นาทีชีวิต! ปฏิบัติการ ‘ไทยช่วยไทย’ เปิดแผนเผชิญเหตุ ‘บินล้วงลูก’ กลับมาตุภูมิ

26 เม.ย. 2566 - 10:18

  • เปิดปฏิบัติการ ‘ไทยช่วยไทย’ อพยพ 223 คนไทยออกจากซูดาน ข้ามทะเลแดง มาขึ้นเครื่องบิน เปิดแผนเผชิญเหตุสุดท้าย ‘บินล้วงลูก’ เข้าพื้นที่ซูดาน ปรับแผนตามสถานการณ์ ผบ.ทอ. ย้ำภารกิจเสี่ยง-สุดซับซ้อน

C130- Airbus-Sudan-Thai-Air-Force-Contingency-Plan-SPACEBAR-Hero

เปิดภารกิจ ‘ไทยช่วยไทย’ กลับสู่ ‘มาตุภูมิ’ 

ภายหลังจากกองทัพอากาศส่งเครื่องบิน ได้แก่ เครื่องบิน Airbus A340-500 จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องบิน C-130 จำนวน 2 เครื่อง เดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ คิง อับดุลาซิซ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เพื่ออพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบในสาธารณรัฐซูดานกลับประเทศ ภายใต้การประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ทำการอพยพคนไทยจากสาธารณรัฐซูดานโดยทางบกและทางเรือไปยังจุดนัดหมายเพื่อรอเครื่องบินของกองทัพอากาศเดินทางไปรับ 

โดยคนไทยที่อพยพจะต้องขึ้นเรือเฟอร์รี่จากเมืองพอร์ทซูดาน ข้ามทะเลแดง มายังเมืองเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย ใช้ระยะเวลาประมาณ 17-20 ชั่วโมง 

สำหรับเครื่องบิน Airbus A340-500 ออกเดินทางเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลา 23.59 น. บินตรงไปยังท่าอากาศยาน คิง อับดุลาซิซ ใช้เวลาบินประมาณ 9 ชั่วโมง  

ส่วนเครื่องบิน C-130 ออกเดินทางออกเดินทางเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลา 00.10 น. และ 00.25 น. ใช้เวลาบินประมาณ 17 ชั่วโมง (แวะเติมน้ำมันที่ดูไบ) 

ทั้งนี้เบื้องต้นกองทัพอากาศคาดว่าเที่ยวบินขากลับที่จะรับคนไทยกลับประเทศ จะเดินทางกลับถึงกองบิน 6 ดอนเมือง ในวันที่ 27 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 22.00 น. จำนวน 1 เที่ยวบิน (Airbus A340-500) และวันที่ 28 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 09.00 น. จำนวน 2 เที่ยวบิน (C-130)  

แผนคัดกรอง แยกบุคคลขึ้นเครื่อง

ซึ่งเบื้องต้นได้รับแจ้งจำนวนผู้เดินทางกลับมาพร้อม 3 เที่ยวบินนี้ จำนวน 223 คน โดยกองทัพอากาศจะมีการคัดกรองบุคคล โดยบุคคลที่มีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงจะให้ขึ้นเครื่อง Airbus A340-500 ส่วนผู้ที่มีร่างกายพร้อมและแข็งแรง จะขึ้นเครื่อง C-130 กลับมา เพราะใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าเครื่อง Airbus 

กองทัพอากาศได้จัดชุดแพทย์ จากกรมแพทย์ทหารอากาศและสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อตรวจสุขภาพขั้นต้นและเฝ้าระวังสุขภาพระหว่างการเดินทางให้แก่ผู้อพยพและกำลังพลที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งจัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ร่วมรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติภารกิจด้วย 

ปฏิบัติการสุดเสี่ยง-ซับซ้อน เปิดแผนเผชิญเหตุ 

พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยว่า การปฏิบัติภารกิจครั้งนี้มีความซับซ้อนและต้องระมัดระวังมาก ซึ่งในครั้งนี้ต้องมีการใช้ทรัพยากรมากกว่าเดิม เราใช้เครื่องบิน 3 เครื่อง กำลังพลประมาณ 90 คน และต้องมีกระบวนการคัดกรองหลายขั้นตอน อีกทั้งยังมีความซับซ้อนในการเดินทาง เช่น เครื่อง C-130 ต้องจอดเติมน้ำมัน ทั้งขาไปและขากลับที่ดูไบ 

เปิดแผนปฏิบัติการสุดท้าย ‘บินล้วงลูก’

นอกจากนี้ ผบ.ทอ. กล่าวว่า ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะต้องใช้ ‘แผนบริหารความเสี่ยง’ หากจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหน้างาน เพราะเราไม่สามารถยืนยันได้ว่าคนไทยกลุ่มสุดท้าย สามารถขึ้นเรือจากเมืองพอร์ทซูดาน เพื่อเดินทางมาฝั่งเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียได้หรือไม่  

ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีเครื่อง C-130 ไปด้วย เพื่อ ‘ปฏิบัติพิเศษการ’ ที่เรียกว่า ‘บินล้วงลูก’ เข้าไปในประเทศซูดานประมาณ 2 เที่ยว แต่ต้องมีความปลอดภัยเพียงพอ เพื่อนำคนไทยออกมา ในกรณีที่คนไทย 133 คน ไม่สามารถขึ้นเรือข้ามทะเลเดินทางมาประเทศซาอุดิอาระเบียได้ เพราะตอนนี้ที่เมืองพอร์ทซูดาน มีความคับคั่งมาก มีคนแย่งกันขึ้นเรือ ซึ่งอาจต้องนำเครื่อง C-130 บินไปที่ประเทศซูดานเลย แต่เกิดสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ไม่สามารถบินเข้าไปได้ 

ทำไม ทอ.ไทย ปฏิบัติการช้ากว่าประเทศอื่น? 

ผบ.ทอ. ชี้แจงว่า ประเทศไทยเพิ่งมีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตใหม่ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้เรามีสถานเอกอัครราชทูตที่เป็นคยไทยในการประสานงาน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีเพียงกงสุลกิตติมศักดิ์อยู่ที่ประเทศซูดาน และเป็นคนต่างประเทศ ทำให้การประสานงานงานค่อนข้างลำบาก 

ตามจริงกองทัพอากาศอยากเคลื่อนย้ายกำลังตั้งแต่วันจันทร์ (24 เม.ย.) แต่ต้อง Diplomatic Clearance ที่ก่อนหน้านี้ยังขอไม่ได้ เพราะเราต้องขอนำเครื่องบินทหารบินผ่านน่านฟ้าหลายประเทศ ทราบดีว่ามีการถามว่าทำไมกองทัพอากาศไม่ไปสักที ซึ่งหลายประเทศที่เขาเดินทางไปได้ เพราะเขามีสถานทูตอยู่ สามารถขอตรงได้เลย แต่ของเราไม่มีสถานทูต จึงเป็นข้อจำกัด  

“เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทย ข้ามฟากมาให้ได้ทั้งหมด แต่กรณีที่จะต้องเอาเครื่อง C-130 บินเข้าไปรับคนในซูดาน ก็ต้องมีการประสานงานกันก่อนกับทางซูดาน เพียงแต่สถานการณ์ขณะนี้จะประสานใคร แล้วใครจะเป็นผู้อนุมัติ แต่ทั้งนี้เราเล็งสนามบิน ในเมืองพอร์ทซูดาน ซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งพอสมควร แต่ย้ำว่าจะต้องมีความปลอดภัย หากยังไม่ปลอดภัยเราก็ไม่สามารถส่งเครื่อง C-130 เข้าไปได้ ซึ่งบนเครื่องบินจะมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษคุ้มกันอยู่แล้ว”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์