พ้นมือ ‘กองทัพ’ ไปทั้ง 2 โครงการ ทั้งเรือดำน้ำจีน Yuan Class S26T และเครื่องบินขับไล่ ระหว่าง F-16 Block70 สหรัฐฯ กับ Gripen E สวีเดน ที่อยู่ในมือ ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม ที่จะต้องเสนอไปยัง ‘เศรษฐา ทวีสิน’นายกฯ
ในส่วนของ ‘เรือดำน้ำ’ จะต้องนำเข้า ครม. เพื่อขอมติ ครม. แก้ข้อตกลง 2 ข้อ ได้แก่ 1.กองทัพเรือขอแก้ไขข้อตกลง ปัญหา โดยการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ดีเซล ขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า จากรุ่น MTU 396 เป็นเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน CHD620 และ 2.ขอขยายระยะเวลาการส่งมอบเรือดำน้ำตามโครงการออกไป เป็น 1,217 วัน
สำหรับ ‘เครื่องบินขับไล่’ หลัง ทอ. ได้สรุปข้อมูล 2 แบบ F-16 Block 70 บริษัท Lockheed Martin สหรัฐอเมริกา และ Gripen E บริษัท SABB สวีเดน ภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกแบบฯ ชุดของพล.อ.ท.วชิระพล เมืองน้อย เจ้ากรมยุทการทหารอากาศ ได้พิจารณา ‘ให้คะแนน’ โดยมี ‘หัวข้อใหญ่’ อยู่ที่ประมาณ 5-10 ข้อ และมี ‘ข้อย่อย’ อีกจำนวนมาก ซึ่งผลคะแนน ทอ. ยังไม่มีการ ‘ประกาศทางการ’ แต่ท่าทีของ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ก็ไม่ได้ปฏิเสธข่าวว่า Gripen คะแนนนำ F-16
ในขณะนี้ผลสรุปการให้คะแนนยังอยู่ในมือ ‘สุทิน คลังแสง’ ยังไม่ได้นำส่ง นายกฯ ถือได้ว่าอยู่ใน ‘มือฝ่ายการเมือง’ แล้ว ซึ่ง ‘สุทิน’ ระบุว่ายังไม่ไฟนอล คาดว่าไทม์มิ่งไม่เกิน 2 เดือน ก็จะจบ
คำถามคือทำไมถึง 2 เดือน หากมองตามขั้นตอน ‘พิจารณา’ งบประมาณ ขณะนี้อยู่ในชั้น กมธ.งบประมาณฯ ปี 68 ที่มีด่านใหญ่อยู่ที่ คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน ที่จะ ‘ชี้ขาด’ ขั้นสุดท้าย ซึ่งงบงวดแรก 1,900 ล้านบาท คิดเป็น 10 % จากทั้งหมด 19,000 ล้านบาท 4 เครื่อง งบผูกพัน 4 ปี (ปี2568-71) จากนั้นจะเข้าสู่สภาใหญ่ วาระ 2-3 ต่อไป
ย้อนกลับไป 3 สัปดาห์ก่อน ‘ทูตสหรัฐฯ’ ได้เข้าพบ ‘สุทิน’ หลัง ‘ทูตสหรัฐฯ’ ส่งหนังสือถึง ‘นายกฯ เศรษฐา’ เร่งเครื่องโค้งสุดท้าย เสนอขาย F-16 ให้ไทย หลัง ‘สุทิน’ เคยคุยกับ ‘ลอยด์ ออสติน’ รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมความมั่นคง IISS Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 21 ที่สิงคโปร์ ปลาย พ.ค.67 ทางสหรัฐฯ ได้เสนอโปรแกรม Foreign Military Financing (FMF) ซึ่งเป็นการมอบเงินช่วยเหลือและเงินกู้แก่ในรัฐบาลประเทศพันธมิตร เพื่อใช้ในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการฝึกอบรมของสหรัฐฯ
โดยสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอให้ไทยในการให้เงินกู้ยืม 9 ปี เสียดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% พร้อมการค้าต่างตอบแทนกับไทย ซึ่งต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ และเป็นระยะเวลาที่ผ่อนยาวกว่าการจัดซื้อปกติ ซึ่งสหรัฐฯ จะอนุมัติให้กับมิตรประเทศที่ใกล้ชิด เพราะสหรัฐฯ ทราบดีถึงข้อจำกัด ‘งบประมาณ’ ของไทย
ในฝั่งสวีเดนก็เข้าหา ‘เศรษฐา’ เช่นกัน โดยเมื่อ 24 มิ.ย.67 มาร์คัส วอลเลนเบิร์ก (Marcus Wallenberg) ประธานกลุ่มบริษัท SAAB SEB ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายกฯ เปิดเผยว่า ได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องเครื่องบิน Gripen และปีหน้า นายกฯ จะเดินทางไปดาวอส อีกครั้ง และอาจจะจัดเป็นฟอรั่มเล็กๆ ระหว่างไทยกับสวีเดน ในการนำบริษัทที่เกี่ยวข้อง 2 ประเทศ มาพูดคุยจะพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีร่วมกันได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายกฯ กล่าวถึงกรณีของเครื่องบิน F-16 ของสหรัฐฯ ถ้าซื้อ ก็ต้องมาพัฒนาที่เมืองไทยเหมือนกัน เป็นการต่างตอบแทน
ส่วนกรณีของ ‘เรือดำน้ำ’ เรียกว่า ‘วิบากกรรม’ มากกว่า ‘เครื่องบินขับไล่’ ยังอยู่ในมือ ‘สุทิน’ ที่เตรียมส่งให้ นายกฯ ช่วงสัปดาห์หน้า ผ่านสำนักเลขาธิการ ครม. เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนเข้า ครม. แต่ต้องจับตาดูว่าจะต้องให้ ‘กฤษฎีกา’ ตรวจสอบอีกครั้งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผ่าน ‘กฤษฎีกา’ ได้ตีความแค่ขั้นตอนก่อนไปเจรจากับจีน เมื่อ 2-3 เดือนก่อน แต่ครั้งนี้เป็นหลังเจรจากับจีน
ซึ่งที่ผ่านมา ‘สุทิน’ ระบุว่าติดอยู่ที่ ‘คณะทำงานนายกฯ’ ที่มาดูเรื่องกฎหมาย จึงยังไม่ได้นำส่งนายกฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่ง ‘สุทิน’ ระบุว่าบุคคลที่มารับเรื่องคือ ‘จักรพงษ์ แสงมณี’ รมต.ประจำสำนักนายกฯ
ซึ่ง ‘จักรพงษ์’ ปรากฏตัวอยู่หน้าห้อง กมธ.งบประมาณฯ ในช่วงเวลาที่ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ชี้แจงงบประมาณปี 68 ของ ทร. พอดี เมื่อ 10ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง ‘จักรพงษ์’ นั่ง กมธ.งบฯ สัดส่วน ครม.
ที่สำคัญ ‘จักรพงษ์’ สมัยเป็น รมช.การต่างประเทศ ได้เดินทางไปจีนกับ ‘สุทิน’ เมื่อครั้งไปเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำด้วย สำหรับ ‘จักรพงษ์’ ถูกมองว่า ‘สายตรงเศรษฐา’ ที่ได้รับความไว้วางใจ
แต่เมื่อย้อนดู ‘โปร์ไฟล์’ จะพบว่า ‘จักรพงษ์’ อยู่พรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ปี 2554 เป็น กรรมการบริหารเพื่อไทส ทีมหาเสียงให้กับ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อีกทั้งเคยเป็น ‘นายทะเบียนสมาชิก’ พรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งปี 2566 ‘จักรพงษ์’ เป็นเลขานุการศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘สายตรงชินวัตร’ อีกคน
ซึ่งกระบวนการสุดท้ายระหว่าง ‘ไทย-จีน’ คือการ ‘ตรวจสอบลายเซ็นต์’ ที่ลงนามท้ายข้อตกลงที่มีการแก้ไข ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนี้แล้ว เพราะคนที่ลงนามจะต้อง ‘มีอำนาจจริง-มีตัวตนจริง’ ในการแก้ปัญหา ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’
เรียกว่าเป็น ‘ช่วงยื้อ’ ระหว่าง ‘ฝ่ายกองทัพ-ฝ่ายการเมือง’ กับ 2 โครงการใหญ่ ‘เรือดำน้ำ-เครื่องบินรบ’ เปรียบเป็นการ ‘วัดใจเพื่อไทย’ และเป็น ‘เดิมพันกองทัพ’ ที่มีโจทย์สำคัญคือแต่ละฝ่าย ‘พึงพอใจผลลัพธ์’ มากที่สุด