ส่องเค้าลาง วิบากกรรมแก้ ‘รธน.60’

18 ส.ค. 2566 - 03:32

  • อ่านเค้าลางวิบากกรรมแก้ ‘รัฐธรรมนูญ 60’ ผ่านความคิดของ ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ กับฉากทัศน์ตามจุดยืนของ ‘เพื่อไทย - ก้าวไกล’

Perspective-Constitutional-Amendment-2560-SPACEBAR-Hero
จริงๆ เรื่องการผลัดดันให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็เคยถูกคว่ำแบบเละเทะเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว เมื่อคราวประชุมสภาฯ สมัยก่อนหน้านี้ แต่จะให้นิ่งเฉยต่อประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วน คงมิได้ เพราะเป็นช่วงจังหวะแห่งความหวังของประชาชน หลังเรื่องการแก้ไขร่าง รธน. ถูกขับเคลื่อนอีกครั้ง ในช่วงที่รัฐบาลแบบข้ามขั้วพันธุ์ผสมกำลังตั้งไข่

ยกอ้างตามเจตจำนงค์ของพรรคการเมืองปีกประชาธิปไตย ที่นิยามสืบมาว่า รธน. ฉบับนี้เป็น ‘ฉบับพิสดาร’ ซ่อนความพิลึกพิลั่นไว้อย่างแยบยล โดยคณะผู้ก่อการรัฐประหรปี 2557 หรือ‘คณะคสช.’ เพื่อใช้ประโยชน์ในการ ‘สืบทอดอำนาจ’ และ ‘ปิดกั้น’ ขั้วการเมืองหัวก้าวหน้า เข้ามามีบทบาทนำประเทศในฝ่ายบริหาร  

ทิศทางการเมืองวันนี้ ปฏิเสฐไม่ได้ว่ากลไกของ รธน. 60 สร้างอรรถผลประโยชน์โดยตรง กับกลุ่มการเมืองขั้วดั้งเดิม โดยเฉพาะในมาตรา 272  ที่ให้อำนาจ ‘วุฒิสมาชิก’ มีส่วนร่วมในโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ สร้างบาดแผลผ่านการเล่นงาน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จากพรรคก้าวไกลไปแล้ว ชนิดตอกฝาโลง  

ขณะเดียวกันในการโหวต ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกฯ คนตัวสูงจากพรรคเพื่อไทย ก็มีแววติดหล่ม ‘สว.’ อรหันต์อีกระลอก จากข้อยกอ้างหลายกระบวนความ จากทั้งในและนอกรัฐสภา ที่สามารถใช้เป็นความชอบธรรม ‘ไม่เห็นชอบ’ ได้อีกครั้ง หากฉากทัศน์ ‘นายกฯ ร่างท้วม’ จะต้องเกิดขึ้นจริงๆ ตามบัญชาจากสวรรค์

แต่จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของทั้ง 2 พรรคเริ่มขยับตัวเรื่องนี้ โดย ‘ก้าวไกล’ ในฐานะปีกประชาธิปไตย ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงหัวเดียวกระเทียมลีบ ได้ตระเตรียมโยธาลุยสภาหินอ่อน เข้าเสนอเป็นญัตติด่วนให้มีการออกเสียงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ ด้วยความเชื่อว่าเป็น ‘กระดุมเม็ดแรก’ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ ตามฉันทามติของประชาชน 

ขณะที่หลายวันก่อนหน้านี้ ทางพรรคเพื่อไทยเองก็ได้แถลงข่าว ว่าจะรีบเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น พร้อมยืนยันว่าเจตนารมณ์ยังคงแน่วแน่ พร้อมผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการและคณะ คสช. ซึ่งทั้งคู่ต่างขอความร่วมมือกับทุกพรรคเข้าให้การสนับสนุน 

เหตุผลหลายประการอาจดูตรงกัน แต่หากพิเคราะห์ด้วยปฏิภาณไหวพริบ ชั้นเด็กประถมของข้าพเจ้า มิอาจให้น้ำหนักได้เท่านักรัฐศาสตร์ ที่เข้าใจกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติอย่างแจ่มแจ้ง จึงไหว้วานให้ ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ช่วยสังเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น 

นักวิชาการจากสถาบันนิด้ามองว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ยังไม่เห็นความชัดเจนไก้ ว่าสรุปแล้วต้องการแก้ไขอะไรเป็นพิเศษ แต่การแถลงข่าวที่ออกมาเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง ในการบรรเทาความขุ่นเคืองของภาคประชาชน และเบี่ยงเบนความสนใจ ประเด็นการจับมือร่วมกับ ‘พรรคสองลุง’ มาร่วมรัฐบาล มากกว่านำเสนอแก่นสารจริงๆ ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กรณีหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวพิชายยังไม่มั่นใจว่ากระบวนการต่างๆ ที่ทางพรรคได้เสนอมาไม่ว่าจะเป็นการ จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือการทำประชามติ จะเกิดขึ้นจริงตามที่แถลงข่าวหรือไม่ เนื่องจากหากจับทางลมปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยค่อนข้างคล้อยตามกลุ่มอำนาจเก่า ดังนั้นเขา (พรรค) อาจไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้แบบจริงจังเท่าที่ควร  

“ที่ว่ามัน ณ ขณะนี้นะ แต่อนาคตสถานการณ์อาจเปลี่ยนก็ได้ ถ้าหากประชาชนเข้ามาเรียกร้องกดดันมากๆ อาจทำให้ท่าทีของพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนได้เหมือนกัน แต่บังเอิญตอนนี้ การอ้างที่จะเร่งแก้รัฐธรมนูญหลังการจัดตั้งรัฐบาล เป็นเกมการเมืองของเพื่อไทยมากกว่า” 

ในส่วนกระบวนการต่างๆ พิชายเชื่อว่า อาจใช้เวลามากกว่า 2 ปี เพราะ จากท่าทีอาจต้องทำประชามติหลายครั้ง ซึ่งการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงนี้เป็นจังหวะที่บ้านเมืองกำลังเกิดความขัดแย้ง ฉะนั้นจะเกิดการถกเถียงกันหนักขึ้น การจะหาข้อยุติอาจยากและต้องใช้เวลา ไม่เหมือนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2540 โดยเฉพาะการช่วงชิงพื้นที่ เพื่อบรรจุระเบียบวาระของแต่ละพรรคเข้าไปอย่างมากมาย ทำให้ระยะเวลาการร่างอาจยืดเยื้อไป  

“พอเพื่อไทยเขาเป็นรัฐบาล อาจมีการบอกว่าต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน รัฐธรรมนูญรอได้ มันจะออกมาแนวนี้ ฉะนั้นกว่าจะเริ่มเดินแก้รัฐธรรมนูญได้ ผมว่าก็อาจจะยื้อไปอีก มีความเป็นไปได้อาจเข้าสู่ปีที่ 3 - 4 ยิ่งมองตามฉากทัศน์รัฐบาลข้ามขั้ว อำนาจเก่าก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงาม มันเป็นประโยชน์กับพวกเขา จะแก้ทำไม” 

ถามทิ้งท้ายถึงประเด็น พรรคก้าวไกลเสนอขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 พรรคเพื่อไทยจะร่วมด้วยหรือไม่ พิชายอธิบายมุมมองของเขาว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะเห็นด้วยหรือเปล่า แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ ถือเป็นการสร้างความชัดเจนด้านเส้นทาง ว่าต่อจากนี้จะไปทิศทางไหนบ้างโดยเฉพาะประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ เสมือนเป็นการเสนอให้สังคมและรัฐสภาร่วมกันพิจารณา  

กรณีของพรรคก้าวไกลมีความชัดเจนคือต้อง ‘ยกร่างทั้งฉบับ’ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการ ‘ร่างทั้งฉบับ’ แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ที่พูดไว้ช่วงหาเสียง หรือแม้แต่กระทั้งพรรคเพื่อไทยเอง จะยกร่างแก้ไขแบบไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ประเด็นนี้จะกลายเป็นปมปัญหาที่ต้องถกเถียงกันในอนาคตอย่างชัดเจน 

ดูเอาเถิดประเด็น ‘ความชัดเจน’ และ ‘ไม่ชัดเจน’ ถูกหยิบกลับมาพูดถึงอีกระลอก จะมองเป็น ‘เกม’ แบบชาวการเมืองฮาร์ตคอก็มองได้ จะมองเรื่องข้อผูกมัดด้านประโยชน์ของประชาชนก็ไม่ผิด อยู่ที่คุณจะมองมุมไหนเท่านั้นเอง  
แต่เชื่อเถิด เค้าลางที่ส่อถึง ‘วิบากกรรม’ มันเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ยากจะทำนายล่วงหน้า ชอบคำเปรียบเปรยอยู่ประโยคหนึ่ง เขาบอกว่า รธน. ฉบับนี้ ไม่ได้มีไว้ ‘แก้ไข’ แต่มีไว้เพื่อ ‘ฉีกทั้งฉบับ’ มันหมายความว่าอะไร เชิญผู้อ่านคิดต่อกันเอง 

เอวัง จบสวยไม่สวย รอติดตามกันต่อไปครับ!   

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์