรัฐประหาร ปี 2549 การเมืองเริ่มเข้าสู่ยุคสงครามความคิดระหว่าง ‘เหลือง - แดง’ สมรภูมิการเลือกตั้ง ถูกต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ความขัดแย้ง ‘กลุ่มเชียร์ทักษิณ’ และ ‘กลุ่มไม่เอาทักษิณ’ จนเกิดการอำนวยให้กลุ่มทหารเข้าก่อการยึดอำนาจอีกระลอกในปี 2557 พร้อมอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด จากผลการเลือกตั้งปี 2562 ที่ ‘อนาคตใหม่’ กลายเป็นตัวละครสำคัญ ที่กระโดดเข้ามาในวงจรการเมือง ส่งผลให้เกิดการมองมิติทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ตะวันตกมากขึ้น
โดยเฉพาะการต่อต้านระบบ ‘สืบทอดอำนาจ’ ของรัฐบาลคสช. แปรเปลี่ยนสภาพจาก ‘เหลือง - แดง’ เป็น ‘เอาประยุทธ์ไม่เอาประยุทธ์’ สืบเนื่องมาจนถึงสมรภูมิการเลือกตั้งปี 2566 การเมืองจึงถูกแบ่งผ่านการใช้แนวคิด ‘มีเราไม่มีลุง’ และ ‘มีลุงไม่มีมึง’ จนเกิดกระแสตอบรับจากภาคประชาชน ผลักดัน ‘ก้าวไกล’ สู่การสร้างสถิติเอาชนะคู่แข่งท่วมท้น กลายเป็นพรรคอันดับหนึ่ง มีความละม้ายคล้ายคลึงกับพรรคตระกูลชินวัตรในอดีต ‘ปีศาจตัวใหม่’ จึงเกิดขึ้น สร้างความกลัวเก่าๆ จนผีทักษิณกลายเป็นเรื่องเล็กทันที
“ผีตัวใหม่เกิดขึ้นมานานแล้ว เมื่อก่อนเขาเคยบอกว่า มีผีทักษิณ และปีศาจธนาธร แต่ว่ามรดกที่ธนาธรทิ้งไว้คือพรรคก้าวไกล มันจึงกลายเป็นปัจจัยให้ฝั่งขั้วอำนาจเก่า ต้องชั่งน้ำหนักว่า ระหว่าง 2 สิ่งนี้อะไรน่ากลัวมากกว่ากัน พอผลการเลือกตั้งปี 2566 ออกมา กลายเป็นว่า ผีสีแดงน่ากลัวน้อยกว่าปีศาจสีส้มโดยปริยาย จึงไม่แปลกที่เขาจะลืมผีตัวเก่าและสร้างปีศาจตัวใหม่เข้ามาเพื่อกวาดล้าง” สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวทิ้งท้าย (รับชมบทสัมภาษณ์ได้ที่ : ถึงเวลา 'เหลือง - แดง' คืนดี?)

คน สัตว์ การเมือง : ปลดล็อก ‘นกปรอดหัวโขน’ จาก ‘สัตว์ป่าคุ้มครอง’ ?
การเรียกร้องให้ปลดล็อก ‘นกปรอดหัวโขน’ ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 580 เป็นประเด็นคลาสสิคที่ ‘ชาวบ้าน’ เรียกร้องมาตลอดหลายสิบปี โดยยกมูลเหตุการเพาะเลี้ยง - จัดจำหน่ายอย่างเสรี ขึ้นเป็นเรือธง
ซึ่งที่ผ่านมาข้อเรียกร้องมักถูกพับเก็บลงลิ้นชัก แต่รอบนี้ดูมีความเป็นไปได้สูง ที่สถานะของนกปรอดหัวโขนจะถูกนิยามขึ้นใหม่ ด้วยตัวละครนอกสายตาที่กระโดดเข้ามาร่วมสังฆกรรม อย่าง ‘นักการเมือง’ จนเกิดการทำประชาพิจารณ์ถึง 2 ครั้ง ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และอาคารรัฐสภา กทม. วิวาทะครั้งใหม่จึงเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ผู้แทนราษฎร และ ‘นักอนุรักษ์’ ที่ออกมาคัดค้าน ด้วยข้อกังขาสารพัด โดยเฉพาะความกังวล เรื่องการสูญพันธุ์ของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ
เมื่อความขัดแย้งปกคลุม แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ยังริบหรี่ SPACEBAR จึงขอเป็นตัวกลาง ในการนำเสนอปรากฏการณ์ผ่าน ‘พุฒิธร วรรณกิจ’ นายกสมาคมอนุรักษ์และเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : อ่านแนวคิด ‘ปลดนกกรงหัวจุก’ ผ่านทัศนะ ‘คนเลี้ยงนก’)
‘ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง’ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : อ่านเหตุผล ‘นักอนุรักษ์’ ค้านปลดล็อก ‘นกปรอดหัวโขน’)
เพื่อหาฉากทัศน์ของนกในแต่ละมุมที่กังขา และให้สังคมร่วมกำหนดชะตากรรมของ ‘นกปรอดหัวโขน’ ว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับ ‘นก’ และ ‘คน’ คืออะไร (รับชมสารคดีเชิงข่าว : คน สัตว์ การเมือง : ปลดล็อก ‘นกปรอดหัวโขน’ จาก ‘สัตว์ป่าคุ้มครอง’ ?)

ปิดตำนาน 72 ปี ‘ตำรวจรถไฟ’
การยุติบทบาทของ ‘ตำรวจรถไฟ’ ที่ทำหน้าที่ตรวจตราตามขบวนม้าเหล็กมากว่า 72 ปี กลายเป็นประเด็นที่กองบรรณาธิการ SPACEBAR นำเสนอออกมาอย่างครบเครื่อง ทั้งในมุมความห่วงหาอาวรณ์ของผู้โดยสารและผู้ที่เคยปฏิบัติงานโดยตรง (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : Photo Story: ตำรวจรถไฟคนสุดท้าย แห่งสถานีนพวงศ์) และมุมแง่วิพากษ์วิจารณ์
นอกจากนี้ยังกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยจากประชาชนถึงเรื่องสวัสดิภาพ รวมถึงอดีตบุคลากรในวงการกากี (ที่ข้องเกี่ยวกับการขนส่งทางราง) อย่าง ‘พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร’ เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ ‘พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร’ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่เปิดหน้าตั้งคำถามอย่างกังวล กับองคาพยพ ที่ถอดตำรวจรถไฟออกจากสารบบที่พึงมีไว้ (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : ยุบ ‘ตำรวจรถไฟ’ ปฏิรูปแบบโง่ๆ ?)
พร้อมกับการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาของ ‘ประภัสร์ จงสงวน’ อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ออกมาแสดงความกังวลถึงความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรม หากเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยมีจำนวนไม่เพียงพอ (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : เสี่ยงไปมั้ย? ถ้ารถไฟไม่มี ‘ตำรวจ’)
ทั้งนี้ ทีมข่าว SPACEBAR ได้ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์ ภายหลังจากมีคำสั่งยุติบทบาทตำรวจรถไฟครบ 1 เดือน ผ่านการนั่งรถไฟหลายชั่วโมง จากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ สู่สถานีหัวหิน เพื่อสัมผัสบรรยากาศบนขบวนและร่วมฟังเสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการ หลัง ‘รฟท.’ เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยแทน (รับชมรายงานพิเศษ : ไร้ตำรวจรถไฟเท่ากับ สุญญากาศความปลอดภัย?)