ขุมพลังต่อสู้เผด็จการที่แท้จริงคือ ประชาชน เปิดตำรา ‘วิธีต่อต้านเผด็จการ’ ฉบับปรีดี

12 พ.ค. 2566 - 02:49

  • เมื่อ 49 ปีก่อน (พ.ศ.2517) ปรีดีกล่าวปาฐกถาเรื่อง ‘เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร’ ถึงวันนี้เนื้อหาก็ยังคงร่วมสมัย

  • ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม คือขุมพลังในการต่อต้านเผด็จการ

  • การต่อสู้กับเผด็จการเป็นเรื่องยุทธวิธี (Tactics) จงยืดหยุ่น รุกและรับ และใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน

TAGCLOUD-pridi-against-dictatorship-SPACEBAR-Thumbnail
บรรยากาศสังคมไทยเวลานั้น อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ประชาชนลุกฮือเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย จนได้รับชัยชนะ ขณะที่กลไกอำนาจเผด็จการหลบไปเลียแผล รอวันฟื้นตัว 

คงไม่มีใครคาดคิดว่า หลังจากวันนั้นจะเกิดการรัฐประหารในประเทศไทยขึ้นอีก 5 ครั้ง เผด็จการกลับมาสถาปนาครองอำนาจนำ และเงาแห่งอำนาจยังปกคลุมสังคมไทยจนถึงวันนี้

หากจัดอันดับ ‘รัฐประหาร’ ในโลก โดยเริ่มนับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประเทศไทยคือประเทศที่ครองแชมป์รัฐประหารมากที่สุด 

การรัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2557 จนนำมาสู่การอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารทั้งในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบยาวนานเกือบสิบปี 

การรัฐประหารควรจะหมดไปจากสังคมไทยได้หรือยัง? เป็นคำถามชวนถกเถียงของคนที่เห็นต่าง แม้กระทั่งทุกวันนี้

ไม่ต่างจาก พ.ศ.2517 ที่มีทั้งผู้สนันสนุน ต่อต้าน จนถึงขอไม่ร่วมสังฆกรรมกับคนที่มีความเชื่อต่างกัน 

ผ่านมาถึงวันนี้ พ.ศ.2566 มุมมองและเนื้อหาในปาฐกถา ‘เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร’ ของ ปรีดี พนมยงค์ ในวันนั้นยังคงคลาสสิก 

หมายถึง ไม่เก่า ใช้ได้ ชวนฉุกคิด และเป็นภารกิจที่ยังไม่จบ 

คุณอยากรู้ไหมว่า เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร และนี่คือเนื้อหาบางส่วนที่สกัดจากปาฐกถาเมื่อ 49 ปีที่แล้ว 

‘ประชาชน’ คือขุมพลังต่อต้านเผด็จการ 

ในปาฐกถา ปรีดีใช้คำว่า ‘ราษฎรไทย’ ที่ส่วนข้างมากของสังคมที่ถูกกดขี่เบียดเบียนจากระบบเผด็จการและซากเผด็จการ คือขุมพลังต่อต้านเผด็จการที่แท้จริงของประเทศไทย 

ขุมพลังที่ว่านี้คือใคร? ปรีดีกล่าวว่า ได้แก่... 

“คนจน คนงาน ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับความอัตคัดฝืดเคืองอย่างแสนสาหัส คนมีทุนน้อยที่พอทำมาหากิน และคนมีทุนขนาดกลางซึ่งถูกเบียดเบียนเดือดร้อนเพราะการปกครองและระบอบเผด็จการ” 

“รวมทั้งนายทุนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่งที่แม้ตนมีความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่มีความรักชาติรักความเป็นประชาธิปไตย มองเห็นความทุกข์ยากของคนจน”

“และคนส่วนมากที่ถูกเบียดเบียน จึงไม่ยอมเป็นสมุนรับใช้เผด็จการ และไม่ทำการใดๆ ที่จะแผลงประชาธิปไตยให้เป็นเผด็จการของพวกนายทุนหรือเป็นเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน (Dictatorship of the Privileged Class)”

“นี่แหละคือขุมพลังมหาศาล...”

หา ‘แนวร่วม’ ผ่านคน 4 จำพวก 

ความจริงเกี่ยวกับ ‘เผด็จการ’ เรื่องหนึ่งที่ปรีดีบอกต้องยอมรับ คือฝ่ายเผด็จการเป็นคนส่วนน้อย แต่มีพลังทางเศรษฐกิจ การเมือง และอิทธิพลทางความคิดสวนทางกับอัตราส่วน

การต่อสู้จำเป็นต้องมีแนวร่วม แต่การหาแนวร่วมจำเป็นต้องพิจารณาลักษณะคนที่จะมาร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน “ผมขอเสนอถึงจำพวกต่างๆ ของบุคคลไว้บ้าง พอเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้”

คนกลุ่มที่ 1: มีสำนึกคัดค้านเผด็จการ แต่ไม่พร้อมสละชีวิตเข้าต่อสู้

“ควรยินดีรับบุคคลประเภทนี้ไว้เป็นแนวร่วมในระดับหนึ่งตามจิตสำนึกและตามความสามารถที่เขาจะช่วยได้ โดยฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องยับยั้งไม่ทะนงตนว่าก้าวหน้าเป็นที่สุดกว่าคนอื่นแล้ว หรือเสียสละสูงสุดกว่าคนอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลจำพวกที่ 1 นี้เกิดความหมั่นไส้แล้วไม่ยอมร่วมในขบวนการที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการตั้งขึ้น” 

คนกลุ่มที่ 2: คัดค้านเผด็จการ แต่ห่วงเรื่องความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ 

ปรีดีแนะนำว่า สิ่งแรกที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องคิดและทำ คือ ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎรส่วนมากให้สำเร็จ แล้วจะได้คนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นแนวร่วม 

“...ถ้าในขณะที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่สามารถที่จะช่วยได้ แต่ก็จะต้องวางนโยบายแสดงวิธีแก้ไขให้ราษฎรเห็นประจักษ์ว่า ถ้าเขาร่วมต่อต้านเผด็จการแล้ว เมื่อฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้ชัยชนะจะมีแผนการที่เขามองเห็นได้ง่ายๆ ว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนของเขาได้อย่างไร ไม่ใช่วางนโยบายฟุ้งซ่านที่ราษฎรไม่อาจมองเห็นได้”

“...กรรมกร รวมทั้งข้าราชการผู้น้อยที่ได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนไม่พอใช้นั้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะแก้ไขให้เขาได้ค่าจ้างและมีเงินเดือนสูงขึ้นนั้นโดยวิธีหารายได้ของแผ่นดินจากทางไหน และชี้ตัวเลขให้เขาเห็นชัดลงไป”

คนกลุ่มที่ 3: ศักดินาและเผด็จการกลับใจ 

คนกลุ่มนี้มี “จำนวนน้อยส่วนหนึ่ง” แต่เกิดจิตสำนึกมองเห็น ‘กฎแห่งความเป็นอนิจจังของระบบกดขี่ขูดรีด’ สละวรรณะเดิมมายืนหยัดต่อต้านเผด็จการ

“ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรยึดมั่นในคัมภีร์จัด คือต้องพิจารณาบุคคลที่เกิดในสังคมเก่าให้ถ่องแท้โดยแยกให้ถูกต้องว่าส่วนใดยืนกรานอยู่ข้างฝ่ายเผด็จการ และส่วนใดที่สามารถเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้”

คนกลุ่มที่ 4: ไม่ควรวางใจเป็นพันธมิตร 

ปรีดีมองว่าเป็นกลุ่มคนที่เห็นระบบเผด็จการเป็นสิ่งที่ควรเชิดชู เนื่องจากได้หรือหวังได้ประโยชน์จากระบอบดังกล่าว คนกลุ่มนี้ส่วนมากจะคัดค้านและต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการยิ่งกว่าผู้เผด็จการเสียเอง

ส่วนวิธีดีลกับคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่การเข้าต่อสู้ แต่เป็นการสร้างจิตสำนึก เพื่อให้อยู่เฉยๆ ไม่เป็นอุปสรรค “แล้วถ้าสามารถพัฒนาจิตสำนึกให้สูงขึ้นอีกก็รับไว้เป็นแนวร่วมในระดับต่ำได้”

วิธีต่อสู้เผด็จการ ฉบับปรีดี 

สำหรับปรีดีการต่อสู้กับเผด็จการเป็นเรื่องของยุทธวิธี (Tactics) ที่จะต้องยืดหยุ่น เลือกใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต่อไปนี้คือข้อควรคิดในการต่อสู้กับเผด็จการของปรีดี 
  • ยุทธวิธีต้องเป็นไปตามสภาพท้องที่และกาละ 
  • ผู้ใดถือคัมภีร์จัด ย่อมนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ เพราะสภาพการณ์ของฝ่ายเผด็จการไม่ได้นิ่งอยู่กับที่ 
  • การต่อสู้ใดๆ ย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ไม่ควรมองเพียงด้านเดียว ต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะตอบโต้ด้วย 
  • การต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าวิธีใดย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกาย แม้ใช้วิธีสันติ หรือวิธีที่กฎหมายอนุญาต แต่หากเผด็จการขึ้นมามีอำนาจ อาจแก้กฎหมายจากผิดเป็นถูกได้ 
  • การต่อสู้เผด็จการนั้นต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน “ซึ่งท่านจะต้องปลงให้ตกในการนี้”
ช่วงสุดท้ายของปาฐกถาปรีดีกล่าวฝากถึงผู้ที่คิดต่อต้านเผด็จการไว้อย่างน่าคิดว่า 

“ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน”

โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่นักศึกษาได้รับการสนับสนุนจากมวลชน 

“ฉะนั้นถ้าสมานสามัคคีกันต่อไปเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้” ปรีดีกล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์