เดือนนี้ (พฤษภาคม) วันที่ 22 เมื่อ พ.ศ.2557 เป็นครบรอบวันรัฐประหารคร้ังล่าสุดที่ก่อการโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนพลเอกประยุทธ์จะพาตัวเองขึ้นครองอำนาจในฐานะ นายกฯ คนที่ 29 ของประเทศไทย
ในวาระเดือนแห่งการครบรอบรัฐประหาร พ.ศ.2557 SPACEBAR อยากชวนคุณมารำลึกถึงเรื่องราวการ ‘รัฐประหาร’ ผ่านข้อมูลตัวเลขและเกร็ดน่ารู้กันสักนิด
ภาษาอังกฤษเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่า Fun Fact เพียงแต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรัฐประหารอาจเป็น Fact ที่ไม่ค่อย Fun เท่าไหร่
ในวาระเดือนแห่งการครบรอบรัฐประหาร พ.ศ.2557 SPACEBAR อยากชวนคุณมารำลึกถึงเรื่องราวการ ‘รัฐประหาร’ ผ่านข้อมูลตัวเลขและเกร็ดน่ารู้กันสักนิด
ภาษาอังกฤษเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่า Fun Fact เพียงแต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรัฐประหารอาจเป็น Fact ที่ไม่ค่อย Fun เท่าไหร่

- ถ้านับจำนวนครั้งการรัฐประหารในประวัติศาสตร์ จะพบว่าการรัฐประหาร พ.ศ.2557 เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13
- หากนับวันที่คณะราษฎรตัดสายสะดือให้ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ปีนี้ (พ.ศ.2566) ประชาธิปไตยไทยมีอายุครบ 91 ปี
- เมื่อนำจำนวนครั้งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นหารอายุประชาธิปไตย (91 ÷ 13) จะพบว่า การรัฐประหารในประเทศไทยจะเกิดขึ้นทุกๆ 7 ปี
- ตัวเลขนี้ (7 ปี) อาจดูน่าตกใจ เพราะเป็นความถี่ที่ไม่ควรเกิดขึ้น แม้จะมีความเชื่อว่า ชีวิตคนเราจะมีรอบการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 7 ปีก็ตาม

- ความจริงการรัฐประหารเกิดขึ้นถี่ห่างขึ้นอยู่กับสภาพการณ์เมืองในแต่ละช่วงเวลา เมื่อใดที่กลุ่มอำนาจใหม่ ซึ่งยึดโยงกับประชาชน เริ่มยืนหยัด แข็งแรง ส่อเค้าเป็นอันตราย และขัดต่อผลประโยชน์ กลุ่มอำนาจเก่าก็จะเริ่มหวั่นไหว มองด้วยสายตาไม่ไว้ใจ และหาทางตัดตอนการเติบโต เพื่อรักษาฐานอำนาจ และผลประโยชน์เดิม
- วังวนของรัฐประหารเป็นเช่นนั้น คนที่สนใจสามารถหาอ่านรายละเอียดการรัฐประหารแต่ละครั้งได้ในเอกสารวิชาการที่มีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต
- การรัฐประหารเกือบทุกครั้ง ‘ทหาร’ จะเป็นผู้นำการก่อการ
- เหตุที่ใช้คำว่า "เกือบ" เนื่องจากการรัฐประหารครั้งแรก นำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เดิมเป็นขุนนางสยาม พื้นเพเป็นนักกฎหมาย ได้รับเลือกจากคณะราษฎรให้นั่งเก้าอี้นายกฯ คนแรกของไทย เพื่อประนีประนอมกับอำนาจเก่า
- แม้กระนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ไม่ได้ก่อการคนเดียว แต่ร่วมกับ ‘ทหาร’ คือพระยาทรงสุรเดช

- อาจกล่าวได้ว่า อำนาจปืนคือสัจธรรมของการทำรัฐประหาร ถ้าไม่มีปืน ทำไม่ได้
- ‘ทหารบก’ เป็นเหล่าทัพที่เป็นผู้นำการรัฐประหารมากที่สุด เนื่องจากมีกำลังพลและอำนาจมากที่สุด
- พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นนายทหารเพียงคนเดียวที่เป็น ‘ทหารเรือ’ แต่ตอนรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง (พ.ศ.2519 / พ.ศ.2520) เขาเคยมีอำนาจและบารมีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ที่ดูแลเหล่าทัพอื่น
- ยศทหารที่ก่อรัฐประหารติดที่ใหญ่ที่สุด คือยศ ‘จอมพล’ มีจำนวน 4 คน
- ได้แก่ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ (รัฐประหาร พ.ศ.2490) จอมพล ป. พิบูลสงคราม (รัฐประหาร พ.ศ.2494) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (รัฐประหาร พ.ศ.2500 และ 2501) จอมพล ถนอม กิตติขจร (รัฐประหาร พ.ศ.2514)

- จอมพล คือยศทหารชั้นสูงสุดของกองทัพไทย เป็นยศที่สูงกว่า ‘พลเอก’ และเป็นรองเพียงแค่ ‘จอมทัพไทย’ (เป็นตำแหน่ง ไม่ใช่ยศทางทหาร พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของตำแหน่ง)
- การรัฐประหาร 5 ครั้งหลังสุด ทหารยศ ‘พลเอก’ เป็นผู้นำการก่อการทั้งหมด เนื่องจากตั้งแต่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้นมา ไม่มีการแต่งตั้งยศจอมพลอีกเลย ยศจอมพลสงวนไว้สำหรับจอมทัพไทยเท่านั้น
- จอมพล ประภาส จารุเสถียร คือนายทหารที่ได้รับพระราชทานยศจอมพลคนสุดท้าย เมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ.2516
- แม้จอมพล ประภาส จารุเสถียร ไม่เคยเป็นผู้นำรัฐประหาร แต่มีบทบาทเสมือน ‘มือขวา’ คนสำคัญของจอมพล ถนอม กิติขจร ผู้นำการรัฐประหาร พ.ศ.2514

- 55 ปี 6 เดือน คืออายุเฉลี่ยของผู้นำรัฐประหารในประเทศไทย
- 46 ปี คืออายุผู้ก่อการรัฐประหารที่น้อยที่สุด คนนั้นคือพระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้ก่อรัฐประหารครั้งแรก ด้วยเหตุผลรัฐบาลเป็นเผด็จการ ทำลายระบอบใหม่
- การรัฐประหารครั้งดังกล่าว รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการเจ้าของหนังสือ ‘ข้ออ้าง’ การปฏิวัติ-รัฐประหาร-กบฏ ในการเมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร กล่าวว่านับเป็น ‘การรัฐประหารครั้งเดียวที่รักษาประชาธิปไตย’
- อายุผู้ก่อการรัฐประหารที่มากที่สุด คือ 62 ปี พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ รัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ปลดธานินทร์ กรัยวิเชียร ลงจากเก้าอี้นายกฯ โดยระบุว่ารัฐบาลของธานินทร์ทำให้ประเทศแตกแยก ประชาชนไม่สนับสนุน สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง
- การรัฐประหารตั้ง พ.ศ.2514 เป็นต้นมา อายุเฉลี่ยผู้ก่อการอยู่ที่ 60 ปี มีทั้งทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว และอยู่ในตำแหน่งสูงสุดทางวิชาชีพที่กำลังใกล้เกษียณอายุราชการ
- การรัฐประหาร 3 ครั้งล่าสุด (พ.ศ.2534 / 2549 / 2557) ก่อการโดย ‘ผู้บัญชาการทหารบก’

- ผู้ก่อการรัฐประหารส่วนใหญ่ (4 คน) มี ‘ส’ เป็นพยัญชนะนำหน้าชื่อ ได้แก่ สฤษดิ์, สงัด, สุนทร และสนธิ
- รองลงมา (2 คน) คือ ผู้ก่อการรัฐประหารที่มี ‘ป’ เป็นพยัญชนะนำหน้าชื่อ ได้แก่ แปลก, ประยุทธ์
- รองลงมา (2 คน) คือ ผู้ก่อการรัฐประหารที่มี ‘ป’ เป็นพยัญชนะนำหน้าชื่อ ได้แก่ แปลก, ประยุทธ์
- ช่วงเวลารัฐประหารส่วนใหญ่ (9 ครั้ง) เกิดขึ้นช่วงครึ่งเดือนหลัง ตั้งแต่วันที่ 16 - สิ้นเดือน
- ช่วงเวลารัฐประหารส่วนใหญ่ (9 ครั้ง) เกิดขึ้นช่วงครึ่งเดือนหลัง ตั้งแต่วันที่ 16 - สิ้นเดือน และมากกว่าครึ่ง (8 ครั้ง) เกิดในช่วงปลายปี ได้แก่ กันยายน (2 ครั้ง), ตุลาคม (3 ครั้ง) และพฤศจิกายน (3 ครั้ง)

- ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร คณะผู้ก่อการจะมีการอ้างเหตุผล เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหาร เช่น เพื่อความสงบเรียบร้อย ลดความแตกแยก การล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น
- การรัฐประหาร พ.ศ.2557 ครั้งล่าสุด มีการยกอ้างเหตุผลก่อการทั้งหมด 10 ข้อ ข้อมูลนี้ปรากฏในใบปลิวที่ทหารแจกให้ประชาชนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ หลังการรัฐประหาร 11 วัน (2 มิถุนายน)
- นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด 4 อันดับแรก มีอาชีพ ‘ทหาร’ เรียงตามลำดับได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (15 ปี 25 วัน) จอมพล ถนอม กิตติขจร (9 ปี 205 วัน) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (8 ปี 271 วัน ณ วันที่ 23 พ.ค. 2566) และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (8 ปี 154 วัน)

- ทุกคน--ถ้าไม่ได้เป็นคนรัฐประหาร ก็เป็นคนที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร
- หลังก่อการรัฐประหาร พ.ศ.2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการก่อการเคยบอกความในใจผ่านบทเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย ว่าประเทศไทยจะดีในไม่ช้า ความสุขจะคืนมา โดยให้คำมั่นสัญญาว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”
- หากเชื่อในคำสัญญา พลเอกประยุทธ์คงไม่คาดคิดว่า ชีวิตหลังรัฐประหารจะพาเขาเดินบนถนนการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานเกือบ 9 ปี
- เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นและจบลง คนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยต่างภาวนาให้รัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย
- แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การรัฐประหารอาจเกิดขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ หากกลุ่มอำนาจเก่ารู้สึกไม่ปลอดภัย
- พ.ศ.2557 จะเป็นตอนจบของรัฐประหารในประเทศไทยหรือไม่ คงต้องติดตามอ่านนวนิยายขนาดยาวชื่อ ‘ประเทศไทย’ กันต่อไป
