ชำแหละเบื้องลึก MOU ‘พิธา’ มีอะไรซ่อนอยู่

23 พ.ค. 2566 - 10:48

  • อ่านปรากฏการณ์ชิง ‘ปรองดอง’ (ว่าที่) พรรคร่วมฯ ผ่าน MOU ที่ไร้นโยบายชูธง ‘แก้ไข ม. 112’

Coalition-Government-Party-MOU- Pitha-Limcharoenrat-SPACEBAR-Thumbnail
ผ่านพ้นไปสำหรับขั้นตอนสำคัญ อย่าง การลงนาม MOU ของ (ว่าที่) พรรคร่วมรัฐบาล ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 หากเปิดปฏิทินย้อนหลังดู จะพบว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ตั้งใจเลือกเวลาทำกิจกรรมได้เหมาะเจาะ เพราะวัน ว. เวลา น. นี้ตรงกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การทำรัฐประหาร ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ โดย ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ดังนั้นทุกอย่างจึงถูกตั้งใจวาง เป็นการตอกย้ำชัยชนะจากการเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยม หลังถูกระบบ 3 ป. เข้ากุมบังเหียนมาตลอดนานกว่า 8 ปี  

การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคคนรุ่นใหม่ เริ่มการนำเสนอการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่เป็นวิธีการ ‘นำเข้า’ จากต่างประเทศ ที่รัฐบาลจะต้องตกลงว่าทำอะไรร่วมกัน ภายใต้กรอบกว้างๆ และ เป็นการกระทำเชิงสัญญะ ใช้ MOU เป็นสักขีพยาน ‘จะไม่ทิ้งกัน (นะ)’ 

ก่อนหน้านี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้อยู่หลายมิติ โดยเฉพาะประเด็น ‘ความลำบากใจ’ ที่ก้าวไกลอาจต้องเผชิญ อย่างกรณีการแก้ไขมาตรา 112 นโยบายชูธงของพรรค ที่ดูแล้วเพื่อนๆ ในก๊วนจะไม่สนับสนุนเท่าไร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7e1AhJJ1Xuqh0BNq2SxPpK/6d14b4554557c35c8b7438b4e957a73d/Article-SPACEBAR-Photo01
Photo: (ว่าที่) พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ร่วมลงนาม MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 66
ส่องรายระเอียดบันทึกความเข้าใจฯ จะเห็นว่ามีหลายอย่างน่าสนใจ บางคนตั้งข้อสังเกตไปถึง ‘ถ้อยคำ’ ที่ใช้อย่างละมุมละม่อม ไม่ดุดัน เฉียบขาด แต่เป็นปลายเปิดส่วนใหญ่  

นอกจากนี้ยังมีจุดสังเกตที่น่าอย่าง ‘แนวทางปฏิบัติ’ 2 ข้อสุดท้ายที่ระบุว่า ‘ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง’ และ ‘ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง’  

อธิบายง่ายๆ คือ รัฐบาลผสมสามารถผลักดันนโยบายของพรรคตัวเองได้ แบบ ‘วาระเฉพาะ’ หรือนโยบายที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ใน MOU โดยสามารถขับเคลื่อนได้ผ่าน 2 กลไก คือผ่านระบบรัฐสภาด้วย ‘ส.ส.’ หรือใช้อำนาจบริหารผ่านกระทรวงที่มีบุคคลในพรรคเป็น ‘รัฐมนตรี’ ซึ่งทั้งหมดจะต้องไม่ขัดต่อข้อตกลงใน MOU ด้วย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6yx93LtuJB26rJkXYZHnd3/f7fbb8c2a635a36c0010655cf4fb8f0a/Article-SPACEBAR-Photo05
อย่างประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ถูกบรรจุลงใน MOU โดย ‘พิธา’ ได้กล่าวถึงสาเหตุนี้ว่า พรรคก้าวไกลจะยื่นแก้ไข ม.112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรค ดังเช่นที่เคยยื่นสภาฯ ไปเมื่อปี 2564 และเชื่อมั่นว่ารอบนี้จะทำสำเร็จ  

ทั้งนี้ เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นที่ถกเถียงกันมาพอสมควรแล้ว ทั้งจากพรรคร่วมที่ไม่เห็นด้วย และเป็น ‘ปราการหิน’ ที่ ‘วุฒิสมาชิก’ ส่วนมากจะไม่ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ดังนั้นอาจมองแยกออกเป็น 2 กรณี ว่าการที่พรรคส้ม พยายามไม่บรรจุลงข้อตกลงก็เนื่องด้วย หนึ่งเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของพรรคร่วมทั้ง 8 และ สองอาจเป็นพยายามลดอุณหภูมิความเกลียดชังระหว่างพวกเขากับ ส.ว. แม้จะไม่ล้มเลิกแผนปฏิบัติโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่นำมาเป็นนโยบายร่วมของรัฐบาล  

อย่างไรก็ดี มีข้องท้วงติงจาก ‘คนบ้านเดียวกัน’ อย่าง ‘ปิยะบุตร แสงกนกกุล’ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีใจความสำคัญว่า ผมได้อ่าน MOU การร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลแล้ว ผมไม่เห็นด้วยในสองประเด็น ซึ่งแตกต่างไปจากเนื้อหาที่ปรากฏในร่าง MOU สุดท้ายที่หลุดออกมาทางสื่อ  

ประเด็นแรก การเพิ่มข้อความที่ว่า “ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์” เหตุผล ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้วว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรูปแบบของรัฐได้  

การบัญญัติข้อความนี้ซ้ำลงไป ไม่ส่งผลใดๆ ในทางกฎหมายและในทางการเมือง เพราะอย่างไรเสีย รัฐบาลใดที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและระบอบการปกครองได้อยู่แล้ว พวกที่ทำแบบนี้ได้ คือ พวกก่อการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น ตรงกันข้ามการเขียนลงไปแบบนี้ คือ การแสดงออกแบบ ‘กินปูนร้อนท้อง’ หรือ ‘วัวสันหลังหวะ’ เสียมากกว่า  

นอกจากนั้น การเพิ่มถ้อยคำที่ว่า ‘สถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์’ ก็อาจเป็น ‘บ่วงรัดคอ’ ที่ทำให้พรรคก้าวไกลต้องประสบปัญหาในการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในอนาคตด้วย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4xxKBHgME41vCLOCB7sh4w/f0c5925f529e52c8fc1199fae6ac4560/Article-SPACEBAR-Photo02
Photo: ปิยะบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า
ประเด็นที่สอง การตัดเรื่องการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง ผ่านกลไกรัฐสภา ออกไป เหตุผล พรรคก้าวไกลมีพันธกิจสำคัญที่รับมาจากความคาดหวังของประชาชน เยาวชน จำนวนมาก ในการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่พัวพันกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 49 ผ่านเหตุการณ์ปี 53 ผ่านรัฐประหาร 57 และการชุมนุมของ ‘ราษฎร’ ในปี 63-65 การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ ต้องใช้กลไกการนิรโทษกรรม ให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองเสียก่อน  

สำหรับประเด็นเรื่อง วาระเฉพาะนั้น ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นว่า MOU ฉบับนี้ถูกออกแบบมาจากการทำข้อตกลงร่วมกัน ดังนั้นจึงมีลักษณะหลอมรวม สร้างความประณีประนอมระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคร่วม แต่สาระหลักยังอยู่ที่พรรคก้าวไกล ซึ่งหลายอย่างสอดคล้องแนวคิดของพรรคเพื่อไทย จึงมองได้ว่า 2 พรรคดังกล่าวจึงเป็นหลักในการวาง MOU เพราะมีเสียงข้างมาก  

สามารถแยกวาระที่ทุกพรรคให้เห็นด้วยตรงกันทั้งหมด 2 วาระ (สำคัญ) ได้แก่ ‘ตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ และ ‘ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร’ ซึ่งแนวทางข้างต้นนี้เป็นเรื่องที่ทุกพรรคในขั้วเสรีนิยมเห็นพ้องต้องกันทั้งสิ้น ในส่วนที่ออกมาเพื่อความประณีประนอม ได้แก่ วาระที่ 2 ประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ และ ‘สุราก้าวหน้า’ ที่ทุกฝ่ายตกตะกอนจากการพูดคุยกัน จนได้ ‘ภาษาสื่อสารที่ดูดี’ อย่างการพ่วงท้ายในวาระว่า ‘จะไม่บังคับ ประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ’ ซึ่งพรรคประชาชาติ ที่แกนนำและฐานเสียงเป็นชาวมุสลิม ก็สามารถรับได้  

ในส่วนบทเกริ่นนำประเด็นที่สังคมจับตานั้น อาจารย์พิชายมอง ว่านี่คือสิ่งตอกย้ำความปรองดองที่เห็นได้ชัดเจน เพราะเป็นยืนยันต่อบุคคลที่หวาดระแวงพรรคก้าวไกลเรื่องสถาบันเบื้องสูงให้เบาใจลงบ้าง แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก ‘ปิยะบุตร’ หรือแฟนคลับก็ตาม 

“อย่าลืมวาพรรคก้าวไกลเขาเสนอตั้ง 300 นโยบาย หลายคนอาจไม่ได้เลือกเพราะนโยบายแก้ไข ม.112 แต่อาจมาจากนโยบายอื่นๆ เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร กระจายอำนาจท้องถิ่น หรือแก้ไขรัฐธรมนูญ ดังนั้นต้องทำความเข้าใจ ในเมื่อตอนนี้เป็นรัฐบาลผสมไม่ใช่รัฐบาลพรรคเดียว ต้องประณีประนอมกัน เพราะมีเงื่อนไขเสียงพรรคอื่นอยู่” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3jAzOQfDdylIH98YKCWizN/5240c00cd9407dfb03094f948cb05dba/Article-SPACEBAR-Photo03
Photo: ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’
รศ.ดร.พิชาย ยังมองว่า MOU ฉบับนี้จะทำให้อุณหภูมิระหว่างพรรคร่วมฯ และ สมาชิกวุฒิสภาลดลงด้วย เพราะถ้ารัฐบาลมีพันธะสัญญาไว้ว่าจะไม่ผลักดันเรื่องการแก้ไข ม. 112 เป็นวาระหลักของรัฐบาล อาจทำให้ ส.ว. หลายท่านเชื่อว่า จะเป็นแนวทางการขับเคลื่อนผ่านกลไกสภาฯ ซึ่งหากมองตามข้อเท็จจริงแทบไม่มีทางสำเร็จ 

“เรื่องการแก้ไขแทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยใน 4 ปีต่อจากนี้ เพราะเสียงของก้าวไกลมีเพียง 152 เสียง ฉะนั้นพอมีการเสนอเข้าสภาฯ ก็จะถูกปัดตกโดย ส.ส. ส่วนใหญ่ ฉะนั้น ส.ว.จำนวนมากจะสบายใจขึ้น ยิ่งไม่เป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว เป็นแค่วาระเฉพาะที่ต้องขับเคลื่อนผ่านพรรคด้วยกลไกนิติบัญญัติมันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย” พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าว

เมื่อถามว่า การกำหนดให้แต่ละพรรคสามารถทำนโยบายเป็นวาระเฉพาะ จะเกิดปรากฏการณ์ต่างคนต่างทำหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า MOU ฉบับนี้มีข้อดีอีกจุดหนึ่ง คือสิ่งที่แสดงถึงความรับผิดชอบร่วมกัน อย่างเต็มที่ภายใต้ วาระทั้ง 23 ข้อ  

ในส่วนวาระเฉพาะการก็อาจต้องยกเครดิตการบริหารให้กับกระทรวง หรือพรรคที่ดูแลอยู่ ทำให้เป็นแรงจูงใจในการทำประโยชน์ให้ประชาชน และลดปัญหาการเคลมนโยบายแบบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลที่แล้ว อย่างกรณีพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5GIUnOo76t8IFRRgVMu2QG/c9acd8a26a356c2b7fe6f765369232ec/Article-SPACEBAR-Photo04

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์