เฮือกสุดท้าย ‘ก้าวไกล’ ตาต่อตาฟันต่อฟัน

18 ก.ค. 2566 - 03:49

  • อ่านจังหวะ เฮือกสุดท้าย ‘พรรคก้าวไกล’ ตาต่อตาฟันต่อฟันลุย ‘ส.ว.’

Final-Factors-for-voting-to-elect-the-Prime-Minister-round-2-SPACEBAR-Hero
เห็นได้ชัดว่าภายหลังการโหวตนายกฯ รอบแรก สถานการณ์ระหว่าง ‘วุฒิสมาชิก’ กับ ‘พรรคก้าวไกล’ ดูขัดแย้งมากขึ้น หลังต่างฝ่ายต่างโจมตีกันนอกสภา ไม่ว่าจะกรณี ‘ด้อมส้ม’ ที่พยายามขุดคุ้ยประวัติธุรกิจ หรือเรื่องราวฉบับ ‘ดาร์กไซต์’ ของ ส.ว. (ที่ขัดขวาง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) เผยแพร่ลงสู่โลกทวิตเตอร์ เป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องและตอบโต้กันไปมา จนพรรคคนรุ่นใหม่ต้องออกมาห้ามปรามท่าที ผ่านวิดีโอขอบคุณประชาชน - ส.ว.ที่สนับสนุน ‘พิธา’  

“ผมขอให้ประชาชนทุกคน ร่วมทำภารกิจกับผมในสองสมรภูมินี้ โดยการ ส่งสารถึง ส.ว. ในทุกวิถีทาง ทุกวิธีการที่ท่านนึกออก ย้ำขอเป็นวิธีการสร้างสรรค์ ช่วยกันเชิญชวนให้ ส.ว. โหวตนายกฯ ตามมติประชาชน หรือ โหวตยกเลิกมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน” 

มีการถอดความรูปประโยคออกมาได้ 2 ใจความ หนึ่ง ‘ช่วยกันเชิญชวนให้ ส.ว. โหวตนายกฯ ตามมติประชาชน’ และ สอง ‘โหวตยกเลิกมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน’  

ทั้ง 2 เรื่องไม่ใช่ประเด็นซับซ้อน เพราะรู้แต่แรกอยู่แล้วว่า ‘เครื่องจักรสีส้ม’ ต้องการให้ ‘หนุ่มทิม’ เข้าประลองเชิงในการโหวตนายกฯ รอบ 2 (วันที่ 19 ก.ค. 66) โดยหวังจะมีเสียง ส.ว. เข้ามาเติมเต็มครบกึ่งหนึ่งของสภาฯ ในส่วนการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นั้น ทำไปเพื่อ ‘ปิดสวิซต์ ส.ว.’ ล้มผังพิสดารที่ให้สิทธิ์วุฒิสภา สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้

ประเด็นแรกขึ้นอยู่กับ 2 กรณีสำคัญ ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายใน และภายนอก เป็นองค์ประกอบ อย่างแรกขึ้นอยู่กับการตกลงในวงหารือของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 ว่าจะส่งชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ซ้ำหรือไม่  

ซึ่งเป็นที่ทราบต่อมาว่า พรรคพันธมิตรได้ตกผลึกร่วมใจ ‘เข็น’ พ่อส้มลงแข่งดังเดิม แต่หากรอบนี้ไม่สำเร็จ ต้องถอยฉากเทน้ำหนักไปอยู่กับแคนดิเดต ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่ง ส.ว.หลายคนแสดงทรรศนะ ‘พร้อมจะโหวตให้’ มากกว่า ‘พิธา’ แม้จะมี ‘ตัวจี๊ด’ บางคนเรียกร้องจนแสบทรวง ดึงดันให้ถีบส่งก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านเสียก่อน มิฉะนั้นอย่าหวังได้คะแนนเสียง 

ส่วน ‘ปัจจัยภายนอก’ ตามการคาดการณ์ของสื่อ อาจมีการเสนอนายกฯ จากพรรครัฐบาล (เก่า) เข้าแข่งในก็อกสอง โดยเฉพาะเมื่อใดที่มีชื่อ ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ขึ้นบอร์ด เมื่อนั้นพิธาก็เตรียมเก็บกระเป๋ากลับบ้านทันที (เพราะอะไรอ่านต่อได้ที่ : หัวเลี้ยวหัวต่อ - SPACEBAR | Binding Culture

ประเด็นที่ 2 คือการประกาศขอแรงสนับสนุน ‘ชัตดาวน์ ส.ว.’ ผ่านการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เรื่องนี้ เคยถูกนำไปเสนอแล้ว เมื่อคราวสมัยการประชุมที่ผ่านมา (ถึง 6 ครั้ง) แต่ก็ผ่านแพ้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ยิ่งดูจากบริบทปัจจุบัน ยิ่งยากกว่าเดิม เพราะขณะนี้วุฒิสภามีอำนาจเต็บสูบ ในการ ‘โหวตเบอร์ 1’ ซึ่งเป็นหนทางหลักในการขจัด ‘ก้าวไกล’ ออกจากสมการรัฐบาล 

อีกทั้ง การยื่นเรื่องต่อสภาฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน (จากจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 250 คน) และต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน อย่างน้อยร้อยละ 20 ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครคือ ฝ่ายค้าน - รัฐบาล ‘ตัวจริง’

เรื่องนี้เป็นเรื่องเพ้อฝัน สำหรับ ‘เสี่ยอ้วน’ (ภูมิธรรม เวชยชัย) ถึงขนาดออกมายอมรับผ่านทวิตเตอร์ 

“ทำเพื่ออะไรเป็นสิ่งที่ไม่สำเร็จ และยากกว่าการเสนอนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากเป็นการถ่วงเวลาและแสดงสัญลักษณ์ว่าได้ต่อสู้แล้ว โดยไม่นึกถึงวาระประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน”

ไม่นับรวม ‘ส.ว.ตัวตึง’ ที่มองพรรคส้มเป็น ‘ศัตรูเบอร์ 1’ ออกมาต่อว่าพรรคก้าวไกลอยู่เนื่องๆ มีหรือเรื่องนี้จะไม่อาละวาด (เรื่องนี้ขอไม่พูด เพราะทุกท่านคงพอเดาความเคลื่อนไหวถูก)  

แต่สิ่งที่อยากเล่าต่อ คือ มุมมองของวุฒิสภา ที่โหวตเห็นชอบพิธา ในศึกเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก อย่าง ‘เฉลา พวงมาลัย’ ที่ออกมายอมรับตรงๆ ว่าพร้อมจะโหวตหัวหน้าพรรคก้าวไกลต่อในยกสอง แต่ไม่เห็นกับการยกเลิก ม.272 เพราะด้วยความเป็น ส.ว. อาชีพ มีหน้าที่ขับเคลื่อนประสานและผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ จะปล่อยให้ค้างคามิได้ พร้อมระบุว่า เหลือเวลาอีกแค่ 10 เดือน ส.ว.ชุดนี้ก็จะหมดอายุ ขอให้อดทนรออีกนิด พร้อมรับแรงกระแทงจากด้อมส่ง หากลงมติไม่เห็นด้วยกับการปิดสวิตช์ ส.ว.  

การที่ ‘แก๊งฟันน้ำนม’ พยายามใช้ ‘ยาแรง’ ตอบโต้ หลังการโหวตนายกฯ รอบแรกไม่เป็นไปตามคาด ‘ขบวนการฟันปลอม’ จึงยากจะนิ่งเฉย ต้องตอบโต้เปิดระเบียบ - งัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่กำหนดว่า ‘ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป’ มายกอ้างขัดขวางไม่ให้ 8 พรรคร่วมเสนอชื่อพิธา แบบซ้ำซาก 

นี่จึงเป็นแรงต้านของก้าวไกล ที่หนักหน่วงกว่ายกแรก เพราะไม่รู้ว่า สภาสูงตัวตึง จะนำเรื่องนี้ขึ้นทักท้วง จนเกิดการอภิปรายแบบยืดเยื้อหรือไม่

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง ก้าวไกล และ ส.ว. จะเรียกว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ก็ไม่ผิดแผก 

แต่เชื่อเถอะท่าทีที่เห็นกันอยู่อย่างโจ่งครื่ม ของบรรดาแกนนำพรรคก้าวไกล พอประเมินออกมาได้ว่า เป็นการ ‘เปิดหน้า’ แบบไม่กลัวตาย ไม่ว่าจะกรณีการขอ ‘ปิดสวิซต์ ส.ว.’ หรือการดึงดันลุ้นโหวตนายกฯ ก็อก 2 ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ว่าหนทางสู้ทำเนียบนั้นริบหรี่ มีโอกาสเป็น ‘ทางตัน’ แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

แต่เพื่อให้สิ้นสุดอย่างสง่างาม ตามขั้นตอนระบอบประชาธิปไตย (ที่สามารถทำได้) จึงขอไปให้สุดทางตัน ดั่งที่ ‘พิธา’ ได้กล่าวกลางที่ประชุมเพื่อโหวต นายกฯ ครั้งแรกว่า  

“ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่าน ที่คิดว่าจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาเอาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอ ที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลา ที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตาและหูของท่านเอง ว่าผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา” 

ชัดเจนว่าเขา (พิธา) มองไกลเกินกว่าการเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านในสมัยนี้ อนึ่งมองข้ามช็อตถึงสงครามการเลือกตั้งปี 2570 เพื่อกลับมาตาม ‘เช็คบิล’ สิ่งที่ค้างคาในอดีต…

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์