แม้อำนาจฝ่าย ‘ความมั่นคง’ จะยังไม่พ้นมือ ‘ขั้วอำนาจเดิม’ ทั้งหมด แต่ภายหลัง ‘เพื่อไทย’ ขึ้นมามีอำนาจ ก็มาพร้อมการ ‘ปรับเปลี่ยน’ ที่เป็นแนวทางของพรรคเพื่อไทย เริ่มจากนโยบายที่จะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ เริ่มนำร่องโดยการขยายการบังคับใช้ออกไปเพียง 1 เดือน โดยเป็นการขยายระยะเวลา ครั้งที่ 73 ซึ่งที่ผ่านมาจะขยายทุก 3 เดือน
สำหรับเหตุผลที่ ครม. ขยายเวลาเพียง 1 เดือน มีรายงานว่าเพื่อให้ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ‘ปรับตัว-ปรับกำลัง’ ทำการชี้แจงหน่วยงาน-ภาคประชาสังคม การซักซ้อมต่างๆ หลังบังคับใช้มายาวนานตั้งแต่ปี 2548
ส่วนจะใช้กฎหมายใด ‘ทดแทน’ นั้น ในพื้นที่ จชต. ยังคงบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่ในขณะนั้นตราขึ้นมาเพื่อจะมาทดแทนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่สุดท้ายกลับบังคับใช้ร่วมกันหมด
สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้อำนาจกฎหมายตาม ‘กฎอัยการศึก’ ส่วน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใช้อำนาจกฎหมายตาม ‘กม.อาญา’ ที่ให้อำนาจ ‘ทหาร’ ในการปฏิบัติงานต่างๆ ส่วนจุดที่เป็น ‘หัวใจ’ หลักคือ ‘ระยะเวลาการควบคุมตัว’ ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจคุมตัวได้ 30 วัน ส่วน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ให้อำนาจคุมตัว 7 วัน แต่ก็สามารถ ‘ขยายระยะเวลา’ การควบคุมตัวได้ ทั้งนี้มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงระบุขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนจะต้องระยะเวลา เพราะต้องขยายผลเพื่อหา ‘เครือข่าย’ การก่อเหตุ ที่สำคัญจะมีขั้นตอนการ ‘ถอนคำสาบาน’ หรือที่เรียกว่า ‘ซุมเปาะฮ์’ โดยให้ผู้นำศาสนาเข้ามาทำพิธีให้
ดังนั้น จนท. ยังคงมี ‘เครื่องมือ-กฎหมาย’ ในการปฏิบัติหน้าที่ แต่จะ ‘ลดดีกรี’ ความเข้มงวดของกฎหมายลงมาเท่านั้น
ย้อนอดีตไปในยุคหลังเหตุการณ์ ‘ปล้นปืน’ และเหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 ในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ ได้บังคับใช้ ‘กฎอัยการศึก’ ต่อมาได้มีการตรา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปี 2548 ขึ้นมา เพื่อจะยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึก ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ปี 2551 ขึ้นมา โดยให้เหตุผลเพื่อทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่สุดท้ายก็บังคับใช้ทุกฉบับพร้อมกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทยอยยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นรายอำเภอ นำร่องมาแล้ว
สำหรับแนวทางยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เริ่มมีแนวคิดมาตั้งแต่ยุค ‘รบ.ยิ่งลักษณ์’ แต่ถูกรัฐประหาร 2557 ไปเสียก่อน จึงถูก ‘ดอง’ มายาวนาน 9 ปี ในยุค ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ สำหรับในการขับเคลื่อนครั้งนี้มีการจับตาไปที่ ‘พรรคประชาชาติ’ ที่มีฐานเสียงอยู่ที่ จ.ชายแดนภาคใต้ อีกทั้งพรรคประชาชาติถูกมองเป็น ‘พรรคพันธมิตร’ ของพรรคเพื่อไทย ที่การเจาะฐานเสียง จ.ชายแดนภาคใต้ ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่ขับเคลื่อนคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่เคยเป็น เลขาธิการ ศบ.บต. ยุค รบ.ยิ่งลักษณ์
ดังนั้นจึงต้องจับตาแนวนโยบายการแก้ปัญหา จ.ชายแดนภาคใต้ ของ รบ.เศรษฐา จะเป็นอย่างไร เพราะในแผนนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภาฯ ไม่มีเรื่อง จ.ชายแดนภาคใต้ มีเพียงเรื่องเชิงโครงสร้างของ ก.กลาโหม เท่านั้น แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ คุมงานด้านความมั่นคงเองทั้งหมด ทั้ง ก.กลาโหม , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สภาความมั่นคงแห่งชาติ , สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
อีกสิ่งที่ถูกโฟกัสในเวลานี้คือแนวทางการ ‘พูดคุยสันติสุข จชต.’ เพราะคณะชุดเดิมสิ้นสภาพไปแล้ว ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากนายกฯ เพราะคณะดังกล่าวมาจากคำสั่งแต่งตั้งของสำนักนายกฯ ดังนั้นจึงต้องรอสัญญาณจาก ‘เศรษฐา’ ซึ่งในเวลานี้ระดับปฏิบัติงานก็ทำตามกรอบของ สมช. กับยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปพรางก่อน