กลายเป็นมหากาพย์ขนาดย่อมๆไปแล้ว กับศึกการแบ่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เดิมที ‘ก้าวไกล’ คว้าเก้าอี้ไปได้ถึง 11 คณะ จากจำนวน สส.ที่ได้เพิ่มจากระยองมาอีกหนึ่ง แต่เมื่อ ‘ก้าวไกล’ จำใจต้องขับ ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกไป เพื่อรักษาตำแหน่ง ‘รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง’ ทำให้จำนวน สส.ลดหายไป จนกระทบต่อเก้าอี้ประธาน กมธ.ที่ต้องลดเหลือ 10 คณะตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น
แต่เรื่องราวไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ แม้จบศึกแบ่งสัดส่วนตัวเลขจบลง ก็ต้องฟื้นคืนชีพเพื่อมาสู้ศึกแย่ง กมธ.กันต่อ ในระหว่างนั้นเกิดการยื้อแย่งแลกเปลี่ยนกันมากมาย ฝั่งพรรครัฐบาลก็ไม่ยอมปล่อยมือจากตำแหน่งประธาน กมธ.ที่ทำงานสอดคล้องกับเจ้ากระทรวงของแต่ละพรรค ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ไม่ยอมแพ้ แย่งชิงแบบสุดชีวิตจนได้ประธาน กมธ.ที่ต้องการมาหลายคณะ
เหตุใดสัดส่วน กมธ.ของก้าวไกล จึงเหลือเพียง 8 คณะ?
เมื่อศึกยื้อแย่งจบ แต่สัดส่วน ‘ก้าวไกล’ กลับหดหายไปจาก 10 คณะ เหลือเพียง 8 คณะ ประกอบด้วย
1. กมธ.เกษตรและสหกรณ์ มีศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
2. กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ มีรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
3. กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ มีณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
4. กมธ.การทหาร มีวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
5. กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
6. กมธ.พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
7. กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ มีสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน
8. กมธ.สวัสดิการสังคม แม้ว่า ขณะนี้ยังเลือกไม่ได้เนื่องจาก กมธ.มาไม่ครบ 15 คน แต่ก็เป็นโควต้าของ ‘ก้าวไกล’ ซึ่งคาดว่า จะเป็น ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล มานั่งประธาน
ส่วน ‘กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน’ เป็นข้อตกลงของ ’ก้าวไกล-รวมไทยสร้างชาติ’ ที่ทั้ง 2 พรรคจะได้ครองเก้าอี้สลับกัน โดยเริ่มต้นให้ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ได้ไปครองก่อน
แต่สุดท้ายกลับมีบางฝ่าย ‘ไม่พอใจ’
เรื่องนี้ถึงหู ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ถึงกับต้องเดือดอีกรอบ แม้จะเคยประกาศยุติการวิจารณ์แล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียว่า หมกปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ‘ไม่ใช่พรรคก้าวไกลในฝันแน่ๆ’
แต่ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กลับไม่กังวลว่า ปัญหาความขัดแย้งในพรรคจะบานปลาย เพราะมีกลไกปรับและรับฟังความเห็นต่างอยู่แล้ว ซึ่งทีมเจรจาของพรรค ได้ตัดสินใจดีที่สุดแล้วบนสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้
สัดส่วนประธาน กมธ.หดเหลือ 8 คณะได้อย่างไร?
จบสวยจริงอย่างที่ ‘ชัยธวัช’ กล่าวไว้หรือไม่?
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เก้าอี้ประธาน กมธ.หายไป 2 คณะ ประการแรกคือ ข้อตกลงระหว่าง ‘ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย’ พรรคร่วมฝ่ายค้านที่รักกันดี ถึงขั้นยอมยกเก้าอี้ประธานให้กับ ‘ไทยสร้างไทย’ แม้พวกเขาจะมี สส.เพียง 6 คน ซึ่งถือว่า ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้ครองเก้าอี้ ทำให้จากเดิม ที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต้องนั่งประธาน กมธ.การวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม แต่ก็ยอมยกให้ ‘ไทยสร้างไทย’ ไป 1 เก้าอี้
ส่วนอีกเก้าอี้ที่หายไป เกิดมาจากข้อตกลงระหว่าง ‘ก้าวไกล-พลังประชารัฐ’ แรกเริ่มเดิมที ‘ก้าวไกล’ ตั้งเป้าขอนั่ง ‘กมธ.ที่ดิน-กมธ.เกษตร’ จาก ‘พลังประชารัฐ’ เพราะเห็นว่า เป็นประโยชน์ในการทำงานกับประชาชนอย่างยิ่ง โดยมีเงื่อนไขยอมยกโควตา 1 เก้าอี้ กมธ.ให้ไปแบบฟรีๆ ทำให้ ‘พลังประชารัฐ’ ได้เพิ่มมาอีก 1 ประธาน กมธ. นั่นก็คือ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง
เมื่อพิจารณาจากการเจรจาที่ตกผลึกแล้ว หากใช้คำว่า ‘เสียสละ’ ก็อาจไม่ตรงกับสถานการณ์มากนัก เพราะ ‘ก้าวไกล’ ก็ได้ กมธ.ที่ตัวเองต้องการ ส่วน ‘พลังประชารัฐ’ ก็ได้เพิ่มโควต้ามาอีกหนึ่ง ดังนั้น เรื่องนี้ จะถือว่า ‘Happy Ending’ ได้หรือไม่