‘โหวตนายกฯ’ เดิมพันอนาคตไทย

12 ก.ค. 2566 - 07:53

  • อ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการ ‘โหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30’ กับการเดิมพันอนาคตของประเทศ ‘ระวังสึนามิสีส้ม’

Political-events-before-vote-to-elect-the-Prime-Minister-SPACEBAR-Thumbnail
ไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อจากนี้ สภาจะเข้าสู่มหกรรมการโหวต ‘นายกรัฐมนตรี’ มีแนวโน้มว่ารอบนี้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จะเป็นผู้เดียวที่ถูกเสนอชื่อ แม้จะไม่มีผู้ท้าชิง แต่ความท้าทายของ ‘พ่อส้ม’ ขึ้นอยู่กับรัฐสภาทั้งหมด 750 เสียง ใครจะสนับสนุนบ้าง?  

เมื่อเปิดบัญชีเช็กชื่อจะพบว่า ขณะนี้ ‘พรรคก้าวไกล’ และพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 มีเสียงที่จะโหวตสนับสนุน ‘พิธา’ ราว 312 เสียง บวกลบส่วนต่างจะต้องหา ‘ส.ว.’ โปะช่องโหว่ว ประมาณ 65 เสียง เพื่อการันตีเส้นชัยแบบพอดิพอดี 376 แต้ม 

อุปสรรคสำคัญอยู่ที่สภาสูง เพราะ ‘วิปส.ว.’ ส่วนใหญ่มีแนวทางชัดเจน ‘ไม่สนับสนุน’ และ ‘งดออกเสียง’ ซึ่งมีค่าเท่ากับ ‘ไร้เสียงเกื้อหนุน’ แม้จะมีวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่ง ‘แตกแถว’ มีแววโหวตหัวหน้าพรรคส้มขึ้นบัลลังก์ แต่ด้วยคะแนน (จากการเช็กของสื่อ) ไม่น่าเกิน 20 เสียง ยังคงห่างไกลกับตัวเลขประกาศิต 

ในขณะที่ผู้คนกำลังจับจ้องไปที่สภาเกียกกาย แต่ก็มีกระแสแรงควบคู่บนโลกโซเชียลฯ จากการโพสต์ข้อความของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ผ่านเฟซบุ๊กของ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ เป็นใจความจากก้นบึ้ง ‘ขอยุติบทบาททางการเมือง’ โบกมืออำลา รทสช.และเพื่อนพ้อง ท่ามกลางความงุนงงของนักข่าวทำเนียบฯ และบรรดารัฐมนตรี อย่าง ‘เสี่ยหนู’ เจ้ากระทรวงหมอ ถึงกลับออกมาให้ข่าวว่า ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่พลเอกประยุทธ์หลุดออกมา แม้กระทั่งวงลับอย่างการประชุม ครม. 

ถ้อยแถลงจาก ‘บิ๊กตู่’ ถูกนำไปวิเคราะห์ออกมา ได้หลายหน้ากระดาษ ทั้งประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหา ‘ลากตั้ง’ ผ่านการเป็นแกนนำจัดตั้ง ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ อีกประเด็นที่นักข่าวตั้งสมมติฐานว่าอดีตหัวหน้า คสช. อาจกำลังส่งสัญญาณ ‘ถอย’ ให้ใครรับรู้หรือเปล่า 

ปุจฉาที่ตั้งขึ้นไม่มีใครตอบได้ แต่หากผูกโยงเข้ากับทฤษฎีฉากทัศน์พิศดาร ‘พลิกขั้วผสมโรง’ ระหว่าง 3 พรรคหลักอันได้แก่ ‘เพื่อไทย - ภูมิใจไทย - พลังประชารัฐ’ ออกสูตรนี้ นายกฯ คนที่ 30 คงไม่พ้นชื่อ ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’  

อย่างไรก็ดี การโยนผ้าขาวประกาศยอมถอยของประยุทธ์ อาจส่งผลทางตรงและทางอ้อม กับ ‘สภาหินอ่อน’ บางความเห็นเชื่อในมุมบวก ส.ว. (ผู้ได้รับแต่งตั้งมาจาก คสช.) บางคนที่ถูกกรอบอะไรบางอย่างล็อบบี้ไว้ จะถูกปลดเปลื้องจากบ่วงพันธนาการไปเปาะหนึ่ง อาจเห็นกระสุน ‘ลูกปลาย’ กระเด็นพลาดเป้า แบ่งแต้มให้แคนดิเดตจากพรรคส้ม เพิ่มจำนวนขึ้น 

แต่อีกมุมน่าสนใจ มาจากสมมติฐานที่คุยไว้ ว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ ที่ก่อนหน้านี้ถูกแบ่งก๊กเป็น 2 สาย ‘ตู่ - ป้อม’ จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากมีชื่อ ‘ประวิตร’ ขึ้นบอร์ด  

การที่ ส.ว.ส่วนใหญ่จะร่วมสร้างปรากฏการณ์เป็น ‘ป๋าดัน’ ให้หัวหน้าแก๊งส้มเป็นเรื่องยาก และไม่มีทางเป็นไปได้จากหลายเหตุที่ยกอ้างไว้ โดยเฉพาะนโยบายการแก้ไข ม.112 ที่แม้เครื่องจักรสีส้มจะลดเพดาน - ถอยสุดซอย ล้มแผน ‘ยกเลิก’ แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะพลพรรคคนรุ่นใหม่ถูกตราหน้าเป็น ‘คนชังชาติ’ ไปแล้ว 

อย่างไรเสีย ยังมีข่าวใหญ่สะพัดก่อนโหวตนายกฯ เพียง 1 วัน จากกรณี ‘แจกกล้วยล็อบบี้’ โดยผู้ร้องทุกเป็น ส.ว. หญิงท่านหนึ่ง ออกมาตัดพ้อว่า มีการเสนอผลประโยชน์ เพื่อแลกกับการไม่โหวตสนับสนุน ‘พิธา’ เธอผู้นั้นมีนามว่ากระไร ยังไม่ทราบ แต่เท่าที่เห็นอาการ ‘จุกอก’ เชื่อว่ากลไกที่มองให้เห็นยังมีอยู่ แต่จะถึงขั้นเสนอเป็นเงินถุงเงินถังหรือไม่ เรื่องนี้ตัดสินเองลำบาก 

แต่เมื่อถูกสื่อนำเสนอเป็นข่าวใหญ่ ท่าทีของวุฒิสมาชิก คงถูกจับจ้องทุกอริยาบท หากในวันที่ 13 กรกฎาคม (หรือการโหวตครั้งอื่นๆ) มีการเล่นไม่ซื่อ อาจถูกประชาชนตีขลุมว่า ‘รับกล้วย’ เสียทั้งชื่อ - นามสกุลไปอีกนมนาน แม้จะไม่มีใครรู้ว่าเรื่องดังกล่าวจริงเท็จแค่ไหน แต่เมื่อมีข่าวหลุดแบบนี้ ยิ่งทำให้สถานการณ์ทวีความเร่าร้อนสุกงอม มีหรือด้อมส้มจะไม่อาละวาด  

อีกประเด็นที่สร้างความวิตกให้มวลชน คือ กรณี ‘กกต.’ สรุปมติชงเรื่องการพิจารณคุณสมบัติ ‘พิธา’ กรณีถือหุ้นสื่อ ‘เศษซากไอทีวี’ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘พ้น ส.ส. หรือไม่’ และต้อง ‘หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวหรือไม่’ เชื่อเถิดไม่เกินจริง หากพลิกผันขึ้นมา ปรากฏการณ์วันโหวตนายกฯ จะแปรสภาพจากหน้ามือเป็นหลังบาทา ทั้งหมด  

แม้นักข่าวจะได้รับรายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงของศาล รธน. ว่า ยังไม่สามารถถกประเด็นให้สะเด็ดน้ำได้ภายในวันนี้ เพราะมีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของคำร้อง และการพิจารณารับคำรอง 

ทว่าลองคาดการณ์ดู หากการสรุปผลของศาลฯ ท่านชี้ออกมาในช่วงสัปดาห์หน้า จะเป็นจังหวะช่วงการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ที่หลายฝ่ายมองตรงกันว่าเป็นช่วงเวลา ‘เปาะบาง’ ที่สุด สำหรับพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หากพิธาไม่ได้รับเลือกในวันพรุ่งนี้ พรรคพันธมิตรอาจต้องวางแผนเดินเกมใหม่ เรื่องจะส่งพ่อส้มลงชิงชัยอีกครั้งหรือไม่ คงต้องจับตาดู  

ในส่วนภาคประชาชน แม้จะยังไม่มีเหตุอะไรให้ตื่นเต้น แต่ก็เห็นความเคลื่อนไหวของมวลชนมากกว่า 13 กลุ่ม นัดหมายรวมตัวเดินทางมายังอาคารรัฐสภา เป็นกำลังใจ ‘หนุ่มทิม’ และมิตรสหาย อีกทั้งเป็นการกดดันทางอ้อมให้สภาผู้ทรงเกียรติ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามครรลองประชาธิปไตย 

โหวตผ่านม้วนเดียวจบคลื่นลมคงสงบ แต่หากเกิดปรากฏการณ์พิสดาร หรือถูกแทรกซ้อนอย่างไม่เป็นธรรม โดย ‘ขบวนการฟันปลอม’ (บางกลุ่ม) แนวร่วม ‘ฟันน้ำนม’ คงพร้อมจะลงถนน ‘ตากฝน’ เสริมกำลังเป็น ‘กันชน’ ให้พรรคก้าวไกล นี่จึงเป็นความสำคัญที่เชื่อมโยงได้ว่าการโหวตนายกฯ มีผลต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับอนาคตของประเทศไทย 

ระวังให้ดีเถิด ‘สึนามิสีส้ม’ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เพราะพิสูจน์มาแล้วจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา…

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์