ชูป๋องเป็นเหตุ คนผิดหรือกฎหมายผิด?

17 ส.ค. 2566 - 03:39

  • ชวนวิพากษ์ปรากฎการณ์ ‘ชูป๋องเป็นเหตุ’ กับข้อถกเถียงของสังคมว่า ‘คนผิดหรือกฎหมายผิด?’ ผ่านมุมมองของ ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร’ ชายผู้ขับเคลื่อนและผลักดันสุราก้าวหน้า และความเห็นทางกฎหมายผ่านเลนส์ของ ‘รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก’ ที่จะมาชวนตั้งคำถามว่าความยุติธรรมของกฎหมายควบคุมน้ำเมาแท้จริงแล้วอยู่ตรงไหน?

alcoholic-beverage-control-act-2551-jade-thonawanik-taopiphop-padipat-SPACEBAR-Thumbnail
การโพสต์ภาพคู่กับคราฟต์เบียร์พร้อมกับดื่มโชว์ของ ‘หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่พวงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้นำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมต่อการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และตั้งคำถามว่าการกระทำที่เกิดขึ้นเข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือไม่  

แม้เจ้าตัวและคนในพรรคก้าวไกลจะออกมาแสดงท่าทีว่าสิ่งที่ ‘หมออ๋อง’ ทำไม่ได้มีเจตนาทำผิดกฎหมาย และพยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงที่สังคมควรโฟกัส คือ ตัวกฎหมายต่างหากที่มีปัญหาในแง่ของการบังคับใช้ และต้องเร่งแก้ไขกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์ รายย่อยได้ลืมตาอ้าปาก อีกทั้งยังมองว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะโพสต์  

แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้เหล่าเอฟซีจะเสียงแตกแยกเป็นสอง คือ มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยว่าคนไม่ผิด แต่ผิดที่กฎหมายมีปัญหา และกลุ่มที่เห็นว่าการแก้กฎหมายและทำผิดกฎหมายเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อทำผิดต้องว่ากันไปตามผิด และที่ผ่านมาก็เคยมีเคสที่คนมีชื่อเสียงถูกดำเนินคดีในความผิดนี้มาแล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากทำผิดแค่ยอมผิดเท่านั้น แล้วค่อยใช้กระบวนการของสภาฯ มาผลักดันแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต่อไป  
 
ประเด็นที่เกิดขึ้นผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยเพิ่มเติมกับ ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร’ สส.พรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ และเป็นแกนนำหลักในการผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้า เขามองว่าสิ่งที่ ‘หมออ๋อง’ ทำไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิด เพราะไม่มีเจตนาหวังผลทางการค้าหรือรับเงินมาช่วยโปรโมทแต่อย่างใด ส่วนใครจะวิจารณ์อย่างไรในฐานะ สส. พร้อมรับฟังอยู่แล้ว และเรื่องนี้ต้องว่ากันตามกระบวนการยุติธรรมหากผิดถูกก็ว่ากันไป เพียงแต่มองว่ากฎหมายฉบับนี้มีหลักการไม่ถูกต้อง และพรรคมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้เช่นกัน เพราะมองว่าเป็นกฎหมายที่ดูถูกประชาชน และปิดกั้นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อย แม้ตอนนี้จะยังแก้กฎหมายไม่สำเร็จ แต่การที่เห็นคนออกมาแสดงความคิดเห็นในแง่มุมที่หลากหลายถือเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่รอบนี้ ‘เท่าพิภพ’ มองว่าการเมืองเยอะไปหน่อย 

“เป็นจุดทดสอบสังคมเราว่าคิดเห็นอย่างไร แต่ครั้งนี้มันอาจจะเป็นเรื่องการเมืองเยอะ แต่เชื่อว่าหากกลับกันเป็นพลเอกประยุทธ์ ก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรก็ได้ อยากให้วางอคติลง มันสมควรแล้วหรือ ถ้าคนโพสต์รูปเบียร์เฉยๆ แล้วโดนปรับ 50,000 บาท ซึ่งหลายครั้งมันเกิดกับประชาชนที่ไม่ได้มีรายได้เยอะ อยากให้มองด้วยใจเป็นธรรม คุณอาจจะมองว่ามันผิดกฎหมาย ผมก็ผิดก็ได้ครับ แต่สุดท้ายอยากให้ตั้งคำถามว่ากฎหมายนี้มันยุติธรรมจริงๆ หรือ”

แต่หากมองในแง่ของกฎหมายผ่านเลนส์ของ ‘รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก’ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย อธิบายว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความยุติธรรม แต่หากเรายังไม่รู้ว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน ต้องพิจารณาทุกอย่างโดยรวม ยกตัวอย่างเรื่องการห้ามโฆษณาเหล้า ที่คนจำนวนหนึ่งพยายามเรียกร้องว่าต้องโฆษณาได้ แล้วความยุติธรรมสำหรับคนที่โดนรถชนจากการเมาสุรา หรือครอบครัวของคนที่ติดเหล้าอยู่ตรงไหน ย้ำว่าเมื่อกฎหมายเป็นกฎหมาย ต้องทำตามกฎหมายหากไม่เห็นด้วยก็ไปแก้ไข เหมือนอย่างที่ ‘ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยพูดไว้ว่า ‘กฎหมายไม่ดีก็ไปแก้ไม่ใช่ฝ่าฝืน’ ด้วยเหตุนี้ ‘รศ.ดร.เจษฎ์’ จึงเตือนว่าหากใครบอกว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ผิด คนทำผิดกฎหมายไม่ผิดแบบนี้เชื่อว่าบ้านเมืองวินาศสันตะโรแน่  

“ตราบเท่าที่กฎหมายเป็นกฎหมาย จะบอกว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ผิด คนทำผิดกฎหมายไม่ผิด ถ้าเป็นแบบนั้น บ้านเมืองวินาศสันตะโรแน่นอนครับ จะไม่มีบ้านเมืองไหนอยู่กันได้เลย เพราะจะต้องมีคนลุกขึ้นมาบอกว่ากฎหมายนี้มันผิด ฉันไม่ผิด และทุกๆ คนก็จะพากันทำแบบนี้ในทุกๆ กฎหมาย เอาตามอำเภอใจตัวเองว่ากฎหมายต่างหากเลวร้าย ฉันไม่ได้เลวร้าย ฉันไม่ได้ทำอะไรไม่ดี กฎหมายนั้นแหละผิด ฉันไม่ได้ทำอะไรที่ควรถูกห้ามเลย แบบนี้ตายแน่นอนครับ” 

‘รศ.ดร.เจษฎ์’ ยังมองว่าการที่กลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกลบางส่วนมองว่าสิ่งที่ ‘หมออ๋อง’ ทำเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นการมองด้วยใจที่เป็นธรรมแล้ว ส่วนข้อสังเกตของพรรคก้าวไกลที่มองว่าเรื่องนี้มีคนพยายามเบี่ยงเป็นประเด็นการเมือง ‘รศ.ดร.เจษฎ์’ มองว่าหากพรรคก้าวไกลบอกว่าเรื่องนี้ไม่ผิด ถูกกลั่นแกล้งนำมาเป็นประเด็นการเมือง แบบนี้คงไม่ใช่คนอื่นแล้วที่เบี่ยงประเด็นแล้ว  

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งย้ำชัดถึงการตั้งคำถามต่อตัว ‘พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551’ ที่มีทั้งแง่มุมที่ต้องปรับปรุง และแง่มุมของการคงไว้ซึ่งการควบคุม ตามแนวทางของรัฐประศาสนศาสตร์นโยบายที่ต้องการห้าม และไม่ต้องการให้ส่งเสริมสนับสนุนหรือจูงใจ เพื่อหวังลดปริมาณการบริโภค แต่ไม่ถึงขั้นกีดกันการค้าให้รายใหญ่ ไม่เอารายเล็ก เพียงแต่ต้องการไม่ให้โฆษณาประชาสัมพันธุ์ในลักษณะชักจูงกระตุ้นความอยาก  
 
แต่ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และความจำเป็นที่ต้องหารายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น ร่วมถึงสร้างรายได้ให้ประชาชนจากโอกาสใหม่ๆ เพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจโลก จึงถือเป็นโจทย์สำคัญที่จะหาความสมดุลว่าความยุติธรรมของกฎหมายฉบับนี้อยู่ตรงไหน  

อีกทั้งยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความชุกของการดื่มสุราของเยาวชน ก่อนและหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยข้อมูลนี้เก็บจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนชายและหญิง ในระดับชั้น ม.1 ม.3 ม.5 และ ปวช.2 ในช่วงปี พ.ศ. 2550 กับ พ.ศ. 2559 รวมประมาณ 1 หมื่นคน กระจายแต่ละภูมิภาค พบว่าแม้จะมี พ.ร.บ. นี้แล้วถึง 10 ปี แต่ความชุกของการดื่มในเยาวชนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยรายงานดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากไม่มีกฎหมายฉบับนี้จำนวนความชุกการดื่มแอลกอฮอล์ในเยาวชนอาจมีจำนวนมากนี้ได้ แต่หากต้องการให้จำนวนผู้บริโภคลดลง ควรมีมาตรการอื่นๆ ควบคุมเพิ่มเติมด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์