อ่านอุดมการณ์ 'ก้าวไกล' หลังประกาศเป็น ‘สะพานเชื่อม’ การเมือง ‘เก่า - ใหม่’

21 พ.ค. 2567 - 12:38

  • ชวนถามหามโนทัศน์ทางการเมือง หลัง ‘ก้าวไกล’ ประการขอเป็น ‘สะพานเชื่อม’ การเมืองสังคม ‘เก่า - ใหม่’ กับมหกรรมที่พูดถึงระเบิดเวลาที่ประชาชนมีส่วนร่วม กับ ‘ศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย และ 'รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์' นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

Analysis-of-the-ideology-of-the-Moveforward-Party-SPACEBAR-Hero.jpg

จะว่าไปควันหลงทางการเมือง หลังการเลือกตั้งใหญ่ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ยังคงอบอวนอยู่ในสังคม แม้ว่าจะผ่านไปร่วม 1 ปีแล้วก็ตามที ที่เห็นชัดเจน คือบรรยากาศของ งานมหกรรมนโยบาย Policy Fest ครั้งที่ 1 ‘ก้าวไกล Big Bang’ ที่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าว ‘การยุบพรรค’ และ ‘การเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหว’ ภายในเรือนจำ ซึ่งมีประเด็นทางความคิดหลายมิติ แฝงซ่อนอยู่ในกิจกรรมครั้งนี้ 

ผ่านท่าทีการให้สัมภาษณ์ของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ในประเด็น ‘การครบรอบ 1 ปี การเลือกตั้ง’ หรืออีกนัยคือ ‘1 ปีที่พรรคก้าวไกล ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากที่สุด’  

โดยกล่าวถึง 2 คอนเซปต์งาน ที่เป็นนัยแฝงสำคัญ 1) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการเมือง ผ่านการสะท้อนนโยบายที่อยากได้ กับ ‘สส.พรรคก้าวไกล’ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบพรรคหรือไม่ ก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ และ 2) คือการตักเตือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ผ่านซุ้มกิจกรรมต่างๆ อาทิ  กิจกรรม เศรษฐกิจปิดโอกาส : ชอปปิ้งใน 'ก้าวไกลสะดวกซื้อ' ในวงเงิน 5 แสนล้าน เพื่อเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเท่าเทียม ผ่านการสำรวจความต้องการของประชาชน ผ่านร้านสะดวกซื้อจำลอง    

ผนวกกับการปาฐกถาเปิดงาน หัวข้อ ‘Why 6 Big Bang’ ซึ่งพิธา ระบุว่า  วันนี้เป็นวันที่พิสูจน์ ว่าพรรคก้าวไกลไม่เหมือนพรรคอื่น และมีโปรเจกต์ทางการเมือง ที่มีวาระทางการเมือง 6 ประการ ที่หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นระเบิดเวลาของประเทศ พร้อมเชิญชวนประชาชน ที่เห็นพ้องต่อแนวทางการพัฒนาประเทศ ให้เลือก ‘พรรคก้าวไกล’ ในปี 2570 เพราะอาจต้องใช้ถึง 270 - 300 เสียง ถึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาล (พรรคเดียว) ได้  

ส่วนการปาฐกถาปิดงานของ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรค ในหัวข้อ ‘อนาคตการเมืองไทย’ มีการคีย์เวิร์ดให้จับอยู่ในช่วงที่กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำกลุ่มใด ก็ล้วนมองการเมืองแบบก้าวไกลเป็นภัยคุกคาม แต่พรรคยืนยันว่าจะเป็น ‘สะพานเชื่อม’ แห่งยุคสมัย เชื่อมสังคมไทยแบบเก่ากับแบบใหม่ และเชื่อมความฝัน ความหวัง กับความเป็นจริงเข้าด้วยกัน ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีความหมายต่อพรรคก้าวไกลมาก แม้จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เสียงของประชาชนบอกอย่างชัดเจนว่าเพดานทางการเมืองแบบเดิมของไทยได้พังทลายลงแล้ว และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ผ่านประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนั้นเป็นไปได้ 

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างการระเบิดครั้งใหญ่ในการปลดปล่อยศักยภาพของสังคมไทยออกมาให้ได้ ปลดปล่อยความรู้สึกนึกคิดและความปรารถนาแบบใหม่ๆ ของประชาชน ปลดปล่อยการเมืองออกจากการเมืองของชนชั้นนำและสถาปนาการเมืองของประชาชน แสวงหาฉันทามติใหม่ เพื่อเชื่อมต่อสังคมไทยแบบเก่าให้ก้าวสู่สังคมไทยแบบใหม่ในที่สุด”

น่าสนใจในประเด็น ‘สะพานเชื่อม’ มากๆ 

การเมือง - สังคม (แบบเก่า - แบบใหม่)

‘ศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เข้าร่วมมหกรรมในครั้งนี้ ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ท่าทีของพรรคก้าวไกลกำลังพยายามสื่อสารกับคนที่ ‘ไม่ชอบพรรคก้าวไกล’ โดยเฉพาะเนื้อหาการพูดของ ‘ชัยธวัช’ ที่แตกต่างไปจากครั้งที่แล้วๆ มา อย่างคำว่า  

‘สะพานเชื่อม’ ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้เพื่อสื่อสารกับ ประชาชนที่ไม่ชอบ ‘พรรคเพื่อไทย’ รวมถึงไม่ใช่ฐานเสียงของ ‘พรรคก้าวไกล’ ด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้คืออนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ 

ธนพร เชื่อว่าไม่ใช่การประนีประนอม แต่เป็นการที่พรรคก้าวไกลเห็นเป้าหมาย และต้องการเสียงสนับสนุนเพิ่ม ส่วนจะมีผลในการกับปรับนโยบายก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ อาจไม่ส่งผล 

เนื่องจาก ‘ทักษิณ’ ยังเป็นตำบลกระสุนตกอยู่ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืน แต่การปรับวิธีการสื่อสารและอธิบายสร้างความเข้าใจกับ ‘ฐานเสียงตรงกันข้าม’ ย่อมทำให้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ดูไม่ก้าวหน้าและไม่มีประสิทธิภาพเท่า

“ผมเรียนว่า ตอนนี้นายใหญ่เขาใหญ่จริงๆ แน่นอนว่าคนที่เคยอยู่ในขบวนการขับไล่ทักษิณ ย่อมไม่ชอบ ขณะเดียวกันพรรคที่เคยสนับสนุน (พรรคขั้วอำนาจเก่า) ก็ไร้เบี้ยเสียขาหมดแล้ว ก้าวไกลจึงเห็นโอกาสตรงนี้ โดยใช้คำว่าสะพานเชื่อม แต่สำหรับนโยบายทะลุเพดานก่อนหน้านี้ก็ปล่อยให้เลยตามเลย โดยไม่จำเป็นต้องปรับเข้าหาฐานเสียงใหม่”

สำหรับกลุ่ม ‘นายทุน - ขุนศึก’ ซึ่งถือว่ามีผลอย่างมากกับการกำหนดทิศทางของการเมืองไทยนั้น ธนพร เชื่อว่าพรรคก้าวไกลไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืนของตัวเอง ในการต่อต้านระบบทุนผูกขาด หรือการต่อต้านการใช้อำนาจในทางเกินเลยของกองทัพ เพราะละทิ้งจุดยืนการตรวจสอบตรงนี้ ย่อมทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ (ในอนาคต) รังเกียจได้ เนื่องจากวันนี้หลายคนเริ่มตระหนักรู้ ถึงภัยจากการครอบงำสังคมของกลุ่มทุน - ขุนทหาร มากแล้วพอสมควร  

เมื่อถามว่า การเชื่อมสังคมแบบเก่า - ใหม่เข้าด้วยกัน จะเป็นการลบภาพมโนทัศน์ทางการเมือง ‘ความเป็นซ้าย’ ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ให้ความเห็นว่า ไม่เคยคิดว่าพรรคคนรุ่นใหม่คือ ‘ฝั่งซ้ายจัด’ แต่เป็น ‘เสรีนิยม’ เพราะอย่างน้อยที่สุดยังมีกระบวนการแข่งขันเกิดขึ้นในพรรคอยู่ ไม่ว่าจะการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัครทางการเมือง ในระดับต่างๆ ผ่านตัวชี้วัดจาก ‘ความสามารถ’

อย่างไรก็ดี การจัดอีเวนต์ของพรรคก้าวไกล อาจไม่ใช่แค่นำเสนอทิศทางทางการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการออกแบบนโยบายทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกับงาน ‘10 เดือนไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ที่พรรคเพื่อไทยฉวยโอกาสจัดงานแบบปาดหน้า ในวันที่ก่อนหน้านี้เพียง 2 สัปดาห์ 

ภาพฉายความต่างที่ชัดเจน คือการเปิดกิจกรรมให้เป็นเรื่อง ‘สาธารณะ’ ไม่ใช่ ‘งานภายในพรรค’ ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบด้าน ‘ความใจกล้า’ ในการแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทย ถูกมองไม่ใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านนี้  

“ทั้ง 2 พรรคใช้เงินจัดงานจาก กกต. แต่เราก็ได้เห็นภาพแล้วว่าแบบไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน และแน่นอนว่าเบื้องหลังความคิดจัดกิจกรรมมาจากมุมมองของคนในพรรค”

วาทกรรม ‘สะพานเชื่อม’

ขณะที่ 'รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์' นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มองว่า นโยบาย ‘สะพานเชื่อม’ เป็นเพียงวาทกรรมหาเสียง ที่พรรคก้าวไกลประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ เพราะในอีกมิติพรรคก็พยายามที่จะปฏิเสธ ‘ทุนผูกขาด’ มาตลอด ซึ่งในทางการเมืองเป็นไปได้ยากในการที่จะสามารถปฏิเสธทุนเหล่านี้ได้ เพียงแต่อาจเป็นการพยายาม ‘ลดช่องว่าง’ ของเศรษฐกิจ ผ่านการดำเนินนโยบายทางการเกษตร เอสเอ็มอี หรือธุรกิจระดับย่อมเท่านั้น 

ส่วนจะนิยามตามมโนทัศน์เช่นไรนั้น สมชายมองว่า ในประเทศไทยไม่สามารถกำหนดได้ว่าใครคือ ‘ซ้ายจัด’ หรือ ‘ขวาจัด’ แต่สำหรับสิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังนำเสนออยู่ เป็นการฉายภาพตัวเองว่าเป็น ‘ซ้ายกลาง’

โดยสามารถใช้วิธีการได้ 2 รูปแบบ คือ 1) การใช้คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของพรรค คอยเชื่อมโยงกับผู้อาวุโส 2) การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแบบเก่า และแบบใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งวิธีการที่ 2 ดูมีความเป็นไปได้มากกว่า เนื่องจากแนวคิดด้านการเมืองและความเชื่อ อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนที่มีวัยแตกต่างกัน หาจุดตรงกลางได้ยาก จึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเข้ามาเป็นส่วนเชื่อมแทน

“การจะเชื่อมโยงผู้คนผ่านเจนเนอร์เรชัน เป็นไปได้ยากมาก เพราะพรรคก้าวไกลมีภาพนโยบายหลายอย่าง ที่คนยุคเก่าจำนวนมากไม่อาจรับได้ เอาจริงๆ มันเป็นวาทกรรม และไม่ใช่ของง่ายเลยกับการเมืองไทย”

สมชาย กล่าวต่อ ถึงความแตกต่างทางนโยบายเศรษฐกิจ ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ว่า นับตั้งแต่เสร็จสิ้นฤดูกาลเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคล้วนดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจในระดับรายย่อยเหมือนๆ กัน แต่พรรคก้าวไกลจะมีความโดดเด่นและเอาจริงเอาจังมากกว่า 

แต่จะสามารถลดช่องว่าง หรือแก้ไขการผูกขาดเลยได้หรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับทั้งสองพรรคอยู่ ออกแนว  

“ตอนหาเสียงก็ซ้ายจัดหน่อย แต่ทุกรัฐบาลพอต้องเข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องเข้ามาเป็นซ้ายกลางเสมอ” 

แน่นอนการจะเพิ่มคะแนนเสียงให้ได้ถึง 2 เท่า จำเป็นต้องทำงานหนัก และการนิยามมโนทัศน์ทางการเมือง อาจเป็น ‘สิ่งจอมปลอม’ ทุกอย่างอยู่ที่ ‘การปฏิบัติเพื่อประชาชน’ ล้วนๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์