จุดยืน ‘ส.ว.’ กับการฝ่าด่านอรหันต์ของ ‘ก้าวไกล’

18 พ.ค. 2566 - 03:20

  • ชวนอ่านปรากฏการณ์และจุดยืนของ ‘วุฒิสมาชิก’ ที่มีต่อ ‘พรรคก้าวไกล’ กับภารกิจแรกฝ่าด่านอรหันต์ 250 ส.ว.

Senate-voted-to-elect-the-Prime-Minister-SPACEBAR-Thumbnail
ศึกเลือกตั้งใหญ่ผ่านพ้นไป วงล้อที่หมุนด้วยเสียงจากประชาชน (ส่วนใหญ่) ชี้เป้าไปที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ถีบส่งด้วยปลายปากกาขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้วยจำนวนเก้าอี้ในกระเป๋าราว ส.ส. 152 ที่นั่ง จนเป็นที่ฮือฮาของคนการเมืองที่ช่วยเอาใจลุ้น แต่ยังไม่ทันที่ ‘แฟนคลับส้มจี๊ด’ จะได้ฉลองชัยอย่างอิ่มหนำ ก็ถูก ‘ส.ว.’ เบรกกลางคันทำช็อตฟิล เพราะไม่เกินชั่วเคี้ยวหมากแหลก ‘คนสภาสูง’ หลายคนเริ่มแสดงท่าทีแข็งกร่าว เผยทรงไม่น้อมรับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน พร้อมไล่ตะเพิด ‘ก้าวไกล’ หารวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา คือ 376 เสียง เพื่อปิดสวิซต์กันเอาเอง 

จากการรวมเสียงพรรคปีกเสรีนิยม 6 – 7 พรรค ภายใต้การนำของกัปตัน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ประกาศขอเป็นเจ้าภาพตั้งรัฐบาลและขอเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน รวมสต๊อกได้ทั้งหมดประมาณ 310 เสียง แม้ตัวเลขจะเกินครึ่งของสภาฯ ล่าง แต่ก็ยังไม่ถึงเกณฑ์จะส่ง ‘พิธา’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะขาดอีก 66 คน 

ดังนั้นทฤษฎีการตั้งรัฐบาลโดยมี ‘เดอะทิม’ เป็นเบอร์หนึ่งจึงมีสองกรณี คือ หนึ่งพึ่งกำลังจาก ‘เสี่ยหนู’ ดึง ‘ภูมิใจไทย’ ที่มีที่นั่งอยู่ในกระเป๋า 70 เสียงมาร่วมทัพ เมื่อรวมแล้วจะได้ 380 เสียง ปิดสวิซต์ไม่ต้องง้อ ส.ว. ใจหินทันที แต่ก้าวไกลจะยอมหรือที่จะ ‘กลืนน้ำลาย’ ตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการรับปากกับ ‘ชูวิทย์’ เป็นแม่นมั่นว่าจะไม่จับมือกับพรรคภูมิใจไทยแน่นอน ด้วยแนวคิดนโยบาย ‘กัญชา’ ไม่ตรงกัน อีกทั้งเพดานเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ไม่ปลื้ม  

กรณีที่สองเรียกได้ว่า แทบเป็นการยาก ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภาอีก 66 เสียง ตามตัวเลขที่สื่อวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ จะมี ส.ว. ‘อิสระ’ ที่คล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ มีอยู่ประมาณ 20 คนเท่านั้น และตัวเลขดังกล่าวยังเป็นสูตรที่ ‘วิแคะ’ กันเอาเอง ไม่มีใครรู้วันขานชื่อ ‘กลุ่มอิสระ’ จะเปิดตัวกี่คน  

เมื่อยิ่งมองถึงความสัมพันธ์ของ ‘ก้าวไกล’ กับ ‘สมาชิกวุฒิสภา’ ในช่วง 4 ปีผ่านพ้น ก็ดูจะไม่ลงรอยมากที่สุด เพราะก้าวไกล เป็นหนึ่งในพรรคที่เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่ให้มีสิทธิเลือกนายกฯ อีกทั้งยังมีกรณีที่สร้างความไม่พอใจจากการ ‘ตรวจสอบ’ อย่างกรณีที่ใช้พื้นที่สภาผู้แทนราษฎร เปิดประเด็น ‘ส.ว.ทรงเอ’ ไม่รวมกับความบาดหมางทางวาจา ทั้งสองฝ่ายต่างสาดถ้อยคำ เหน็บแนม - กระแหนะกระแหน อาจทำให้ขุ่นหมองตามๆ กัน ดังนั้นการมาอ้อนขอความเห็นใจของก้าวไกลช่วงสุดท้าย ดูจะทำให้ ส.ว. ตัดสินใจ ‘ปิดสวิซต์’ ตัวเอง คือไม่โหวต 

กระนั้น ในภาควิชาการและการเมือง ต่างออกมากดดันสภาสูงต่อเนื่อง นักวิชาการบางคนถึงขั้นนำมาเปรียบเทียบว่า การทำหน้าที่ของวุฒิสมาชิก ไร้ซึ่งความเป็นธรรม เพราะหากย้อนกลับไป เมื่อคราวเลือกตั้งปี 2562 ถือเป็นครั้งแรกที่ ส.ว. ชุดนี้ทำหน้าที่โหวตนายกฯ โดยมติเป็นเอกฉันท์ให้ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่รวมเสียงได้ 254 เสียงเป็นนายกรัฐมนตรี  

แต่รอบนี้ พรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงได้มากกว่า และยังเป็นพรรคอันดับหนึ่งซึ่งมีสิทธิโดยชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่กลับถูกกระบวนการพิสดาร พยายามปิดกั้นไม่ให้ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ได้ อย่างไรก็ดีแอ็กชันของก้าวไกล ช่วงสัปดาห์หลังเลือกตั้ง ก็ยังคงดำเนินไปด้วยความมั่นใจ พร้อมมีการนัดถกกับ ‘พรรคพันธมิตร’ ที่ร้านอาหารต่างชาติย่านถนนสุโขทัย เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ดูแล้วทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น 

อย่างน้อยกำลังใจยังพอมีให้เห็นบ้าง เพราะมี ส.ว. บางคนแสดงท่าทีพึงกระทำตามหลักเคารพเสียงส่วนมาก อย่างกรณีที่ ‘วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์’ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้แสดงเจตจำนงผ่านจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับการสนับสนุนพรรคก้าวไกล ที่ได้เสียงอันดับ 1 รวมถึงสนับสนุนผู้ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค มีใจความสำคัญ ดังนี้ 

“ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ บ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด และมีผู้สมัครได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตามครรลองแห่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มีจํานวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจํานวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสมที่สุด ที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทําหน้าที่นายกรัฐมนตรี  

ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานสําคัญ รับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขื่นกับความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมือง ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ ภายใต้สิทธิ สมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจํานวน ส.ส.มากที่สุด ได้ทําหน้าที่นายกรัฐมนตรี” 

ทั้งนี้ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธํารงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสอดคล้องกับฉันทามติของมหาชน ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 

หรือแม้กระทั่ง ‘เฉลิมชัย เฟื่องนคร’ วุฒิสมาชิก ที่ออกตัวเป็นคนแรกๆ ว่าตั้งใจจะลงคะแนนให้พรรคที่ได้เสียงข้างมาก แต่ก็ยังเป็นเสียงส่วนน้อย เพราะเขาระบุเพิ่มเติมว่า อันที่จริงสภาสูงก็มีทั้ง ‘กลุ่มก๊วน’ ที่ถ้าแค่สั่งการมาผ่านข้อความในแชตไลน์ ทุกคนก็จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน 

รวมไปถึง รายงานล่าสุด (17 พ.ค. 66) มีการเปิดเผยจากสื่อมวลชนระบุว่า ขณะนี้มีวุฒิสมาชิก ที่แสดงความเห็นผ่านการให้สัมภาษณ์ ว่าจะโหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส. อยู่ประมาณหลักสิบ ตรงกันข้าม มีผู้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะงดออกเสียงอยู่ในตัวเลขใกล้เคียงกัน มีทั้ง ‘ส.ว.จเด็ด’ - ‘ส.ว.กิตติศักดิ์’ พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ - กองทัพไทย และยังมีอีกหลายท่านที่ออกมาระบุว่ายังไม่รู้จะตัดสินอย่างไร 

ท้ายที่สุด เชื่อว่าการทำหน้าที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของ ส.ว. ย่อมมีทั้งข้อตำหนิและชื่นชม แต่ในเมื่อสังคมและภาควิชาการกำลังตั้งคำถามถึงบทบาทในครั้งนี้ วุฒิสภาอาจต้องแสดงสปิริต ‘เพื่อให้คนจดจำ’ ล้างแผลเก่าสร้างมาตรฐานสากลเคารพเสียงข้างมาก  

ดังคำพูดจากงานเสวนาเชิงวิชาการ ของ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่ร่วมถกประเด็น ‘ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.’  

ผู้พูดกล่าวว่า เป้าหมายของการโหวตครั้งนี้ คือต้องการส่งเสียงถึงทั้งประชาชน และทั้ง ส.ว. ให้เคารพเสียงของประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้มีความตื่นตัวมากสุดครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์ เป็นการเลือกที่มีความหมายและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ แต่ก็ยังมีความกังวลกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อการเลือกตั้งและต่อพรรคการเมือง อาจเป็นการทำลายความฝันของคนทั้งสังคม 

สำหรับภาคการเมือง ‘หนุ่มเมืองจันทร์’ คอลัมนิสต์การเมือง - เศรษฐกิจ ก็ได้โพสต์ไว้ผ่านเฟซบุ๊กหลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นออกมาอย่างน่าสนใจว่า อยากให้พรรคเสียงข้างน้อย (พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม) แสดงพลังสนับสนุน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลดันให้ได้ 376 เสียง เพื่อปิดสวิทช์ ส.ว. อย่างเป็นทางการ ใครประกาศก่อนจะหล่อมาก เพราะแสดงถึงจิตใจความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ อย่างแท้จริงถึงจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ก็จะเป็น ‘ผู้แพ้’ ที่โลกจะจดจำ - พี่ตุ้ม (สรกล อดุลยานนท์) กล่าวไว้เช่นนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์