เช็กกับดักขวาง ‘พิธา’ วันโหวตนายกฯ

11 ก.ค. 2566 - 09:31

  • เปิดข้อวิตกของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (ครั้งแรก)

Pitha-the-vote-to-elect-the-Prime-Minister-SPACEBAR-Hero
เข้าสู่ช่วงนับถอยหลัง การโหวต ‘นายกรัฐมนตรีคนที่ 30’ ที่มี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ออกตัวทำหน้าที่ ‘นายกฯ จำแลง’ ตั้งแต่ระฆังยกแรกยังไม่เคาะ ทำให้ 2 วันสุดท้ายนี้ มีหลายอย่างที่ต้อง ‘ทำนาย’ เพราะหลายประเด็นยังคาบลูกคาบดอก บอกอะไรตอนนี้มิได้ 

อย่างท่าที ‘ส.ว.’ 250 อรหันต์ ทำตนเยี่ยงปราการมนุษย์ชั้นเลิศ คอยสกัดกั้นไม่ให้ ‘หนุ่มทิม’ เดินถึงเชิงบันใดตึกไทยคู่ฟ้า แม้ก่อนหน้านี้ ‘ก้าวไกล’ และพรรคพันธมิตรจะส่งทูตเข้าเจรจา จนกระแสช่วงแรกมีความหวัง หลังมีการปล่อยข่าวว่า วุฒิสภาจำนวนกว่า 20 เสียง เต็มใจโหวตสนับสนุน ให้กับพรรคที่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1  

แต่พักหลังเริ่มประหวั่น มีข่าวปล่อยจากฝากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ระบุว่า ส.ว.บางคน ‘กลับใจ’ ส่งผลให้เสียง ที่จะมาเติมเต็มโจทย์ 376 มีช่องว่างเพิ่มขึ้น ทำเอาเครื่องจักรสีส้มต้องปาดเหงื่อ ลุ้นเอาจะได้เท่าไหร่ 

ในแง่คุณสมบัติ ยังมีอีก 2 ด่านที่ ‘พ่อส้ม’ ต้องฝ่าฟัน ด่านแรก ต้องรอลุ้นว่า ‘กกต.’ จะตีลูกส่ง‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ หรือไม่ ถ้ามีมติวินิจฉัยประเด็นการถือหุ้น (ซาก) ‘ไอทีวี’ และต้องลุ้นว่าตุลาการศาล รธน. จะรับเรื่องเลยหรือเปล่า แล้วจะสั่งให้ ‘พิธา’ ยุติการปฏิบัติหน้าที่เลยหรือไม่  

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลด้านความเชื่อมั่นทั้ง สภาบน - ล่าง ในการ ‘ตัดสินใจโหวต’ เรื่องนี้ กกต. จะนัดถกพิเศษก่อนสภาฯ เปิดเพียงวันเดียว เรียกว่าต้องลุ้นกันจนปัสสาวะเหนียว ว่าจะส่งให้ศาลฯ ท่านพิจารณาภายในวันโหวตนายกฯ หรือไม่ 

ด่านที่สองที่ต้องจับตาอย่างไม่กระพริบ คือ กรณีที่ประชุมศาล รธน.มีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด รับคำร้อง คดี ‘พิธา - ก้าวไกล’ เสนอแก้ ม.112 ล้มล้างการปกครองหรือไม่ พร้อมให้แจ้งต่อศาลฯ ทราบภายใน 15 วัน  

โดยรับดำเนินการตามที่ ‘ธีรยุทธ สุวรรณเกษร’ ทนายความ (อดีต) พุทธอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการพฤติกรรมของ ‘หนุ่มทิม’ และ ‘พรรคส้ม’ ที่เสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ในการหาเสียง จะเป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ 

ล่าสุดอัยการสูงสุดได้ลงนาม ในหนังสือตอบกลับไปยังศาลแล้ว ส่วนรายละเอียดหนังสือตอบกลับขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และอัยการก็จะดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไป 

2 ด่านหินนี้ น่ากังวลพอๆ กับ ส.ว. แต่อีกไม่กี่วันคงรู้กัน  

สำหรับ ‘ยุทธศาสตร์การเดินเกม’ ของเครื่องจักรสีส้ม มักทำเคียงคู่ไปกับ ‘มวลชน’ จนสร้างปรากฏการณ์หักปากกาเซียนมาแล้วในวันเลือกตั้ง รอบนี้ภารกิจสำคัญของ ‘หนุ่มทิม’ คือการเดินหน้าเต็มสูบ เพื่อเข้าป้าย ‘สร.1’ บรรยากาศช่วงโค้งสุดท้าย นอกจากการหารือกับพรรคร่วม หรือการเข้าทาบทาม ส.ว. แต่ยังมีการนำขบวนทีมงานก้าวไกล เดินสายขอบคุณคะแนนเสียงจากประชาชนหลายจังหวัด กล่าวในเชิงกลยุทธ์ อาจเป็นการจุดกระแส ‘มวลชนออแกนิค’ ให้เบ่งบานสะพรั่ง เหมือนวันที่ 14 พฤษภาคม  

‘ชาวด้อมส้ม’ และเครือข่ายประชาธิปไตย ที่อยากเห็นรัฐบาลในฝัน เริ่มส่งสัญญาณตอบรับ โดยมีรายงานว่า วันที่ 13 ก.ค. ทั้ง 14 กลุ่มแนวร่วม จะนัดรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาอันศักดิ์สิทธิ์ กดดัน ‘ส.ส.’ และ ‘ส.ว.’ พิจารณาลงมติตามครรลองที่ถูกต้องตามแบบ ปชต. ‘โหวตพ่อส้ม’ เข้าทำเนียบฯ 

‘มวลชนดุจดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็ก’ เป็นขุมพลังที่น่าเกรงขาม ทุกยุคทุกสมัย ยิ่งรอบนี้ยิ่งเห็นพลัง ไม่ได้แรงแค่บนโซเชียลฯ แต่ลุกลามไปถึงสนามเลือกตั้ง จึงไม่แปลกที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะโหมโรง ส่งสัญญาณก่อนการเลือกนายกฯ เพียง 2 วัน อัดคลิปส่งสารไปถึง ส.ส. - ส.ว. เผยแพร่บนโลกโซเชียลฯ ตามเกมที่ถนัด โดยยกอ้างมติของประชาชน 14,438,851 เสียง ที่เลือกพรรคก้าวไกล เป็นเหตุผลหลัก ในการอ้อนขอเสียงสนับสนุน 

พร้อมปฏิเสธว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม ไม่ใช่การเลือกพิธา ไม่ใช่การเลือกพรรคก้าวไกล แต่คือการเลือกเพื่อยืนยันว่าประเทศไทย ต้องเดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตยแบบปกติ 

“ผมขอสื่อสารไปถึง ส.ส. และส.ว. ทุกท่าน ท่านอาจไม่ชอบแนวทางการเมืองของพวกเรา ในระบบการเมืองปกติพวกท่านตรวจสอบผมได้ โจมตีผมได้ โหวตผมออกจากตำแหน่งนายกฯ ก็ยังทำได้ แต่การโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมาก คือการให้โอกาสประเทศไทยเดินหน้าในแบบที่ควรจะเป็น ในโอกาสนี้ผมขอสื่อสารไปถึงประชาชน เราผ่านวันเลือกตั้งมาแล้ว แต่ภารกิจยังไม่สำเร็จ การเปลี่ยนแปลงประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีรัฐบาลเสียงข้างมากที่จะนำพาประเทศไปสู่ข้างหน้า 

อย่างไรเสีย ไม่มีใครทราบได้ว่า ‘พลังบริสุทธิ์’ จะสามารถกดดันให้วุฒิสภาบางส่วนเปลี่ยนแนวคิด เข้าเพิ่มจำนวน ‘ส.ว.ก๊วนลูกโดด’ ส่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลใกล้ฝันยิ่งขึ้น (หรือไม่) 

ในขณะที่การรวมตัวของม็อบ ตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง อาจเป็นจุดเปลี่ยน ‘เข้าแผน’ ให้ ส.ว. ‘ลูกปลาย’ เพราะมีกระแสข่าวว่า ฉากทัศน์ การเมืองในอีก 2 วันข้างหน้า อาจมี ส.ว.บางส่วน ไม่มาร่วมประชุม โดยจะใช้เหตุผล ‘ความปลอดภัย’ แก้ข้อครหา ‘ลากตั้ง’ เมื่อเสียงไม่ครบองค์ทุกอย่างก็จบเห่  

วิเคราะห์กันต่อเนื่องไปจนถึงการโหวตเลือกนายกฯ หลายคนเชื่อว่า ‘รอบแรก’ เสมือนเป็น ‘การลองเชิง’ เพราะตามคำทำนาย (ที่ดูเป็นไปได้มากที่สุด) พิธาจะไม่ได้เป็น ‘นายกฯ’ ผ่านการโหวตเลือกเพียงครั้งเดียว แผนที่ 2 จึงกำหนดวันโหวตในครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 โดยกำกับเป็นวันที่ 19 และ 20 ก.ค. 

เว้นช่วง ‘เช็กลิสต์’ พักหายใจ ช่วยกันหาช่องว่างที่ขาดหายมีกี่เสียง พร้อมหารือต่อเนื่องถึงประเด็นการโหวตครั้งต่อไป ว่า ‘แคนดิเดตนายกฯ’ จะเป็น ‘พิธา’ ดั่งเดิมหรือไม่ นักวิชาการหลายท่านมองว่า ช่วงนี้คือ ‘ชั่วโมงวัดใจ’ 8 พรรคพันธมิตรจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ อยู่ที่ตอนนี้แหล่ะ  

จังหวะต่อเนื่อง คือ หากคะแนนเสียงที่ ส.ว. ให้มาขาดไม่มาก ‘พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล’ อาจต้องย้อนกลับไปเกมเก่า ที่เคยรณรงค์ช่วงเลือกตั้ว ‘ปิดสวิซต์ ส.ว.’ ผ่านการลดเพดานนโยบายต่างๆ ที่โดดเด่นท้าทาย โดยเฉพาะเรื่อง ม.112 เปิดทางให้ขั้วรัฐบาลเก่า (บางพรรค) อย่าง ‘ภูมิใจไทย’ หรือ ‘ประชาธิปัตย์’ โดดเข้าร่วมเติมเสียงให้เกิน 376  

แต่ระวัง ฉากทัศน์พิสดารที่หลายคนกลัว เพราะ ‘รัฐบาลปรองดอง’ ที่ไร้ชื่อ ‘ก้าวไกล’ อาจเกิดขึ้นได้ ในการโหวต 2 รอบหลัง และเชื่อเถิด ส.ว.คงไม่มีทางขัดขา เพราะรายชื่อแคนดิเดตไม่ใช่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แต่เป็น ‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์