ศึกชิงดำระหว่าง ‘เพื่อนบ้าน’ เพื่อไทย VS ก้าวไกล ‘แลนด์สไลด์’ หรือ ‘แบ่งแต้ม’

28 เม.ย. 2566 - 02:03

  • อ่านปรากฏการณ์ ศึกชิงดำระหว่าง ‘เพื่อนบ้าน’ ขั้วประชาธิปไตย เพื่อไทย VS ก้าวไกล สู่แนวทางการเปิดเกม ‘เลือกตั้งเชิงยุทธ์ศาสตร์’ สู่แผนแลนด์สไลด์ และกลยุทธ์บนโลกโซเชียลมีเดียที่ประสบความสำเร็จ ก่อเกิด ‘พิธาเอฟเฟกต์’

Election-Contest-between-Move-forward-party-and-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Thumbnail
หัวโค้งสุดท้ายของเทศกาลหาเสียง บรรดาพรรคการเมืองต่างบรรเลงปี่กลองไม่ยั้งมือ หวังกอบโกยคะแนนนิยมเข้ากระเป๋าให้ได้มากเท่าที่จะหาได้ ก่อนเดตไลน์จะสิ้นสุดลง เข้าสู่วันเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในอีกไม่เกิน 20 วันต่อจากนี้ หากจับทิศทางลมจากกระแสโพลสำนักต่างๆ ต้องยอมรับข้อมูลทางสถิติชี้เป้าไปในทิศทางเดียวกัน ว่าเป็นช่วงขาขึ้นสำหรับกระแสความนิยมของ ‘พรรคฝั่งประชาธิปไตย’ โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่อย่าง ‘เพื่อไทย’ และ ‘ก้าวไกล’ ที่ดีวันดีคืน แซงหน้า ‘ขั้วอำนาจ 3 ป.’ และ ‘พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยม’ อื่นๆ  

‘อาวุธ’ ที่ใช้หาเสียงไม่พ้นประเด็นการต่อต้านกระแสสืบทอดอำนาจของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่วันนี้สวมหัวโขนนักการเมืองเต็มตัว ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ และการใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ เป็นแบรนเนอร์ติดหน้าผากหาเสียง

ศึกกับขั้วตรงข้ามกับ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ เรียกได้ว่าแทบไม่มีผลกับคะแนนของเพื่อไทย เพราะชัดเจนอยู่แล้วจากการประกาศยุทธศาสตร์ ‘แลนด์สไลด์’ แต่สำหรับศึกระหว่างขั้วเดียวกันร้อนปรอทแตก โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บนโลกโซเชียลฯ เกิดวิวาทะอย่างโจ่งครื่ม 

อย่างกรณี ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ว่า “ประชาชนต้องการพรรรคการเมือง...ที่มี วุฒิภาวะ มีความสามารถที่จะทำงานกับผู้อื่นๆ ได้ มีความสามารถที่จะทำงานเป็น ทำได้จริงมีประสบการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาและชีวิตประชาชนได้ใน วันนี้มิใช่ความสามารถที่ไกลเกินเอื้อม ไม่ใช่ฝันถึงดวงดาว แต่ไปได้ไกลแค่ต้นมะพร้าว” พร้อมกันนี้ยังระบุ ว่าพรรคเพื่อไทยทำมาก่อนทุกเรื่อง ตั้งแต่นโยบายสุราพื้นบ้าน สมรสเท่าเทียม การกระจายอำนาจ และการแก้ไขโครงสร้างทางการเมือง ให้รัฐราชการเป็นของประชาชน  

นี่แสดงให้เห็นถึงความกังวลช่วงโค้งสุดท้ายของพรรคเพื่อไทย ว่าคะแนนที่ถ่ายเทไปอยู่ ‘บ้านเพื่อน’ อาจดับฝันแลนด์สไลด์ได้ ปรากฎการณ์ความหวั่นไหวเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังการประชุมติวเข้มผู้สมัคร ส.ส. เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Rjg9NGujnYyOjoCfyZmvE/9d0e2b2986d56d7fa9a2af8df8cc50e3/Election-Contest-between-Move-forward-party-and-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Photo01
Photo: แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1
‘แพทองธาร ชินวัตร’ ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 ได้กล่าวกับผู้สมัครจำนวนกว่า 200 คน ว่า “โพลของพรรคเพื่อไทยดีมาก ก็ทำให้ทุกคนมีกำลังใจ แต่ก็ไม่อยากให้ประมาท เพราะอีกกว่า 20 วัน อะไรก็เกิดขึ้นได้ จึงขอให้ทุกคนเร่งลงพื้นที่นำเสนอนโยบายกับพี่น้องประชาชน ไม่ต้องกังวลพรรคคู่แข่ง เนื่องจากเขาไม่มีศักยภาพเหมือนเรา จึงเล่นแต่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้โพลบางสำนักขยับขึ้น ดังนั้นในช่วงใกล้โค้งสุดท้าย ผู้สมัครทุกคนก็ต้องเน้นใช้โซเชียลฯ” 

ตีความจากถ้อยคำของ ‘พี่อ้วน’ และ ‘อุ๊งอิ๊ง’ กรณี ‘พรรคคู่แข่ง’ คอการเมืองเดาตรงกันว่าเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ถูกพาดพิง เพราะเป็นหัวกระทิด้านการใช้โซเชียลมีเดียกว่าใครเพื่อน ตอกย้ำความกังวลีถึงกระแส ‘พิธาเอฟเฟกต์’ ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ฉุดรั้งยังไงก็ไม่อยู่

อย่างไรก็ดี ‘ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นเรื่องนี้กับ SPACEBAR ว่า เมื่อก่อนพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ครองพื้นที่ และกระแสผลสำรวจที่นำโด่งมาตลอด แต่ทางกลับกันอาจหลงลืมไปว่า จุดเด่นของพรรคก้าวไกลคือการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และการมีทีมโซเชียลมีเดียที่เข้มแข็ง เจาะฐานเสียงคนรุ่นใหม่ และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ทุกกลุ่ม ทำให้การเก็บข้อมูลบนออนไลน์ ในประเด็นพรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองในใจ ส่วนใหญ่จะไปอยู่กับแฟนคลับของก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางกระแสได้  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2sQNwwhPWWgpYKni7kY6e2/878042c54ad2acf35b98174a88c760d7/Election-Contest-between-Move-forward-party-and-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Photo02
Photo: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“ในเมื่อกระแสก้าวไกลมา เพื่อความไม่ประมาทก็ต้องกวดขัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเพื่อไทยยังเป็นรองบนโลกออนไลน์อยู่ เพราะผู้สมัครของพรรคก้าวไกลทุกคนมีทีมแอดมินที่เข้มแข็ง มีแพลตฟอร์มหลายประเภท ดังนั้นการแสดงแอ็กชันของแกนนำเพื่อไทย ที่พยายามสื่อสารบนโซเชียลฯ เสนอข้อมูลเคลมนโยบาย พร้อมส่งเสริมการกาบัตรเชิงยุทธ์ศาสตร์เลือกเพื่อไทยทั้ง 2 ใบ เป็นความหวั่นไหวที่แปรปรวนอยู่ขณะนี้” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าว 

เมื่อถามถึงการใช้วิธี ‘เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์’ เข้ามาช่วยจะส่งผลในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ อาจารย์วันวิชิตมองว่า ถ้าเป็นเมื่อ 10 ที่แล้ว อาจเป็นแนวทางที่ใช้ได้ เพราะใช้ความกลัวจากอำนาจที่เข้ามาด้วยกลยุทธ์ไม่พึงประสงค์ แต่การโหวตเชิงยุทธศาสตร์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีลักษณะทัศนคติทางการเมืองที่ต่างกันมาก แต่ถ้าเป็นเรื่อง ‘รสนิยมทางการเมือง’ หรือมีความนิยมในทิศทางเดียวกัน อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเป็นฐานเสียงของคนกลุ่ม ‘เสรีนิยม’ เหมือนกัน ก็อาจไม่ง่ายสำหรับเพื่อไทย  

“ภาวะรักพี่เสียดายน้องอาจเกิดขึ้น ดังนั้นการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ จะเป็นการกดดันให้เกิดการสวนกระแส จึงเห็นภาพคนรุ่นใหม่หลายคนตัดสินใจสนับสนุนก้าวไกล ซึ่งเพื่อไทยเองต้องสร้างความชัดเจนให้กับตัวเอง อย่างกรณีการผสมข้ามขั้วกับฝ่ายอนุรักษ์ก็ต้องพูดให้ชัด อย่างน้อยจะเป็นการตรึงฐานมวลชนให้คงอยู่ ถ้าบอกไม่เอา 3 ป. ยังง่ายเสียกว่าการเดินเกมแบบนี้” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3tkKBDhEK0AULjcXHIraFe/8087f393c9dcc16961c4f41bc4ceb61f/Election-Contest-between-Move-forward-party-and-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Photo03
Photo: ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์วันวิชิต กล่าวต่อว่า การเล่นการเมืองของพรรคก้าวไกลช่วงสุดท้ายแสดงให้เห็นว่า เป็นการเดินอย่างไม่มีอะไรจะเสีย ซึ่งเพื่อไทยเองก็ต้องชูหลักแลนด์สไลด์เข้าสู้ ด้วยการโหมสรรพกำลังและประสบการณ์ทั้งหมดที่มี แต่ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าจะตรึงพื้นที่คนรุ่นใหม่และคนชนชั้นกลาง ในการชักชวนให้นึกถึงความสำเร็จในวันวานสมัย ‘พรรคไทยรักไทย’ ได้มากน้อยแค่ไหน  

การบ้านที่เพื่อไทยอาจต้องโฟกัสมากกว่าการเล่นเกมโซเชียลฯ คือการนำเสนอนโยบายที่หลากหลาย นอกเหนือจาก ‘ดิจิทัลวอลเลต’ แล้วต้องมีแง่มุมอื่นด้วย รวมถึงพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การประชันวิศัยทัศน์ใหม่ เพราะที่ผ่านเพื่อไทยเลือกไม่ส่ง ‘เศรษฐ ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 ขึ้นเวทีดีเบต ทำให้ไม่สามารถเทียบ ‘บารมี’ กับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้ ถ้ากล้าจะแลกหมัดต้องชู ‘เสียนิด’ มากกว่านี้ เพราะ ‘การถนอมตัว’ ย่อมมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ที่แลกมาด้วยความไว้วางใจจากประชาชน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/20a5dn9KCzh0viOljsLPoS/e516086a61199ba1c3d9ef73b4c6949c/Election-Contest-between-Move-forward-party-and-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Photo04
เมื่อถามถึงประเด็นที่พรรคก้าวไกล ได้มีการเปิดเผยกับสื่อมวลชน ถึงจำนวนเก้าอี้ที่คาดว่าจะได้กว่า 100 ที่นั่ง มีแนวโน้มมากแค่ไหน อาจารย์วันวิชิต กล่าวว่า ตัวเลขที่ระบุเป็นการปั่นกระแส โดยหยิบมาจากความเชื่อบนโลกออนไลน์ แต่โลกความเป็นจริงอาจไม่ใช่  

ต้องไม่ลืมว่าจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้รับเลือกน้อยมาก ซึ่งบรรดาหัวคะแนนเหล่านี้ล้วนมีผลกับการแข่งขันแบบแบ่งเขต จึงเห็นได้ว่ายังห่างชั้นกับพรรคเพื่อไทยอีกหลายขุม จะมีลุ้นได้แค่ กทม. หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ตัวเลข 100 เป็นตัวเลขที่ประเมินสูงเกินไป แต่ในทางยุทธศาสตร์ก็คงต้องพูดอย่างนั้น นักวิเคราะห์ทั่วไปบอกว่าได้ประมาณ 60 ที่นั่งก็ถือว่าเต็มที่แล้วสำหรับพรรคก้าวไกล
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6olV3zqyLHmZ5f9VdCCDy7/5bce71478dc60b02fd6e7606ac6afa72/Election-Contest-between-Move-forward-party-and-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Photo05
อาจารย์วันวิชิต บุญโปร่งทิ้งท้ายว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ช่วงชิงคะแนนระหว่างฝากฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันเอง แต่อีกมุมจะเป็นการแสดงให้เห็น ว่าโอกาส ‘แลนด์สไลด์ร่วม’ ระหว่างอดีตแกนนำพรรคฝ่ายค้าน (กรณีที่ตกลงกันลงตัว) มีเปอร์เซ็นต์สูงที่อาจเกิดขึ้นได้  

คงต้องจับตาดูกันต่อไป โดยเฉพาะทุกอริยาบทของ ‘เพื่อไทย’ ที่อาจเป็นสัญญาณจับต้องได้มากที่สุด...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์