แกะรอย 35 กมธ. ‘ก้าวไกล’ ผู้เสียสละ?

22 ก.ย. 2566 - 05:36

  • กว่าเก้าอี้ประธาน กมธ.ทั้ง 35 คณะจะลงตัว ก็ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ เมื่อต่างคนต่างยื้อแย่งให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่สุดท้าย ‘ก้าวไกล’ ต้องยอมปล่อยมืออีกครั้ง

  • อะไรคือเกมที่บีบให้พวกเขาต้องจำนน? และ ‘ก้าวไกล’ เป็นผู้เสียสละจริงหรือไม่?

35-Chairman-of-the-Commission-not-happy-ending-SPACEBAR-Hero.jpg

จะเรียกว่า ‘จบสวย’ ก็คงไม่ได้ สำหรับการแบ่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญทั้ง 35 คณะที่สุดท้ายก็ลงตัว แต่คง ‘ไม่ลงใจ’ เพราะดูเหมือนว่า ผู้ที่เสียสละเพียงฝ่ายเดียว ก็คือ ‘พรรคก้าวไกล’ อีกตามเคย ตามคอนเซ็ปต์ ‘ถอยแล้ว ถอยอยู่ ถอยต่อ’ แม้ว่าจะต่อรองจนเฮือกสุดท้าย แต่ก็ต้องยกเก้าอี้ประธาน กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ รวมทั้ง กมธ.แรงงาน ให้กับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ หรือแม้ว่าพวกเขาจะได้จำนวนเก้าอี้ประธาน กมธ. 11 คณะตามสัดส่วน สส. แต่ก็ได้แบบครึ่งๆกลางๆ เพราะตำแหน่งประธาน กมธ.กิจการศาลฯ ยังต้องเข้าโครงการ ‘คนละครึ่ง’ กับ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’

เปิดชื่อ กมธ.ที่แต่ละพรรคได้ไปครอง

สำหรับเก้าอี้ประธาน กมธ.สามัญของพรรคฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่สอดคล้องกับกระทรวงที่แต่ละพรรคดูแลรับผิดชอบ อย่างพรรคเพื่อไทย 10 คณะ ได้แก่ 

  • กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ 
  • กมธ.การคมนาคม 
  • กมธ.การท่องเที่ยว 
  • กมธ.การสาธารณสุข 
  • กมธ.การต่างประเทศ 
  • กมธ.การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 
  • กมธ.กิจการสภาผู้แทนฯ 
  • กมธ.การสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
  • กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด 
  • กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน

ที่น่าสนใจคือ กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ป.ป.ช.ที่ฝ่ายค้านจากสภาฯชุดแล้ว สร้างตำนานอันโด่งดังมากมายและสามารถฟัน สส.รัฐบาลอย่าง ‘สิระ เจนจาคะ’ ปลิวหายไปได้ แต่รอบนี้ พรรคจัดตั้งรัฐบาลกลับยื้อแย่งเก้าอี้จากฝ่ายค้านไปได้สำเร็จ ย่อมทำให้เกิดข้อกังขาได้ว่า รัฐบาลจะยึดตำแหน่งที่มีหน้าที่ตรวจสอบไปเพื่ออะไร? ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของ ‘ฝ่ายค้าน’ เช่นนี้แล้วการตรวจสอบจะโปร่งใสได้ดั่งใจหรือไม่?

พรรครัฐบาลลำดับต่อมาที่ได้เก้าอี้ประธาน กมธ. 5 คณะ คือ พรรคภูมิใจไทย ได้แก่

  • กมธ.การศึกษา 
  • กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ 
  • กมธ.การปกครอง 
  • กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย 
  • กมธ.การแรงงาน

‘ความเขี้ยวลากดิน’ ของพวกเขาไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะสามารถยึดเก้าอี้ได้ตามที่ต้องการและสอดคล้องกับเจ้ากระทรวงของพรรคได้ทั้งหมด ด้วยข้ออ้างที่ว่า เพื่อการทำงานที่คู่ขนานและเกิดประสิทธิภาพ แม้ว่า จะยื้อยุดเก้าอี้ ‘กมธ.การกระจายอำนาจฯ’ และ ‘กมธ.แรงงาน’ กับ ‘ก้าวไกล’ จนวินาทีสุดท้าย แต่ความ ‘เก๋าเกมกว่า’ ของ ‘ภูมิใจไทย’ ก็ไม่มีอะไรมาขวางกั้น

ส่วนพรรคพลังประชารัฐได้ 3 คณะ คือ 

  • กมธ.กีฬา 
  • กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ
  • กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม

เมื่อดูจากชื่อ กมธ.แล้ว จะพบว่า ไม่ตรงตามความต้องการเดิมของพลังประชารัฐ แต่หลังจากเจรจากับ ‘ก้าวไกล’ แล้ว ก็จำใจต้องยก ‘กมธ.การที่ดินฯ’ และ ‘กมธ.การเกษตรฯ’ ไปให้ 

ขณะที่พรรคอื่นๆอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติได้ 2 คณะ ได้แก่ 

  • กมธ.กิจการการพลังงาน 
  • กมธ.การอุตสาหกรรม

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คณะ คือ 

  • กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

พรรคประชาชาติ 1 คณะ คือ 

  • กมธ.การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

พรรคประชาธิปัตย์ 2 คณะ คือ 

  • กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา
  • กมธ.การตำรวจ

ถือว่า หลักการทำงานสอดคล้องกับกระทรวงที่พรรคเหล่านี้รับผิดชอบและสามารถเคลียร์กับ ‘ก้าวไกล’ ได้อย่างลงตัว

ขณะที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ได้สมดั่งใจทั้งสิ้น 11 คณะ ได้แก่

  • กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ 
  • กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 
  • กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ 
  • กมธ.สวัสดิการสังคม 
  • กมธ.การทหาร 
  • กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 
  • กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
  • กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ 
  • กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม 
  • กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน 
  • กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค

ถึงจะดูเหมือนว่า ‘ก้าวไกล’ ได้จำนวน กมธ.อย่างสมปรารถนา แต่ ‘กมธ.กิจการศาลฯ’ ก็ต้องแบ่งเป็นประธานกันพรรคละ 2 ปี กับ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ อยู่ดี 

ความจริงของ ‘กลเกมสภาฯ’

วงเจรจาเพื่อแย่งชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.ดุเดือดและยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์กว่าจะลงตัวอย่างที่เห็น เมื่อ ‘ก้าวไกล’ มีเป้าหมายครองเก้าอี้เดียวกับพรรคอื่นถึง 7 กมธ. ซึ่งสุดท้ายก็ได้ไปถึง 4 กมธ. คือ กมธ.ติดตามงบประมาณและกมธ.การทหาร ที่ยึดได้จาก ‘เพื่อไทย’ ส่วน กมธ.การที่ดินฯ และกมธ.การเกษตรฯ ยึดได้จาก ‘พลังประชารัฐ’ 

ทำให้เหลืออีก 3 กมธ.ที่ยื้ดยุดจนนาทีสุดท้าย คือ กมธ.ป.ป.ช. , กมธ.การกระจายอำนาจฯ และ กมธ.แรงงาน กลายเป็นศึกแย่งชิงระหว่าง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ และ ‘ก้าวไกล-ภูมิใจไทย’ ที่เกือบจะส่อแววจะไม่จบ จนต้องผุดเกมบีบ ‘ก้าวไกล’ ว่า หากตกลงกันไม่ได้ จะให้คณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ ไปโหวตเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นดำรงตำแหน่ง ‘ประธาน’ กันเอง โดยไม่ต้องแบ่งว่า กมธ.ใดเป็นของพรรคไหนอีกต่อไป!!

เกมบีบ ‘ก้าวไกล’ ครั้งนี้ อาจทำให้พวกเขาไม่เหลือแม้แต่ที่นั่งเดียว เพราะหากปล่อยให้โหวตประธานกันเองในคณะ กมธ.ทั้งหมด เสียงพวกเขาอาจไม่ชนะ แล้วทุกอย่างจะหลุดลอยไปได้ง่าย สุดท้ายต้องจำใจยอมปล่อยทั้ง 3 เก้าอี้ คือ กมธ.ป.ป.ช. ยกให้ ‘เพื่อไทย’ ส่วน กมธ.การกระจายอำนาจฯ และ กมธ.แรงงาน ยกให้ ‘ภูมิใจไทย’ 

‘ความไม่ยอม’ ของฟากฝั่งรัฐบาลในครั้งนี้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า ‘ก้าวไกล’ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ แต่เพราะ ‘ก้าวไกล’ ได้ กมธ.ที่ตัวเองต้องการไปแล้วถึง 4 คณะจากทั้งหมด 7 คณะ ดังนั้น ที่เหลือควรให้คนอื่นได้ตามต้องการบ้างเช่นกัน ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นของ ‘ก้าวไกล’ เพียงฝ่ายเดียว

เพียงแค่เริ่มต้นรัฐบาลเศรษฐา ก็ดุเดือดขนาดนี้ การทำงานของรัฐบาลคงไม่ง่าย เพราะฝ่ายค้านอย่าง ‘ก้าวไกล’ ย่อมตั้งตารอวันที่พวกเขาจะได้ ‘ตลบหลัง’ เสียที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์