Election 101: รู้ไว้ก่อนไปเลือกตั้ง

3 เม.ย. 2566 - 08:41

  • “ไปเลือกตั้งเอาอะไรไปบ้าง?” “ไม่ว่างไปเลือกจะทำยังไง?” “ไม่ชอบนักการเมือง มีทางเลือกอื่นมั้ย?”

  • หลายคนอาจเคยตั้งคำถามประมาณนี้ เมื่อวาระกำหนดอนาคตของปวงชนชาวไทย เดินทางมาถึง

  • หากใครยังวนเวียนอยู่กับข้อสงสัยเหล่านั้น Spacebar ขอพาไปไขความกระจ่างด้วยเกร็ดน่ารู้ ก่อนที่จะเข้าคู่หา

  • เพื่อให้การ ‘เลือกตั้ง’ ของท่านเปี่ยมไปด้วยความพร้อมและราบรื่น

Thailand-Election-1O1-2023-SPACEBAR-Thumbnail

EP.1 #Election101 #เลือกตั้ง66 

‘เตรียมตัวไปเลือกตั้ง 2566’ 


วันเลือกตั้ง: วันที่ 14 พฤษภาคม 2566  

เวลาเลือกตั้ง: เข้าคูหาได้ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. 

เอกสารที่ต้องมี: ‘บัตรประชาชน’ แม้จะเป็นบัตรที่หมดอายุแล้ว ก็ยังสามารถใช้ได้  
หรือ บัตร,เอกสาร ที่ราชการออกให้ ขอแค่ให้มีรูปและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ถือว่าใช้ได้ เช่น ใบขับขี่ ,พาสปอร์ต หรือ บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน ThaiID) 
 
แอปพลิเคชัน ThaiID: เป็นสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล สำหรับการยืนยันตัวตนเพื่อการทำธุรกรรมทางดิจิทัล ที่ออกให้โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้ใช้งานสามารถลงทะเบียนด้วยตัวเอง โดยถ่ายบัตรประชาชนและใช้กล้องสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ไปที่สำนักทะเบียนเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในการขอรับบริการการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ก่อนสร้างรหัสผ่าน 8 หลัก เพื่อใช้งานแอปพลิเคชัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6GLBYzKdE7RIyq075vyvrA/2bf708a34ca370436b065f57b7eee60d/EP1-Election1O1

EP.2 #Election101 #เลือกตั้ง66 

วันสุดท้าย ‘เพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ’ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง: 3 พ.ค. 2566  

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบสิทธิ และหน่วยเลือกตั้ง ผ่านเอกสารที่ กกต.จัดส่งไปยังเจ้าบ้าน (จะส่งมาถึงบ้านก่อนวันเลือกตั้ง 20 วัน) หรือ ช่องทางออนไลน์ของ กกต. 
 
หากพบว่า ตัวเองหรือคนอื่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่า มีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้าน โดยที่บุคคลนั้นมิได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจริงๆมาก่อน สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น เพื่อให้เพิ่ม-ถอนชื่อนั้นได้ทันที
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6ELcJsODaNIzyIbBDgyXl8/0693122b2d2710dc36ca68a1dae56f95/EP2-Election1O1

EP.3 #Election101 #เลือกตั้ง66 
“หน้า 7 หลัง 7” แจ้งเหตุ…ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  

โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดวันที่สามารถแจ้งสาเหตุและเหตุผลจำเป็นที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 2 ช่วง คือ: 7-13 พ.ค.2566 และ 15-21 พ.ค.2566  
 
หากติดภารกิจไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ สามารถทำหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนที่ว่าการเขต หรืออำเภอ โดยสามารถไปด้วยตัวเอง หรือ มอบหมายผู้อื่นไปแทน

อีกทางเลือก คือ ส่งไปรษณีย์ หรือช่องทางออนไลน์ โดยต้องทำภายใน 7 วันก่อนการเลือกตั้ง หรือ 7 วัน หลังการเลือกตั้ง 
 
โดยแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main  หรือ www.ect.go.th หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทางอิเล็กทรอนิกส์” 
 
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งภายในระยะเวลาดังกล่าว แม้จะไม่เสียสิทธิในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่อาจเสียสิทธิบางประการเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไป ได้แก่
  • สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง 
  • สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 
  • ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 
  • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง 
  • ดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่น  
ระบบการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/20wePScwRUVD3hqGs7iQyM/1032a4c65c5a0a68e87abf36d7e3eaa5/EP3-Election1O1

EP.4 #Election101 #เลือกตั้ง66 
Vote No หรือ กากบาทในช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’  

มีความหมายว่า: หาก ส.ส. เขตใดชนะการเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนน้อยกว่า Vote No เท่ากับว่าการเลือกตั้งในเขตนั้นเป็นโมฆะ ต้องเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครคนเดิมของทุกพรรค จะไม่สามารถกลับมาลงสมัครได้ 
 
No Vote คือ การไม่ออกไปใช้สิทธิ หรือการนอนหลับทับสิทธิ 
 
มีความหมายว่า: สิทธิของคุณจะสูญเปล่า ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ควรแจ้งสาเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิก่อนหรือหลังเลือกตั้ง 7 วัน ซึ่ง กกต.กำหนดไว้ 2 ช่วง คือ : 7-13 พ.ค.2566 และ 15-21 พ.ค.2566
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3LGoL51nvWcJlAWm6kEaWo/5a62332c76b981bc6ac56c18e9219451/EP4-Election1O1

EP.5 #Election 101 ‘คนไทยต้องรู้’ 
กติกาการเลือกตั้ง นำไปสู่การแต่งตั้ง ’นายกรัฐมนตรี’ 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้กำหนดให้มีวันเลือกตั้งสำหรับประเทศไทย คือ วันเลือกตั้งล่วงหน้า ใน วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 และวันเลือกตั้งทั่วไป คือ วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่กำลังจะกลายเป็นวันชี้ชะตาทางการเมืองในหลายมิติของประเทศไทย 
 
การเข้าคูหาไปกาเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากกฎกติกาที่เปลี่ยนแปลงในบางประเด็นของประเทศไทยที่ใช้หลักตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ต้องเลือกผ่าน ส.ส. 

โดยจำนวน ส.ส.ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้ง 2562 จากรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 ได้กำหนดเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.พึงมี สำหรับการเลือกตั้ง ปี 2566 ซึ่งจะทำให้มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวน 100 คน 
 
และหากเทียบให้เห็นความแตกต่างของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปี 2562 กับปี 2566 ซึ่งกำลังถูกมองว่า เป็นการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองสองขั้ว ที่แบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนของพรรคการเมือง ระหว่างฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กับอีกฝ่าย ที่ถูกเรียกว่า ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ การเลือกตั้ง ปี 2566 ยังถูกแก้ไขกติกา ให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ‘บัตรสองใบ’  

บัตรใบแรก เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต (เลือกคนที่รัก…เป็นตัวแทนเขต) 
บัตรใบที่สอง เลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) เลือกพรรคที่ชอบให้เข้าสภา  
 
หรือจำกันอย่างง่ายๆ ว่า “เลือกคนที่รัก และ เลือกพรรคที่ชอบ” 

และที่กำลังเป็นที่กังวลจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ไปใช้สิทธิ คือ หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ไม่ตรงกับเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้จะเป็น ส.ส.เขตคนละเขต และมาจากพรรคเดียวกัน ก็ถูกกำหนดเบอร์ในบัตรเลือกตั้ง ‘คนละเบอร์’ และ ส.ส.เขตแต่ละเขต จะจับสลากได้เบอร์ต่างจากหมายเลขพรรค ที่ใช้เลือกใน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงต้องท่องจำหมายเลขที่รักและพรรคที่ชอบ รวมทั้งสีของบัตรกาคะแนนกันให้ดีๆ 
 
และในรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังทำให้เกิดการแยกส่วน ระหว่างระบบการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล จากมาตรา 272 ที่กำหนดให้ ส.ว.250 คน มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 
 
นอกจากนี้ยังมีกรณีหากไม่อาจตั้งนายกรัฐมนตรี จาก 3 รายชื่อแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ซึ่งรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (2 ใน 3) หรือ 376 คน จาก 750 คน เสนอเปิดทางเชิญ ‘คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี’ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ได้อีกด้วย 
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ‘มาตรา 272’ บัญญัติไว้ว่า ... ในระหว่างห้าปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา  
 
และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาฯ​ ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง  
 
หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภาฯ รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาฯ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88  
 
ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4sCOCAmRt0r3ElOVZsHJHa/97f7c1187da943219d2fd0ef0a9b5a7b/EP5-Election1O1

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์