ในวันที่ประชานิยมกลับมาหลอกหลอนประเทศไทยอีกครั้ง

24 ม.ค. 2566 - 09:29

  • นิยามของประชานิยมที่อิงกับการเมืองมากขึ้นจะทำให้เราเข้าใจความขัดแย้งในไทยได้ชัดขึ้น

  • ที่ผ่านมาเรามองประชานิยมเป็นแค่ความเคลื่อนไหวด้านนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ

Reemergence-of-populism-in-thailand-political-arena-SPACEBAR-Hero
แม้ว่าในระยะเกือบ 10 ปีมานี้ พรรคฝ่ายค้าน ทั้งเพื่อไทยและและก้าวไกลที่เกิดมาไม่กี่ปีมานี้จะสามารถเรียกคะแนนสงสารจากชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ได้พอสมควร ในฐานะ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ และการกำหนดสถานะตัวเองเป็น ฝ่ายก้าวหน้า VS ฝ่ายอนุรักษ์นิยม 

แต่เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยมีอำนาจขึ้นมา สิ่งที่จะวัดกันไม่ได้อยู่ที่ความเป็นประชาธิปไตย (เพราะได้มันมาแล้ว) แต่ขึ้นอยู่กับว่าผลประโยชน์ของประชาชนกลุ่มไหนได้รับการตอบสนองแค่ไหน และฝ่ายไหนที่เสียประโยชน์จากการกระทำของรัฐบาลใหม่ 

เมื่อดูนโยบายของเพื่อไทยจะพบว่ามีความสุดโต่งไปด้านรากหญ้า (ภาคเกษตร) ซึ่งเป็นฐานเสียงในต่างจังหวัด นโยบายอีกด้านหนึ่งสุดโต่งไปที่การเอื้อการลงทุน (ภาคนายทุน) แต่ชนชั้นกลาง (ที่เห็นอกเห็นใจ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’) กลับถูกละเลย  

นั่นเพราะฐานของเพื่อไทยไม่ใช่ชนชั้นกลาง แต่เป็นรากหญ้าต่างจังหวัด นโยบายของไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยล้วนแต่ตอบสนองคนนอกเมืองไม่ใช่คนในเมือง 

โปรดทราบว่า กลุ่มชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่เสียภาษีรายได้กลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่นอกจากเพื่อไทยจะไม่มีนโยบายโอบอุ้มแล้ว ยังมีนโยบาย ‘เงินโอน คนสร้างตัว’ (Earned Income Tax; EIT) นั่นคือ คนมีรายได้น้อย แทนที่จะเสียภาษี กลับจะได้รับเงินภาษีไปแทน  

นโยบายนี้อ้างว่าเพื่อลดความยากจน แต่มองยังไงก็เป็น ‘ประชานิยม’ และเงินที่นำมาใช้ก็เป็นภาษีจากคนชั้นกลาง 

เชื่อว่าหากใช้นโยบายนี้จริง มันจะกลายเป็นความตึงเครียดระหว่างเพื่อไทยกับกลุ่มชั้นกลาง จนอาจทำให้ชนชั้นกลางที่เคยเห็นใจ กลับเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกับเพื่อไทยและทักษิณขึ้นมาแทน จนเกิดวงจรคนชั้นกลางโค่นรัฐบาลรากหญ้าขึ้นมาอีกครั้ง 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นผลมาจากการกำหนดสถานะที่กำกวมของเพื่อไทย ที่แต่ไหนแต่ไรมาใช้แนวทางประชานิยม โดยสร้างฝ่ายที่ขัดแย้งขึ้นมาระหว่าง ‘ชนชั้นด้อยกว่า’ VS ‘ชนชั้นสูงกว่า’ 

ประชานิยมคือการแบ่งแยกและปกครอง 

คนไทยรู้จักประชานิยมกันน้อยเกินไป แม้ว่าคำๆ นี้ถูกใช้ครั้งแรกในยุครัฐบาลเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตร แต่ทุกวันนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่า ‘ประชานิยม’ หมายถึงนโยบายลด แลก แจก แถม หรือเอาเงินงบประมาณไปหว่านให้ประชาชนผ่านนโยบายต่างๆ โดยไม่แคร์ว่านโยบายนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ เพียงแค่จะให้พวกเขาปลาบปลื้มกับรัฐบาลและพรรครัฐบาล  

แต่ ‘ประชานิยม’ ที่ว่านั้นฉาบฉวยเกินไป และไม่ใช่ต้นตอของความขัดแย้งในสังคม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าที่เข้าใจกันผิดก็เพราะก่อนหน้านี้นิยามของ ‘ประชานิยม’ (Populism) ค่อนข้างไม่ชัดเจน แต่ในระยะหลังเริ่มมีความชัดเจนและเป็นไปในทางเดียวกันมากขึ้น  

นิยามของประชานิยม ก็คือ การใช้นโยบายเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มใหญ่ของสังคม ที่เรียกว่า ‘ประชาชนคนเดินดิน/คนรากหญ้า’ (The people/Grassroot) โดยทำให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากกลุ่ม ‘ชนชั้นนำ’ (Elites)  

พรรคหรือรัฐบาลประชานิยมจะชี้ชวนให้ ‘รากหญ้า’ เห็นว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบจาก ‘ชนชั้นนำ’ และพยายามยกย่องรากหญ้าว่าเป็นเจ้าของอำนาจการเมืองที่แท้จริง และรากหญ้าควรจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า แทนที่จะถูกขูดรีดหรือเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นนำ รัฐบาลหรือพรรคประชานิยมก็จะยกระดับรากหญ้าด้วยนโยบายต่างๆ ที่อาจทำให้ชนชั้นนำเสียประโยชน์ 

ดังนั้น ประชานิยมคือการสร้าง ‘คู่ตรงข้าม’ หรือเรียกในภาษาวิชาการว่า ‘ความเป็นอื่น’ (The Other) เช่น ชนชั้นนำเป็นอื่นกับรากหญ้า นายทุนเป็นอื่นกับลูกจ้าง สถาบันหลักของประเทศ (The Establishments) เป็นอื่นกับประชาชนคนเดินดิน เป็นต้น หรือแม้แต่การสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างคนพวกเดียวกันกับคนต่างพวก หรือ us (พวกเรา) กับ them (พวกนั้น) 

ดังนั้น นโยบายประชานิยมจึงอาจทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง ‘ชนชั้น’ ต่างๆ ในสังคม และไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของการแจกเงินเสมอไป (แต่การ ‘แจกเงิน’ เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนประชานิยม) ไม่อย่างนั้น พรรคการเมืองบางพรรคที่ลอกนโยบายของทักษิณก็ควรเรียกว่าเป็นพรรคประชานิยมด้วย แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันไม่ใช่ 

แม้ว่าจะใช้นโยบายลด แลก แจก แถม แต่พรรคนั้นไม่ได้สร้างคู่ตรงข้ามขึ้นมาเพื่อให้ฐานเสียงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนต้องลุกขึ้นสู้ ตราบนั้นยังไม่ถือเป็นประชานิยม 

เราจะเห็นได้จากยุคแรกของเพื่อไทย (คือยุคไทยรักไทย) ที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรากหญ้า (เสื้อแดง) กับชนชั้นนำ (ที่ถูกเรียกว่าอำมาตย์) และโดยที่มันอิงกับนโยบายกระจายเงิน ซึ่งไม่ใช่การแจกเงินแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นการให้โอกาสทางเศรษฐกิจให้รากหญ้า มันจึงเป็นความขัดแย้งในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ใช่เรื่องการเมืองเพียวๆ  

ฝ่ายตรงข้ามช่างอ่อนด้อย 

ในยุคของทักษิณนั้น ประชานิยมถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากพรรคการเมืองตัวแทนชนชั้นนำและชนชั้นกลาง (ในตอนนั้นชนชั้นกลางยังเป็นแนวร่วมกับชนชั้นนำ) แต่วิธีการตอบโต้ของพรรคการเมืองพวกนี้อ่อนด้อยเกินไป จนกลายเป็นการย้ำให้ประชานิยมยิ่งแข็งแกร่ง 

มันคล้ายกับกรณีของเวเนซุเอลาในยุคของประธานาธิบดี อูโก ชาเบซ ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับทักษิณและไทยในยุคของทักษิณมักถูกเทียบว่าคล้ายกับเวเนซุเอลา 

ในยุคของ อูโก ชาเบซ เขาวิธีทำให้ฐานเสียงคนรากหญ้ารู้สึกเป็นศัตรูกับชนชั้นนำและชนชั้นนายทุน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ และรู้สึกว่าจะต้องแย่งชิงความมั่งคั่งจากคนเหล่านั้นมาเฉลี่ยให้กับพวกตนบ้าง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับ อูโก ชาเบซ แทนที่จะผลิตนโยบายดีๆ ขึ้นมาสู้ กลับไปโจมตีที่ตัวบุคคลแทน ยิ่งทำให้ฝ่ายเชียร์ ชาเบซ รู้สึกเห็นใจเขาและเกิดความชิงชัง ‘ความเป็นอื่น’ มากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือการตอกย้ำวาทกรรมประชานิยมให้เป็นที่นิยมไปโดยปริยาย พูดง่ายๆ คือ เข้าทางชาเบซแบบไม่รู้ตัว 

พรรคการเมืองจำพวกนี้มีในเมืองไทยเช่นกันในยุคประชานิยมของทักษิณ หาก ‘เกิดทันยุคนั้น’ จะรู้ว่าปฏิกริยาของพรรคการเมืองอื่นต่อต้านประชานิยม แทนที่จะแก้ไขกันที่นโยบายที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างชนชั้น กลับไปย้ำความเป็นศัตรูกันให้มากขึ้นไปอีก  

ความเป็นศัตรูแบบนี้ หากเป็นเมื่อสองทศวรรษก่อน มันจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวของคนเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาล หากไม่เดินลงถนนเอง ก็จะเรียกร้องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ แต่ทุกวันนี้จักรวาลการเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว  

ในยุคแรกของประชานิยมโดยทักษิณ ชนชั้นกลางออกมาเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำถึง 2 ครั้ง (ปรากฏการณ์เสื้อเหลืองและขบวนการ กปปส.) จนหลังจากเกิดการยึดอำนาจ ดูเหมือนว่าชนชั้นกลางจะเลือกที่ยืนข้างรากหญ้าเพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านทหารและเรียกร้องประชาธิปไตย นี่คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญของจักรวาลการเมืองไทย ซึ่งนั่นก็เพราะชนชั้นกลางไม่มีพรรคการเมืองที่สนองพวกเขาได้ เพราะพรรคที่ควรจะทำได้ ดันไปเล่นตามเกมวาทกรรมประชานิยมที่สร้างคู่ขัดแย้ง แทนที่จะประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ  

แต่การเข้าข้าง ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ของชนชั้นกลางก็ไม่ยั่งยืนอีกนั่นแหละ เพราะนโยบายของเพื่อไทยเป็นประชานิยมเพื่อรากหญ้ามาแต่ไหนแต่ไร เมื่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง ก็อาจทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นกลาง เพราะนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล  

เราจะเห็นความขัดแย้งนี้เผยตัวออกมา ตอนที่เพื่อไทยประกาศนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท ผลก็คือแม้แต่ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ด้วยกันก็ยังโอดครวญ เพราะพวกเขาเป็นชนชั้นกลาง และกลัวว่าต้นทุนธุรกิจของพวกเขาจะเสียหาย 

ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยเสนอทฤษฎีที่ชื่อ ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ที่ชี้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 2530 การเมืองในไทยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การเมืองของคนในชนบท (หรือรากหญ้า) กับการเมืองของคนชั้นกลางในเมือง  

คนในชนบทเป็นเสียงส่วนใหญ่ พรรคการเมืองจึงใช้ฐานเสียงกลุ่มนี้เพื่อสร้างพลังให้ตนเอง (โดยไม่ได้สร้างคู่ตรงข้ามแบบประชานิยม เพียงแต่เน้นหาเสียงกลับกลุ่มนี้) แล้วคนในชทบทก็จะเลือกพรรคที่ชอบหรือคนที่ตัวเองคิดว่าใช่เข้ามาโดยไม่คิดอะไรมากเพราะอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของพรรคการเมือง คือ ชนชั้นกลางในเมือง ชนชั้นกลางที่เริ่มทนไม่ไหวเพราะตัวเองไม่ได้เลือกพรรคเหล่านี้เข้ามาก็จะเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อโจมตีรัฐบาล ในบางกรณีถึงกับเชื้อเชิญทหารให้มายึดอำนาจ 

จึงเป็นที่มาของคำว่า “คนชนบทเลือกรัฐบาล คนในเมืองล้มรัฐบาล” เป็นความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยกันคนละแบบของ ‘สองนครา’ คือ นคราต่างจังหวัดกับนคราในเขตเมือง 

ทฤษฎีนี้แม้จะฟังดูการเมืองเต็มขั้น แต่เจ้าของทฤษฎีบอกว่ามันขึ้นกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เพราะฐานะของคนในประเทศไทยในเวลานั้นแตกต่างกันเกินไป ขณะที่คนต่างจังหวัดยังทำเกษตรแบบพอมีพอกิน แต่คนในเมืองเป็นทุนนิยมเต็มตัว เมื่อนโยบายของพรรคการเมืองไม่ได้เกื้อหนุนทุนนิยมของคนเมือง คนเมืองจึงต้องลุกขึ้นมาขับไล่ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรรคนั้นมา 

ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยอาจจะเก่าไปแล้วในแง่เงื่อนไขการเมือง แต่ถ้ามองด้วยเงื่อนไขเศรษฐกิจเราจะพบว่ามันยังไม่เปลี่ยนไปนัก และด้วยช่องว่าทางเศรษฐกิจที่ถ่างออกมาก จึงเป็นเหตุให้พรรคการเมืองบางพรรคเสนอนโยบายประชานิยมเพื่อกุมหัวใจคนต่างจังหวัด โดยบอกว่าความยากจนของพวกเขาเกิดขึ้นมาจาก ‘โครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว’ และต้องกำจัดโครงสร้างที่บิดเบี้ยวนั้น 

วิธีแก้ไขในทัศนะของเจ้าของทฤษฎีจึงต้องสร้างทุนนิยมให้แข็งแกร่งทั้งประเทศ หรือทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากทุนนิยมเท่าๆ กันไม่เฉพาะแค่นายทุน เพื่อทำให้ระบอบประชาธิปไตยแกร่งไปด้วย แต่กลายเป็นว่าเรื่องนั้นยังไม่เกิดขึ้น เพราะพรรคต่างๆ กลับเลือกใช้ ‘ประชานิยม’ ที่สร้างคู่ขัดแย้งที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยกว่าความเป็น ‘สองนคราประชาธิปไตยเสียอีก’ 

การสร้างคู่ตรงข้ามอาจให้ผลตรงกันข้าม 

แม้ว่าบางพรรคการเมืองจะโอ๋คนรากหญ้า ท้าทายชนชั้นนำ แต่พอเรือถึงฝั่งแล้วกลับไม่ดูดำดูดีชนชั้นกลาง เป็นเหตุให้ชนชั้นกลางต้องทำหน้าที่แบบสองนคราประชาธิปไตยต่อไป นั่นคือ ออกมาล้มรัฐบาลประชานิยมมันเสียเลย 

เพื่อปกป้องไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทักษิณ ชินวัตร จึงพยายาม Rebranding ตัวเองให้จับใจชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ยังไม่ทำงาน และพรรคเพื่อไทยพยายามจะเอาใจชนชั้นกลางด้วยนโยบายเพิ่มเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี ซึ่งมันค่อนข้างจะฉาบฉวยเกินไป เพราะนักศึกษาจบใหม่ยังไม่ใช่พลังของชนชั้นกลางที่ทำงานแล้ว แถมการกำหนดค่าแรงเด็กจบใหม่สูงขนาดนั้นยังจะสร้างภาระทางการเมืองของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย  

เพื่อไทยควรเข้าใจว่าอัตราค่าจ้างจริง (Real wage growth rate) ทั่วโลกลดลงมานานหลายปีแล้ว และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยังชี้ว่า แรงงานต้องแบกรับปัจจัยจากการชะลอตัวของ GDP ในขณะที่นายทุนได้รับปัจจัยบวก หมายความว่า ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นแรงงานต้องแบกรับภาระ แต่นายทุนกับกอบโกยผลกำไร  

เราจะเห็นว่าปัญหาค่าแรงต่ำไม่ใช่ปัญหาระหว่างสองนคราประชาธิปไตย ไม่ใช่การปะทะของคนทำนาทำไร่กับคนทำงานออฟฟิศ แต่เป็นปัญหาระหว่างคนขายแรงทุกประเภทกับเจ้าของทุน แต่เพื่อไทยกลับใช้ประชานิยมแบบเดิมๆ โดยจับคู่ความเป็นอื่นผิดกลุ่ม ทำให้ชนชั้นกลางที่เสียภาษีและเจ้าของธุรกิจ SMEs ต้องไม่พอใจ 

เรายังจะเห็นตัวอย่างของการสร้างคู่ตรงข้ามที่ผิดฝาผิดตัวจนเกือบจะเสียแนวร่วม คือ กรณีของกรุงเทพมหานครของชัชชาติ ที่หาเสียงว่าจะผ่อนผันให้ตั้งแผงลอยได้ ซึ่งเป็นการหาเสียงกับกลุ่มคนรากหญ้าเห็นๆ แต่พอได้รับการเลือกตั้งแล้วไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ เริ่มจะเละ จนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เริ่มจะทนไม่ไหว ทีมชัชชาติจึงต้องยูเทิร์นนโยบายด้วยการจัดระเบียบทางเท้าอีกครั้ง จนผู้ค้ารากหญ้าออกมาคร่ำครวญ แต่ชนชั้นกลางพอใจ 

นี่คือความสับสนอลหม่านของนโยบายพรรคการเมืองที่ต้องการจะจับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม แต่ลืมไปว่าทุกกลุ่มมีผลประโยชน์ไม่ตรงกัน พอได้รับเลือกตั้งแล้วเผชิญกับความขัดแย้งของแต่ละกลุ่มก็ค่อยเลือกว่ากลุ่มไหนที่เป็นฐานเสียงจริงๆ ของตนแล้วเอาใจกลุ่มนั้นให้มากขึ้นสักหน่อย 

พรรคก้าวไกลเองก็เช่นกัน แม้ว่าจะพยายามเป็นการเมืองใหม่ อาจไม่รู้ตัวว่าใช้ประชานิยมทางการเมืองในการนิยาม us (พวกเรา) กับ them (พวกนั้น) เหมือนกับพรรคเพื่อไทย แต่สิ่งที่เขาต่างจากเพื่อไทยก็ตรงที่มีท่าทีและจุดยืนที่แข็งกร้าวมากกว่า ทำให้เร้าใจคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยอยากประนีประนอมกับ ‘อะไรเดิมๆ’ 

ถึง ‘พรรคส้ม’ จะประสบความสำเร็จในการทำการเมืองประชานิยมแบบนี้ แต่พวกเขาอาจทำให้คนกลุ่มนี้ผิดหวังในเรื่องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะว่าไปแล้วเมื่อวัดดีกรีความเก๋าในเรื่องบริหารผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน พรรคก้าวไกลมีประสบการณ์น้อยที่สุด และเพราะเป็นประชานิยมแบบที่สร้างขั้วตรงข้ามขึ้นมา จึงมีโอกาสสูงที่ก้าวไกลจะไม่ตอบสนองชนชั้นกลางในเรื่องปากท้อง และยังอาจโยกภาษีชนชั้นกลางไปทำอะไรแบบเดียวกับเพื่อไทย เพราะในทางการเมืองพวกเขานั้น ‘ซ้าย’ ไม่ใช่เล่นๆ แต่คงจะลืมไปว่าฐานะทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางนั้นซ้ายไม่ไหว 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าก้าวไกลจะมีความสามารถหรือไม่ที่จะสร้างสมดุลระหว่างความต้องการทางเศรษฐกิจของรากหญ้ากับคนในเมืองได้ เพื่อรักษาสถานะพันธมิตรทางการเมือง เพราะพวกเขาไม่ประนีประนอมกับ ‘ความเป็นอื่น’ ขณะที่เพื่อไทยเป็นประชานิยมที่อลุ่มอะล่วยกับ ‘ความเป็นอื่น’ ได้ถ้าผลประโยชน์ลงตัว 

อย่าลืมว่า พันธมิตรทางการเมืองของคนรากหญ้ากับคนชั้นกลางในเมืองเกิดขึ้นได้ เพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเชียร์กับไม่เชียร์ทหาร ฝ่ายก้าวหน้ากับอนุรักษ์นิยม หากวันหนึ่งคู่ตรงข้ามแบบนี้หายไป (เช่น ในวันที่ 3ป. หมดอำนาจ หรือพรรคสายอนุรักษ์นิยมหมดที่ยืนขึ้นมา) ความขัดแย้งจะก่อตัวขึ้นในมิติเศรษฐกิจ 

การมองประชานิยมในแง่มุมที่กว้างขึ้นแบบนี้ จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าหากวันใดวันหนึ่ง คนชั้นกลางที่เคยเชียร์เพื่อไทยกับก้าวไกล จู่ๆ หันมาวิพากษ์และโจมตีพรรคเหล่านี้ สาเหตุมันเพราะอะไร? 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์