พรรครองๆ ที่อิทธิพลไม่เล็ก 'ชาติไทยพัฒนา' กับ 'ชาติพัฒนากล้า' ถูกพูดถึงแค่ไหน?

26 เม.ย. 2566 - 09:10

  • ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ต่างก็มีสิทธิเท่าๆ กัน

  • แต่โอกาสของพรรครองๆ และความสำเร็จของพวกเขาอาจไม่เท่ากับพรรคใหญ่

TAGCLOUD-social-listening-of-Chart-Pattana-KLA-and-Chartthaipattana-party-SPACEBAR-Thumbnail
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 มีพรรคการเมืองเข้าร่วมการชิงเก้าอี้ในสภาถึง 67 พรรค ในจำนวนนี้มีแค่ไม่กี่พรรคที่ถูกเอ่ยถึง และในการทำ Social Listening ทีมงาน SPACEBAR ก็ยังคัดรายชื่อพรรคมาจับตาความเคลื่อนไหวเพียงแค่ 9 พรรค ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรืออย่างน้อยก็เป็นพรรคที่มีนักการเมืองตัวเก๋า ที่เราจะคลาดสายตาจากพวกเขาไปไม่ได้ 

ในบรรดา 9 พรรค เราได้วิเคราะห์พวกเขาไปบ้างแล้ว และตอนนี้ยังมีพรรครองๆ ที่ควรเอ่ยถึงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในบทวิเคราะห์นี้ เราจะมาดู ‘ความสนใจ’ ของโซเชียลมีเดียที่มีต่อ 2 พรรคที่ถือเป็น ‘เครือญาติทางการเมือง’ กันก็ว่าได้ นั่นคือ ‘ชาติพัฒนากล้า’ กับ ‘ชาติไทยพัฒนา’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5sjkNdY3OjU2zGAk7T5gBh/9155d08ce0509eeeba5a810207421c47/TAGCLOUD-social-listening-of-Chart-Pattana-KLA-and-Chartthaipattana-party-SPACEBAR-Photo01
Photo: Social Listening ทีมงาน SPACEBAR ระหว่างวันที่ 19 – 25 เมษายน 2566 พรรคก้าวไกลถูกเอ่ยถึงมากที่สุดในโซเชียลมีเดีย และเส้นกราฟยังโดดเด่นกว่าพรรคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่ต้องตระหนักว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ (domain) ที่ก้าวไกลและแฟนคลับของพรรคมีความเคลื่อนไหวที่คึกคักมาโดยตลอด

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับพรรคตระกูล ‘ชาติ-พัฒนา’ 

สมาชิกหลักที่ก่อตั้งพรรค ‘ชาติไทยพัฒนา’ กับ ‘ชาติพัฒนากล้า’ เคยเป็นแกนนำหรือผู้ร่วมก่อตั้งพรรคชาติไทย  

เส้นทางชาติพัฒนากล้า 
  • ชาติพัฒนาแตกตัวออกมาก่อน หลังจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ถูกทำรัฐประหาร 
  • หัวหน้าพรรคคนแรกของชาติพัฒนา คือ  พล.อ. ชาติชาย สมาชิกสำคัญล้วนมาจากพรรคชาติไทย และเป็นเครือญาติการกับ พล.อ. ชาติชาย เช่น สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ กร ทัพพะรังสี 
  • ต่อมา กร เข้าร่วมพรรคไทยรักไทยในรัฐบาลทักษิณ ทิ้งให้ สุวัจน์ เป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา แต่ต่อมา สุวัจน์ เข้าร่วมเช่นกัน และยุบชาติพัฒนาเข้ากับไทยรักไทย 
  • สุวัจน์ กลับมาร่วมก่อตั้งชาติพัฒนาขึ้นขึ้นมาใหม่ แต่ยังใช้ชื่อเดิมไม่ได้ จึงตั้งชื่อพรรคใหม่ว่า ‘รวมใจไทยชาติพัฒนา’ ในปี 2550  
  • นับตั้งแต่ 2550 เป็นต้นมา พรรคนี้เข้าร่วมรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 
  • ต่อมาปี 2554 เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น ‘ชาติพัฒนา’ อีกครั้ง ร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2562 ร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
  • ในปี 2565 กรณ์ จาติกวณิช จากพรรคกล้าและสมาชิกส่วนหนึ่ง มาเข้าร่วมกับชาติพัฒนา และเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า มี สุวัจน์ เป็นประธานพรรค กรณ์ หัวหน้าพรรค
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6HooSX1HF2igGfRppzpQlI/5fb84aa7be6c2b3c35a0fa1e145a0010/TAGCLOUD-social-listening-of-Chart-Pattana-KLA-and-Chartthaipattana-party-SPACEBAR-Photo02
Photo: ระดับการถูกเอ่ยถึงของพรรคชาติพัฒนากล้า (สีเหลือง) และชาติไทยพัฒนา (สีม่วง) ระหว่างวันที่ 19 – 25 เมษายน 2566 โดยตัดทอนพรรคอื่นๆ ออกไป ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 พรรคมากขึ้นโซเชียลมีเดีย แต่แม้จะชัดขึ้น กมารเอ่ยถึงของทั้ง 2 พรรคมีน้อย จำนวนการถูกเอ่ยถึงของชาติพัฒนากล้าถึงหลัก 1,650 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ขณะที่ชาติไทยพัฒนายังถูกพูดถึงไม่ถึง 400 ครั้ง
เส้นทางชาติไทยพัฒนา 
  • พรรคชาติไทยหลัง ‘น้าชาติ’ จากไป ต่อมา บรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหนึ่ง และสานต่อการร่างรัฐธรรมปี 2540 หรือ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ จนสำเร็จ 
  • หลังการเลือกตั้ง 2544 พรรคชาติไทยเข้าร่วมเป็นรัฐบาลทักษิณ 1 ต่อมาเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลทักษิณ 2 
  • ต่อมา พรรคชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แล้วถูกยุบพรรคพร้อม พรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในปี 2551  
  • หลังชาติไทยถูกยุบพรรค สมาชิกที่เหลือมาตั้งพรรคใหม่ในชื่อ ‘ชาติไทยพัฒนา’ แม้ว่า บรรหาร จะถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี แต่คนใน ‘ตระกูลศิลปะอาชา’ ยังกุมอำนาจในชาติไทยพัฒนาต่อไป 
  • นับตั้งแต่ตั้งพรรคจนถึงปัจจุบัน คนในบ้านศิลปอาชาที่เป็นหัวหน้าพรรคนี่คือ ชุมพล ศิลปอาชา (น้องชายบรรหาร), กัญจนา ศิลปอาชา (ลูกสาวบรรหาร) และวราวุธ ศิลปอาชา (ลูกชายบรรหาร) 
  • นับตั้งแต่ตั้งพรรค ชาติไทยพัฒนาได้ร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐบาล    ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/DdcckTXfyEIsvmgY0pySZ/f1a20c3111466b007cf122916b1c58a6/TAGCLOUD-social-listening-of-Chart-Pattana-KLA-and-Chartthaipattana-party-SPACEBAR-Photo03
Photo: เปรียบเทียบอัตราการเอ่ยถึงในโซเชียลมีเดียระหว่างหนึ่งในพรรคที่ถูกเอ่ยถึงมากที่สุด (ก้าวไกล) และพรรคที่ถูกเอ่ยถึงน้อยกว่ามาก (ชาติพัฒนากล้าและชาติไทยพัฒนา) ระหว่างวันที่ 19 – 25 เมษายน 2566 ความเคลื่อนไหวที่น้อยกว่า สะท้อนถึงพื้นที่สื่อและการตกเป็นกระแสข่าวของทั้ง 2 พรรคที่น้อยกว่าด้วย

พรรครองไม่ได้แปลว่าไม่อยู่ในสายตา 

จากการทำ Social Listening โดย SPACEBAR เราพบว่าการถูกเอ่ยถึง (Mentions) ของ ‘ชาติพัฒนากล้า’ กับ ‘ชาติไทยพัฒนา’ มีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองระดับตัวท็อป และแนวโน้มก็น่าจะเป็นแบบนี้ โดยพิจารณาจากอัตราการถูกเอ่ยถึงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน 2566 ซึ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก (ดู Infographic 1 และ 2 ด้านบน) 

แต่การพิจารณาจากการถูกเอ่ยถึง (Mentions) ในโซเชียลมีเดีย ไม่ได้หมายความว่าการถูกเอ่ยถึงมากสะท้อนถึงความนิยมที่มากกว่า แต่มันมีตัวแปรบางอย่างที่จะต้องพิจารณาด้วย เช่น 
  • ผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ เป็นกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ส่วน Gen X มีอัตราใช้น้อยกว่า แต่เป็นกลุ่มที่มีสิทธิออกเสียงมากที่สุด 
  • ฐานเสียงของพรรค ‘ชาติไทยพัฒนา’ กับ ‘ชาติพัฒนากล้า’ อยู่ในต่างจังหวัด คือ สุพรรณบุรีและนครราชสีมา ตามลำดับ  
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวแปรเหล่านี้อาจจะทำให้ข้อมูลจาก Social Listening ไม่สะท้อนความนิยมและฐานเสียงชองทั้ง 2 พรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทในการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียที่จะมีผลต่อทิศทางการเมือง ก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน และหมายความว่าพรรคทั้งสองก็ต้องหันมาปรากฏกายในโลกโซเชียลมากขึ้นด้วย เพื่อความอยู่รอด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5K4uWiUCPgdsNHuYGAYbC7/4b36130320bc4149892ca96e86c6a5af/TAGCLOUD-social-listening-of-Chart-Pattana-KLA-and-Chartthaipattana-party-SPACEBAR-Photo04
Photo: กราฟแสดงความเคลื่อนไหวจำนวนการถูกเอ่ยถึงของหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (กรณ์ จาติกวณิช) และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (วราวุธ ศิลปอาชา) ระหว่างวันที่ 19 – 25 เมษายน 2566 ทั้ง 2 คนถูกพูดถึงมากในวันที่ 25 เมษายน แต่โดยรวมแล้วทั้ง 2 คนถูกเอ่ยถึงแค่หลักร้อยครั้ง เพราะไม่ใช่ตัวเด่นในพื้นที่ข่าว

สองพรรครองที่อิทธิพลไม่เป็นรอง 

จากเส้นทางของพรรตคทั้งสองที่เราสรุปมาให้ดู จะเห็นเบื้องหลังเปี่ยมด้วยอิทธิพลทางการเมืองมายาวนานและทักษะการต่อรองที่แข็งแกร่งจนทำให้ทั้ง 2 พรรคสามารถเข้าร่วมรัฐบาลชุดต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในค่ายทหาร (อภิสิทธิ์) รัฐบาลนอมินีทักษิณ (สมัครและสมชาย) รัฐบาลเสื้อแดง (ยิ่งลักษณ์) และรัฐบาลสายทหาร (ประยุทธ์) สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของชาติไทยพัฒนาและชาติพัฒนากล้าได้เป็นอย่างดี  

สิ่งที่จะทำให้ทั้ง 2 พรรครองยังคงมีความสำคัญ (Political Relevance) ต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าจะมีพรรคใหญ่พรรคไหนทำแลนด์สไลด์ (Landslide victory) ซึ่งหมายถึงการได้เสียงข้างมากในสภาโดยไม่ต้องพึ่งพรรคอื่นในการฟอร์มรัฐบาลหรือไม่? 

แต่ถ้าไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมากในสภา และพรรคใหญ่ยังมีคะแนนเสียงไหล่เลี่ยกัน เมื่อนั้น พรรครองๆ ในตระกูล ‘ชาติ-พัฒนา’ จะมี Political Relevance อย่างยิ่งยวดแน่นอน  

หากเกิดสถานการณ์อย่างหลังขึ้น เราจะกลับมาดูกระแสในโซเชียลและวิเคราะห์บทบาทของพรรคในตระกูล ‘ชาติ-พัฒนา’ กันอีกครั้ง 

ถ้าวันแห่งการจับพรรคเล็กฟอร์มรัฐบาลเกิดขึ้นจริง ยังมีเรื่องอีกมากมายของ ‘ชาติพัฒนากล้า’ กับ ‘ชาติไทยพัฒนา’ ที่เราควรจะพูดถึงในฐานะตัวเปลี่ยนเกมส์ในรัฐบาลที่ผ่านมาๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์