ในความคิดถึง Y2K แบบใสๆ เรากลับทำให้ลืมการเมืองประชาชนยุค Y2K

15 ก.พ. 2566 - 07:39

  • ตั้งแต่การเมืองแบบทักษิณที่ยังมีชีวิตชีวา ไปจนถึงความโหยหารัฐธรรมนูญยุค Y2K

  • ความคิดถึงการเมืองไทยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s ถึงต้นทศวรรษที่ 2000s

Nostalgia-of-thai-politics-the-force-behind-the-general-election-to-come-SPACEBAR-Hero

คิดถึงเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี 

คนเรามักจะมองว่าอดีตสวยงามกว่าปัจจุบัน และอนาคตควรค่าแก่การรอคอยมากกว่าตอนนี้  

ในเมืองไทยจึงมักเอ่ยคำว่า ‘เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี’ หรือในโลกตะวันตกมีคำว่า ‘หวนไห้ในอดีต’ (Nostalgia) เพื่อที่จะบอกกับตัวเองว่าแต่ก่อนนั้นทุกอย่างช่างดีเหลือเกิน ช่างแสนเสียดายยุคนั้น ไม่เหมือนยุคนี้ที่น่าชิงชัง 

มนุษย์สหัสวรรษในยุค Y2K ก็มีอารมณ์คิดถึงอดีตเช่นกัน และมันน่าจะเป็นอารมณ์ Nostalgia แบบรวมหมู่ครั้งแรกๆ ในสังคมไทย หลังจากผ่านความอลวนของการแก้ปัญหา Y2K มาได้ 3 ปี วงการภาพยนต์ไทยก็ให้การต้อนรับ ‘แฟนฉัน’ ซึ่งใช้ฉากในทศวรรษที่ 80 จนทำให้หลายคนรู้สึกคิดถึงความเรียบง่ายและไร้เดียงสาของยุคนั้น ทำให้เกิดกระแสคิดถึงอดีตกันอยู่พักหนึ่งในสังคมไทย  

จะว่าไปแล้ว ฉากของแฟนฉันมีช่วงอายุที่ห่างจากยุค Y2K ประมาณ 20 ปี และความโหยหา Y2K ของยุค Post-covid ก็มีช่วงอายุไล่ๆ กัน สิ่งที่คล้ายกันอีกอย่างคือการโหยหาแต่เฉพาะวัฒนธรรมป๊อปของยุคนั้น โดยไม่แตะต้องเรื่องที่เป็นแก่นสารของยุคสมัยนั้นเลย เช่น Y2K เป็นปรากฏการณ์อันวุ่นวายแท้ๆ แต่คนในยุคนี้เลือกที่จะพูดถึงความป๊อปและความสโลว์ไลฟ์ของมันมากกว่า   

หลายคนในยุคนั้นอาจจะ ไม่ประสากับความโกลาหลของยุคสมัย เมื่อเติบโตขึ้นมาก็จะเลือกทื่จะจำเฉพาะเรื่องที่หวานชื่นในอดีต   

มนุษย์มิลเลนเนี่ยม

แล้วทำไม Y2K ถึงกลายเป็นอดีตที่โรแมนติกของคนยุคนี้ไปได้? นั่นก็เพราะนิยามของ Y2K ถูกเปลี่ยนเป็นเรื่องยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่นยุคนั้น มันถูกเล่าซ้ำในฐานะเป็น coming of age (การเติบโตผ่านจังหวะชีวิต) ที่ชวนให้ตราตรึง ท่วงทำนองของชีวิตยังไม่เร่งรีบ เพราะอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ยังไร้เดียงสานิดๆ เพราะไม่ถูกแปดเปื้อนด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ก็ไม่เชยจนเกินเหตุเพราะยุคแห่งการปฏิวัติดิจิทัลได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว  

อันที่จริงถ้าจะมอง Y2K ในแง่ที่เบิกบานกว่านี้ (เบิกบานกว่าหายนะที่มันเกือบจะก่อขึ้นมา) มีอีกคำหนึ่งที่สะท้อนยุคสมัยได้ดีพอๆ กันคือ คำว่า Millennium 

ในเวลานั้น (ระหว่างปี 1999 - 2000) คำว่า Millennium ถูกใช้อย่างแพร่หลายด้วยอารมณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังมากกว่า แม้แต่ในไทยก็ยืมคำนี้มาใช้แบบทับศัพท์ว่า ‘มิลเลนเนียม’ จนต่อมาทางการจึงค่อยนิยามศัพท์ไทยปนแขกให้ว่า ‘สหัสวรรษ’ ซึ่งทำให้สังคมปั่นป่วนอยู่พักหนึ่ง เพราะมันเป็นคำที่ทำเรียกยากจนลิ้นพันกัน และฟังไม่รู้เรื่องว่าหมายถึงอะไร  

Millennium มีคำที่คล้ายๆ กันอีกคำที่มีความหมายไปคนลำทาง คือคำว่า Millenarianism ซึ่งเป็นลัทธิที่เชื่อว่าโลกจะมาถึงกาลอวสานหรือจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุกๆ 1,000 ปี เมื่อถึงรอบ 1,000 ไม่ว่าจะปฏิทินแบบใดก็ตาม ก็มักจะมีพวก ‘ผีบุญ’ ออกมาเคลื่อนไหวอ้างว่ายุคใหม่มาถึงแล้ว เป็นยุคพระศรีอาริย์มาโปรด หรือยุค ‘ฟ้าสีทองผ่องอำไพ’ คนมากมายจะหลงเชื่อขบวนการพวกนี้ เพราะเป็นทุกข์กับปัจจุบัน และต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้ 

Y2K และ Millennium ก็มีบรรยากาศคล้ายๆ ลัทธิสหัสวรรษวันสิ้นโลก แม้ว่าเสี่ยงที่โลกจะล่มเพราะระบบรวน แต่ทุกคนเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกโหยหาอนาคตข้างหน้า อยากจะทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง สำหรับคนไทยยิ่งอยากจะลืมทศวรรษที่ผ่านมาให้เร็วๆ เพราะไม่กี่ปีก่อน (1997) ประเทศเกือบจะพินาศเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง และในช่วง Y2K ยังมีหลายคนที่ล้มแล้วยังลุกไม่ไหว แต่มันเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว

รัฐบาลวายทูเค

หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ชวน หลีกภัย รับช่วงต่อหลังจาก พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้ง ‘รัฐบาลชวนสอง’ เพราะเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของเขา ซึ่งจะว่าไปแล้วแต่ละครั้งที่ ‘นายหัวชวน’ รับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมา มักจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างวิกฤตครั้งใหญ่ของชาติ เช่น สมัยแรกนั่งเป็นนายกฯ หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นหายนะทางการเมืองของชาติ และสมัยที่สองนั่งเก้าอี้นายกฯ หลังหายนะทางเศรษฐกิจของชาติ 

เพื่อไม่ให้เชยจนเกินไป ดังนั้นเมื่อถึงปี 2000 ‘รัฐบาลชวนสอง’ จึงได้รับฉายาว่า ‘รัฐบาล Y2K’ แต่รัฐบาล Y2K ไม่มีผลงานอะไรน่าจดจำ มีแต่เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาล  

ในแง่การเมืองและสังคมแล้ว มันถือเป็นยุค ‘ฟ้าสีทองผ่องอำไพ’ ก็ว่าได้ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจากเดิมที่มีแต่การแต่งตั้งเท่านั้น การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนั้นก็เป็นเพราะอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่ประชาชนแท้ๆ ร่วมกันออกมา ไม่ใช่ผู้มีอำนาจคนไหนยัดเยียดให้  

การเมืองและสังคมในยุคนั้นจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนแข็งแกร่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้คำว่า ‘ประชาสังคม’ (Civil society) กลายเป็นคำฮิตในช่วงเวลานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ส่งเสริมให้มีการสร้าง ‘ประชาสังคม’ ขึ้นมาด้วย  

ในปี 2544 ยังไม่พ้นจากความสับสนช่วง Y2K ก็มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ผลปรากฏว่านักการเมืองหน้าใหม่ทีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร พาพรรคน้องใหม่ที่ชื่อไทยรักไทย คว้าชัยชนะแบบถล่มทลาย และนำการเมืองไทยเข้าสุ่ยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ผ่านการริเริ่มเชิงนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าฯ ซีอีโอ การจัดระเบียบสังคม ไปจนถึงโครงการสวัสดิการประเภทหนึ่งตำบล ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนไปกันได้กับแนวคิดประชาสังคมที่เน้นการกระจายอำนาจ  

รัฐบาลทักษิณสมัยแรกนั้นเป็นยุคที่ราบรื่นที่สุดยุคหนึ่งของการเมืองไทยก็ว่าได้ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ทำให้มาถึงจุดนั้น  

แต่มันจะสมบูรณ์แบบกว่านี้ถ้าพรรคการเมืองอื่นๆ ถีบตัวเองจากการเมืองน้ำเน่าขึ้นมาด้วย เผอิญกว่าพรรคเหล่านั้นไม่มีความสามารถมากพอ ความหวังสูงสุดของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่จะทำให้ไทยเป็นระบบพรรคการเมือง 2 พรรคที่คอยถ่วงดุลกัน จึงกลายเป็นฝันสลาย  

เมื่อภาคประชาสังคมอ่อนแอเสียเอง (และถูกทำให้อ่อนแอโดยรัฐบาลด้วย) และพรรคการเมืองไม่เอาไหน แล้วเมืองไทยจะมีระบบถ่วงดุลและตรวจสอบที่ดีได้อย่างไร? สุดท้ายแล้วทุกคนก็ได้แต่โทษที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาไม่ดี เช่นบางคนในกลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่บอกว่า “รัฐธรรมนูญ 2540 (ที่) นํามาสู่ระบบพรรคเดียวเบ็ดเสร็จ”  

เมื่อทักษิณได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และตอกย้ำด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งคราวต่อมา การเมืองก็เริ่มไม่ราบรื่นซะแล้ว เพราะรัฐบาลทักษิณและไทยรักไทยมีเสียงข้างมากในสภาฯ จึงถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ ซึ่งเป็นคำที่แปลกประหลาดที่สุด เพราะผู้แทนในสภาฯ ก็ผ่านการเลือกตั้งมา ไม่ได้ขโมยอำนาจของประชาชนมาผูกขาดเอาไว้  

ทักษิณยังถูกกล่าวหาว่า “เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งได้บิดเบือนเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปเป็นเครื่องมือรับใช้อำนาของตนและพวกพ้อง” (จากรายงานเรื่อง “รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 การเมืองไทยจะไปทางไหน” ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 270 สิงหาคม 2550) 

ไม่ต้องแปลกใจที่ความเห็นของปัญญาชนคนทำสื่อจะออกมาแบบนี้ในช่วงเวลานั้น หากย้อนกลับไปดูในยุคนั้น เราจะเห็นความรู้สึกหวงแหนการเมืองประชาชนที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 40 แต่เพราะความเข้าใจว่าทักษิณบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้ตัวรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นตัวการทำให้เกิดคนแบบทักษิณขึ้นมา และสุดท้ายกลายเป็นเครื่องมือของทักษิณ 

ความขัดแย้งบานปลายไปเรื่อยๆ แม้แต่ภาคประชาสังคมที่แกร่งขึ้นมาในยุคนั้นก็กลายเป็นศัตรูของรัฐบาล (จนกระทั่งก่อตั้งกลุ่ม ‘ประชาสังคมต่อต้านระบอบทักษิณ’) รวมถึงปัญหาอื้อฉาวของทักษิณอีกมากมาย ทำให้อีกไม่นานต่อมา การเมืองยุค Y2K พร้อมด้วยรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ถึงกาลอวสานด้วยการทำรัฐประหารปี 49

การเมืองของความคิดถึงวันวาน 

“รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับดีที่สุดประเทศไทย เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน แต่โดนฉีกไป ตอนนั้นเราพยายามขออย่าฉีกทั้งฉบับ เพราะมาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่คัดสรรมาจากทั่วประเทศ มาจากประชาชนโดยแท้จริง พอมารัฐธรรมนูญปี 50 ปี 60 ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งแก้ยิ่งเละ ยิ่งแก้ยิ่งไปกันใหญ่ ทำไมไม่เอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมา” วราวุธ ศิลปอาชา กล่าวในการลงพื้นที่ จ. สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 

คุณวราวุธคิดถึงรัฐธรรมนูญปี 40 เพราะบอกว่ามันดีและเป็นของประชาชน แต่มันก็อาจเป็นเพราะคิดถึงคุณพ่อผู้ช่วยประสานงานให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นด้วย คือ บรรหาร ศิลปอาชา ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลไหนก็ตาม หากใครสังเกตป้ายของพรรคชาติไทยพัฒนาจะพบข้อความสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ด้วย เรียกได้ว่าเป็นพรรคเดียวล่ะมั้งที่คิดถึงมันจริงๆ จังๆ ขนาดนี้  

แต่ไม่ใช่แค่บ้านศิลปอาชาที่ต้องการมันกลับมา ก่อนหน้านี้ ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยแสดงความต้องการให้นำรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมาใช้ด้วย  

แต่ทำไมหลายๆ คนถึงไม่โหยหารัฐธรรมนูญแบบนั้นอีก? ที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญปี 40 และรัฐบาล Y2K ชุดต่างๆ จะถูกโหยหาขึ้นมาเป็นครั้งคราวว่าเป็นยุคเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี ผู้คนเล่นตามกติกา และเป็นกติกาที่ออกมาโดยประชาชนจริงๆ แต่น่าเสียหายที่ความโยหานี้ไม่สามารถเป็นกระแสหลักได้ และในที่สุดรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ถูกทอดทิ้งไปในฐานะสิ่งล้าสมัย ทั้งๆ ที่มันไม่ล้าสมัย  

แต่เพราะมีคนกลัวว่าดีไซน์ของรัฐธรรมนูญปี 40 จะทำให้เกิด ‘เผด็จการรัฐสภา’ สมัยทักษิณขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่ความบกพร่องไม่ได้เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ควรจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับรัฐบาล เพื่อสร้างระบบการเมืองแบบสองพรรคที่ถ่วงดุลกัน

การที่รัฐธรรมนูญดีๆ (และเป็นของประชาชนแท้ๆ) ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดยุคมืดทางการเมือง ทำให้มัน “ถูกทำให้ลืมในทางการเมือง” (The Politics of Amnesia) ไม่สามารถกลายเป็น “การเมืองของความโหยหาอดีต” (The Politics of Nostalgia) ได้

Nostalgia ไม่ใช่แค่อารมณ์ครั้งคราวเหมือนแฟนฉันในตอนนั้น หรือการคิดถึงไทรอัมส์คิงดอมในตอนนี้ แต่มันยังเป็นอาวุธทางการเมืองได้ด้วย  

ในการศึกษาในปี 2014 ที่จัดทำโดย เคลย์ เราต์เลดจ์ (Clay Routledge) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ North Dakota State University พบยิ่งมีคนรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาการหยุดชะงักและความไม่แน่นอนมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งคิดถึงอดีตมากขึ้นเท่านั้น จากการค้นพบนี้ นักวิจัยจึงเตือนว่านักการเมืองสามารถบงการความรู้สึกของผู้คนต่ออดีต จนทำให้ผู้คนหลงไหลใน ‘อดีตอันสวยงามกว่า’ เพื่อหวังผลทางการเมือง  

แต่ในกรณีของการเมืองไทย หลายๆ เรื่องที่เป็นอดีตที่สวยงามจริงๆ กลับถูกตัดตอนไม่ให้ผู้คนโหยหามันเสียอย่างนั้น เพราะการทำให้เข้าใจว่าการเมืองยุควายทูเค คือต้นตอของหายนะทั้งมวลหลังจากนั้นจนถึงวันนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์