เจาะแผนล้มช้าง ‘ก้าวไกล’ เชือด ‘บ้านใหญ่’

16 พ.ค. 2566 - 10:59

  • ประมวลภาพ ‘บ้านใหญ่’ ถูกล้ม โดยมดเล็ก ‘ก้าวไกล’

Move-Forward-Party-won-election-SPACEBAR-Hero
ผ่านมาแล้วสำหรับศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะช่วงหลังปิดหีบ และการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เต็มไปด้วยความจริงจัง เพราะ ‘ก้าวไกล’ ในฐานะแกนนำอุดมการณ์ประชาธิปไตยสุดโต่ง กลายเป็น ‘ดาวจรัสแสง’ ชั่วข้ามขึ้น จากการสร้างปรากฏการณ์พลิกผัน ได้ ส.ส.ถล่มทลายผิดคาด ตอกย้ำความสำเร็จอีกด้วยผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจาก กกต. ที่ยืนยันว่า ‘พรรคก้าวไกล’ ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตไป ถึง 112 เก้าอี้ ขณะที่ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์มีจำนวนถึง 38 ที่นั่ง รวมทั้งหมดพรรคสายเลือด ‘อนาคตใหม่’ มีว่าที่ ส.ส.ที่เตรียมตบเท้าเข้าสภาทั้งสิ้น 151 คน ครองแชมป์เป็นเบอร์หนึ่ง ทิ้งห่าง ‘เพื่อไทย’ แบบหายใจลดต้นคอ 10 เก้าอี้ หักปากกาเซียนหลายสำนักที่คาดว่า ‘พรรคส้ม’ ไม่มีทางได้เก้าอี้เกิน 100 ตัว 

ความเป็นไปที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงการเดินเกมยุทธศาสตร์ที่ถูกทางของก้าวไกล ที่ใช้ ‘ความตรงไปตรงมา’ และ ‘พลังโซเซียล’ เปลี่ยนแปลง ‘กระแส’ เป็นคะแนนเสียงโดยไม่พึ่งต้อง ‘กระสุน’ เพราะหัวคะแนนธรรมชาติล้วนมาด้วยใจ 

จากที่เห็นได้ชัดคือ จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคก้าวไกลได้เท่ากับพรรคเพื่อไทย อดีตเบอร์หนึ่งสนามเลือกตั้งตั้งแต่ยุค ‘ไทยรักไทย’ ไม่ต้องพูดถึงกระแส ‘พรรคลุงๆ’ ที่ดูจะเหือดแห้งซะเหลือเกิน หลัง ‘พี่ป้อม - น้องตู่’ แยกกันเดิน คะแนนกระจายไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

ปรากฏการณ์ ‘มดล้มช้าง’ คือนิยามที่พรรคก้าวไกลพึงได้รับอย่างชอบธรรม เพราะการส่ง ‘ผู้สมัครหน้าใหม่’ เข้าต่อกรกับ ‘นักการเมืองเขี้ยวลากดิน’ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถูกรับเลือกเข้าสภาฯ โดยเฉพาะกับบัตรสีม่วง ‘เลือกคนที่รัก’ แต่กระแสพลิกผันส่งก้าวไกลเข้าวิน ‘ล้มบ้านใหญ่’ หลายพื้นที่  

‘แลนด์สไลด์เมืองกรุง’

ที่ฮือฮาคงหนีไม่พ้น ‘กรุงเทพฯ’ ที่ก้าวไกลสร้างปรากฏการณ์ ‘แลนด์สไลด์’ คว้าเก้าอี้ได้ทั้ง 32 เขต จากทั้งหมด 33 เขต ตรงกับผลสำรวจของนิด้าโพล ที่ออกมาทันทีทันใดหลังปิดหีบเลือกตั้ง 

ใช้แว่นขยายดูจะเห็นว่า ‘บ้านใหญ่’ ถูกตัดเสาเข็มล้มระเนระนาดหลายพื้นที่ หากดูในส่วนเมืองหลวง อย่าง เขต 1 ‘ปราเมศ วิทยารักษ์สรรค์’ สามารถเอาชนะอดีต ส.ส.เจ้าถิ่นเก่าอย่าง ‘กานต์กนิษฐ์ แห้วสันติ’ อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ภายหลังย้ายขั้ว ลงป้องกันแชมป์ในฐานะผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ขณะที่เขต 7 ‘ภัสริน รามวงศ์’ สามารถเอาชนะ ‘ชื่นชอบ คงอุดม’ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์และพลังท้องถิ่นไทยไปได้ สำหรับเขต 10 ก่อนหน้ามีเจ้าถิ่นขาประจำ อย่าง ‘การุณ หงสกุล’ ที่รอบนี้ตัดสินใจย้ายจากพรรคเพื่อไทย ไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย ก็ถูก ‘เอกราช อุดมอำนวย’ ผู้สมัครหน้าใหม่ เข้ายึดดอนเมืองถิ่นทหารอากาศไป 

เขต 26 ‘ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์’ ก็สามารถเบียดแย่งพื้นที่ ‘ศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร’ จากพรรคเพื่อไทยไปได้ ขณะที่เขต 28 ซึ่งเป็นศึกใหญ่สามเศร้า ระหว่างตระกูลบ้านใหญ่ ‘อยู่บำรุง - ม่วงศิริ’ ที่ผลัดกันแพ้ชนะมาหลาย 10 ปี ก็ถูก ผู้สมัครหน้าใส อย่าง ‘รัชนก ศรีนอก’ ม้ามืดนอกสายตา (ในช่วงแรก) แซงนำทิ้งห่างสองเจ้าที่บิ๊กเนม จนกลายเป็นปรากฏการณ์ฟีเวอร์แรกๆ ที่ถูกพูดถึง 

อย่างไรก็ดี ก้าวไกลเกือบพิชิตมหานครได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ดันพลาดที่เขต 20  ซึ่งเป็น ‘ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์’ เฉือนชนะไปเพียง 4 คะแนนเท่านั้น  

ไร่ส้มรอบกรุงฯ

ส่วนปริมณฑล พรรคก้าวไกลก็แจ้งเกิดหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ‘สมุทรปราการ’ ที่อดีตเป็นมั่นสำคัญของบ้านม้าทองคำ ‘บ้านใหญ่ปากน้ำอัศวเหม’ ก็ถูกย้อนเกล็ดล้มไม่เป็นท่า เพราะกินรวบพิชิตไปได้ทั้ง 8 เขต  

ขณะที่ ‘นนทบุรี’ ก็ไม่น้อยหน้าพรรคสีส้มสามารถปักต้นกล้า ได้ครบทั้ง 8 เขต แบบเหมายกเข่งเช่นเดียวกับเมืองปากน้ำ ขณะที่ ‘ปทุมธานี’ พื้นที่ ‘บิ๊กแจ๊ส’ ก็เกือบสร้างปรากฏการณ์ทั้งจังหวัด แต่เป็นที่หน้าเสียดายที่ เขต 4 ‘สจ.ฟรุ๊ค’ มนัสนันท์ หลีนวรัตน์ พรรคเพื่อไทย เข้าเฉือนเข้าวิน ส่งผลให้ก้าวไกลได้มาทั้งหมด 6 ที่นั่งจาก 7 เขต  

ในส่วนปริมณฑลจังหวัดสุดท้ายอย่าง ‘นครปฐม’ ที่พรรคส้มสามารถปักธงได้เพียง 2 เขตจาก 6 เขต แต่ภาพรวมตัวเลขเก้าอี้ที่ได้ก็ดูเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก เรียกได้ว่าหากทำเป็นกราฟิก รอบ กทม.จะเห็นเป็นสีส้มซะส่วนใหญ่ เสมือนเป็น ‘ไร่ส้ม’ ที่แผ่ขยายเพิ่มจากปี 2562   

ปักธงล้มเจ้าถิ่นภูธร

ในส่วนภูมิภาคก็มีหลายจังหวัดที่ ‘เจ้าถิ่น’ สร้างฐานไว้อย่างมั่นคง เริ่มที่ภาคเหนืออย่าง ‘เชียงใหม่’ ที่ถูกขนาดนามว่าเป็น ‘เมืองหลวงของเพื่อไทย’ เพราะเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของพี่น้องตระกูลชินวัตร ‘ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์’ เรียกได้ว่า ‘แพ้ไม่ได้’ และ ‘ไม่เคยแพ้’ แต่สำหรับการเลือกตั้งรอบนี้พลิกโผ ถูกก้าวไกลแบ่งเค้กไป 7 เขต สะเทือนลั่นเมืองล้านนา  

ขณะที่ภาคกลางก็ไม่ยิ่งหย่อน ก้าวไกลสามารถกวาดแชมป์แบบเหมาเข่งยก 2 จังหวัด (นอกเหนือจากปริมณฑล) ทั้ง ‘สมุทราสงคราม’ ที่ ‘อานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย’ สามารถล้ม ‘พยาบาลโอ๋’ รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม 5 สมัย ที่รอบนี้ตัดสินใจย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์มาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ ‘สมุทรสาคร’ ทั้ง 3 เขตก็กลายเป็นพื้นที่สีส้มทั้งจังหวัดเช่นกัน 

ฝากฝั่งชายทะเลตะวันออก ก็เห็นภาพล้มบ้านใหญ่หลายจังหวัด ทั้ง ‘ชลบุรี’ ที่แต่เดิมเป็นการแข่งขันระหว่าง ‘บ้านใหญ่กำนันเป๊าะ’ กับ ‘บ้านใหม่มังกรน้ำเค็ม’ แต่ผลออกมากลับเป็นม้ามืดก้าวไกล ที่สามารถยึดหัวหาดเมืองชล ได้ 7 เขตจากทั้งหมด 10 เขต ขณะที่ ‘บ้านใหญ่ปิตุเตชะ’ ก็สูญเสียที่มั่น ‘ระยอง’ ทั้ง 5 เขต ให้กับผู้สมัครพรรคส้ม รวมถึง ‘จันทรบุรี’ และ ‘ตราด’ ก็เป็นสีส้มทั้งจังหวัดเรียกได้ว่ารอบนี้พรรคก้าวไกล ‘บูรพาไม่แพ้’ 

สำหรับ ‘นครราชสีมา’ ก้าวไกลก็ไม่น้อยหน้า สามารถสถาปนาตนเองได้ 3 เขต จากทั้งหมด 16 เขต แม้จะไม่หวือหวา แต่ก็เป็นชัยชนะที่น่าสนใจ เพราะสามารถล้ม ‘บ้านใหญ่ลิปตพัลลภ’ ตระกูลเก่าแก่ที่ครองใจชาวโคราชมาหลายทศวรรษ 

ในส่วพื้นที่ปักษ์ใต้อย่าง ‘ภูเก็ต’ ก็ถูกก้าวไกลยึดเบ็ดเสร็จทั้ง 3 เขต ทำเอาเจ้าของพื้นที่อย่าง ‘พรรคเก่าแก่’ หรือ ‘พรรคลุงๆ’ มองตาละห้อยอกหักตามกันไป ซึ่งจากการพิชิต ‘เมืองถลาง’ ในรอบนี้ ถือเป็นการแจ้งเกิดของพรรคคนรุ่นใหม่ เพราะไม่บ่อยนักที่จะมีพรรคไหนเข้าเจาะพื้นที่แดนสะตอยกจังหวัดได้อย่างสะดวกโยธิน เพราะเมืองใต้เป็นฐานที่มั่นสำคัญของ ‘ขั้วอนุรักษ์นิยม’ อย่างประชาธิปัตย์ และพรรคที่สนับสนุน ‘พลเอกประยุทธ์’ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง  

นี่จึงเป็นการสถาปนาชัยชนะของพรรคก้าวไกล ที่การตอกย้ำว่า ปัจจุบัน ‘บ้านใหญ่’ ไม่ได้สำคัญเทียบเท่าวันวาน แต่กลับเป็น ‘ความสดใหม่’ ที่มัดใจประชาชน พา ‘พรรคก้าวไกล’ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในการสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์