มึนตึ๊บ! ‘วันนอร์’ สั่งเลื่อนประชุมสภาฯ

4 ส.ค. 2566 - 06:24

  • มึนตึ๊บ! ‘วันนอร์’ สั่งเลื่อนประชุมรัฐสภา

  • หลัง สส.ก้าวไกลลักไก่ชงทบทวนมติเสนอชื่อพิธาซ้ำ แทรกญัตติแก้ ม.272

  • ทำ สส.-สว.ถกเถียงกันนาน 1 ชม. สุดท้าย ประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนการประชุมรัฐสภา

Wannor-order-slip-meeting-parliament-after-Moveforword-offer-Topic-Not-Article-272-SPACEBAR-Hero
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ (4 ส.ค.) ที่มีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม แต่ยังไม่ทันจะเข้าสู่วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ยกเลิกมาตรา 272  

รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนให้ทบทวนมติเสนอชื่อนายกฯของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่เป็นปัญหาว่าชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สามารถเสนอซ้ำได้หรือไม่ 

แต่วันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า เรื่องนี้ลงมติไปแล้ว อีกทั้งมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งศาลจะมีการพิจารณารับหรือไม่ในวันที่ 16 ส.ค. ไม่สามารถพิจารณาได้ หากเดินหน้าต่อไปจะติดขัดกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร จึงขอให้รอคำวินิจฉัยของศาลก่อน 

ขณะที่ รังสิมันต์ และ สส.พรรคก้าวไกล พยายามทักท้วงยืนยันว่า มีอำนาจของสภาในการลงมติ อีกทั้งสมาชิกพรรคก็รับรอง แต่วันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี หากดำเนินต่อไปจะเกิดความเสียหาย เพื่อให้เกิดความไม่ขัดแย้งและสง่างามกับคนที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี  จึงอยากให้สมาชิกรอศาลก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติและไม่ให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง  

แม้ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะยืนยันว่า ญัตติของพรรคก้าวไกลเสนอถูกต้อง ขอให้ประธานดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม แต่สมชาย แสวงการ สว.ลุกขึ้นเสนอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน พร้อมเสนอญัตติไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอนายรังสิมันต์    

จากนั้น ประธานรัฐสภายืนยันว่า ญัตตินี้ตกไปแล้ว จะเสนอในสมัยประชุมเดียวกันไม่ได้ และหากเดินหน้าก็จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยอีก จึงเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ หากจะเดินหน้าต่อ เช่นเดียวกับ เสรี  สุวรรณภานนท์ สว.ก็เห็นว่าไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำได้ ไม่ใช่เรื่องข้อบังคับการประชุมอย่างเดียว แต่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 272  วรรค 2 และหากจะนำชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯคนเดิมที่สภาลงมติไม่เห็นชอบกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 ขอยกเว้นรัฐธรรมนูญ ซึ่งประพันธ์ คูณมี สว.ไม่เห็นด้วยกับการลงมติลบล้างที่เคยลงมติไปแล้ว เพราะไม่มีข้อบังคับให้กระทำได้ ไม่มีเหตุให้ทบทวน ยืนยันว่า การวินิจฉัยของประธานสภาชอบแล้วที่เห็นว่าไม่สามารถทบทวนได้ เพราะการลงมติของสมาชิกเป็นญัตติซ้ำเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ญัตติที่เสนอให้ทบทวนจึงไม่ชอบ แต่รังสิมันต์ ยังยืนยันว่า จะให้สภาเดินหน้าทบทวนญัตติลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี   

แต่ที่สุดแล้ว ที่ประชุมรัฐสภา มีข้อถกเถียงกัน จนไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทำให้วันมูหะมัดนอร์ อาศัยข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 22 ใช้อำนาจสั่ง ‘เลื่อนการประชุม’ ในเวลา 11.27 น. ซึ่งการประชุมรัฐสภาครั้งนี้ ใช้เวลาการประชุมเพียงประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น โดยไม่ได้มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แต่อย่างใด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์