‘ก้าวไกล’ ร่ายยาวชำแหละปมเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เหน็บซ่อมไว้ใช้วันเด็ก

16 ก.พ. 2566 - 10:06

  • ‘ก้าวไกล’ ชำแหละปม ‘เรือหลวงสุโขทัยอับปาง’

  • เหน็บซ่อมไว้ใช้งานวันเด็ก-ลอยอังคาร

  • ถามเป็นเรือรบหรือขนมเค้ก จงใจบกพร่องทุจริตแบ่งกันกิน

Move-Forward-Party-debated-on-the-case-of-HTMS-Sukhothai-Ship-wreck-SPACEBAR-Thumbnail
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยตั้งคำถามว่าเรือจมเพราะคนบนเรือ หรือผู้ปฏิบัติงานบนชายฝั่ง เพราะเมื่อเรือไปถึงหาดทรายรี จ.ชุมพร เกิดคลื่นลมแรงและไม่สามารถทอดสมอได้ จึงจำเป็นต้องเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือจุดใกล้สุดคือท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่เหตุใดเรือหลวงสุโขทัย ถึงไม่ทอดสมอที่ท่าเรือบางสะพาน ใครเป็นคนสั่งให้กลับท่าเรือสัตหีบ ในขณะที่เรือกระบุรี ก็เข้าเทียบท่าเรือบางสะพาน อีกทั้งได้รับข้อมูลจากอดีตข้าราชการทหารเรือว่า เป็นไปไม่ได้ที่เรือจะล่มเพราะทนคลื่นได้ถึง 6 เมตร เหลือเพียงแต่เรือจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เช่น ประตูผนึกน้ำใช้การไม่ได้ จึงเกิดคำถามว่า เรืออยู่ในสภาพพร้อมรบหรือไม่ จึงขอกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าปล่อยปละเลย ให้มีการทุจริตในกระบวนจัดซื้อจัดจ้าง และเรือไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้  

พิจารณ์ ยังอ้างถึงเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ระหว่างปี 2561-2564 รวม 300 กว่าหน้า งบฯ 60 ล้านบาท ที่กองทัพเรือ ไม่ส่งให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อได้อ่านก็พบความผิดของการซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นการจงใจบกพร่องทุจริตแบ่งกันกิน จนไม่แน่ใจนึกว่านี่คือเรือหรือขนมเค้ก เพราะสมอเรือหลังการซ่อมเมื่อใช้งานจริงมอเตอร์ขัดข้อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 เครื่อง เสีย 1 เครื่อง ซ่อมตั้งแต่ปี 2561-2564 ยังมีปัญหาเพียบ คนมีหน้าที่ซ่อม ซ่อมอย่างไร คนที่ตรวจรับตรวจรับได้อย่างไร   

“ใน กมธ.ติดตามงบฯ กองทัพเรือก็ยอมรับน่าตาเฉย ว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเสียจริง 1 เครื่อง แต่บอกว่าไม่เป็นไร เพราะใช้เครื่องหลัก 2 และยังมีสำรองอีก 1 ขอถามหน่อยเวลาที่มาของบฯ ในสภาฯ แล้วบอกว่าต้องเตรียมความพร้อมในการรบ นี่พร้อมแล้วหรือ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วยตอบหน่อยหรือในมันสมองรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ไปรบ ที่ซ่อมเรือเอาไว้ใช้งานวันเด็ก เอาไว้พาผู้ใหญ่ในกองทัพออกไปลอยอังคาร” พิจารณ์ กล่าว 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการซ่อมตัวเรือ ทั้งส่วนที่อยู่เหนือน้ำผิวน้ำและใต้น้ำ ซึ่งต้องซ่อมกราบเรือขวา 13 จุด แต่ซ่อมจริง 15 จุด และกราบเรือซ้าย ต้องซ่อม 8 จุด แต่ไม่ได้ซ่อม กลับไปซ่อมจุดที่ไม่ต้องซ่อม 10 จุด ซึ่งทั้งกราบขวาเรือและกราบซ้ายเรือมีจุดที่ไม่ได้ซ่อม และอยู่ตรงกับห้องเครื่อง หากเกิดน้ำรั่ว จะทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ยังพบผู้ชนะงานซ่อมเรือหลวงสุโขทัย บริษัทเป็นห้องแถว ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีพนักงาน 20 คน  
“เขารู้กันทั้งกองทัพว่าเอกชนรายนี้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.ร.ท. ‘ว.’ ชื่อเล่น ‘ก.’ อดีตเจ้ากรมหรือไม่ กินกันหนักกินเหล็ก กินลวด นี่คือการจงใจบกพร่องและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ” พิจารณ์ กล่าว

พิจารณ์ ยังตั้งคำถามถึงการซ่อม Fin Stabilizer หรือครีบกันโคลง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รักษาสมดุลของเรือเวลาเจอคลื่นลมแรง ว่ามีการถอดชิ้นส่วนนี้ออกไปหรือไม่ ซึ่งกองทัพเรือ แจ้งว่า ด้วยเหตุที่เรือเก่า หาอะไหล่ซ่อมไม่ได้ อีกทั้งการซ่อมทำครีบกันโคลง หากทำได้ไม่ดี กลับจะเป็นผลร้ายต่อสมดุลของเรือเสียมากกว่า จึงถอดทิ้ง เรืออาจโคลงมากขึ้น แต่ไม่เป็นไร พร้อมยืนยันว่า ครีบกันโครง จะมีหรือไม่มี ก็ไม่ได้มีผลทำให้เรือล่ม  

“แต่ในปีงบประมาณ 2566 เรือหลวงสุโขทัย ยังมีคิวรอซ่อมอีกตั้ง 19 รายการ รวมมูลค่า 16.25 ล้านบาท งานซ่อมที่ใหญ่ที่สุด คือการซ่อมเกียร์ฝั่งซ้าย 7.5 ล้านบาท ตนนึกไม่ออกเลยว่าทำไม เรือที่ต้องรอซ่อมเกียร์ และรายการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 19 รายการ ทำไมถึงอนุญาตให้ออกไปปฏิบัติภารกิจได้ ทำไมถึงไม่จอดเทียบท่า หรืออยู่ในอู่ อีกทั้งยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุเรือสุโขทัยล่ม บนเรือไม่มีต้นกล ไปด้วย ต้นกลนี้มีทำหน้าที่ควบคุม ดูแล รักษา เครื่องยนต์และเครื่องจักรใหญ่ที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด คือบุคคลากรที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรในยามฉุกเฉิน เพราะอัตรากำลังพลของเรือหลวงสุโขทัย ก็ยังว่างและขาดบรรจุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตำแหน่งต้นกล หรือหัวหน้าวิศวกร” พิจารณ์ กล่าว 

พิจารณ์ กล่าวอีกว่า ไม่แน่ใจด้วยเหตุเพราะแบริ่งเพลาจักรรั่วซึม หรือแผ่นเหล็กใต้ท้องเรือ ที่ทนรับความเครียดสะสมในเนื้อเหล็กไม่ไหว แตกร้าว จึงทำให้น้ำทะเลไหลเข้าใต้ท้องเรืออย่างรวดเร็ว โดยไหลเข้าไปในส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าล้มเหลว เครื่องยนต์ดับลง เจ้าหน้าที่พยายามติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมายเลข 4 ไม่สามารถใช้งานได้ เรือรบที่มีขนาดเกือบ 80 เมตร หนักเกือบ 1 พันตัน จึงเหลือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียง 1 ตัว ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนต่อไปได้ ในท้ายที่สุด เรือหลวงสุโขทัย ที่มีรูรั่ว ขาดต้นกล ขาดมาตรวัดที่ใช้งานได้จริง ขาดครีบกันโคลง และขาดกำลังเครื่องยนต์ที่จะไปต่อ จึงต้องจมลงสู่ก้นอ่าวไทย สังเวยชีวิตทหารเรือ 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย 

พร้อมระบุ ไม่ว่าจะเพิ่มงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหม มากเท่าใดก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลปรสิต ในระบอบ 3 ป. เราก็จะยังคงอยู่ในการทุจริต คอร์รัปชัน ระบบแบ่งกันกิน แต่แล้วก็ปกปิดความผิดกันไป เราจะไม่มีวันมีกองทัพที่เข้มแข็ง ไม่มีกองทัพที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน พี่น้องนายทหารน้ำดี ก็ยังคงจะต้องหมดความชอบธรรม ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากพี่น้องประชาชน จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปกองทัพ ซึ่งคือเรื่องเดียวกันกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์