ปัญหาความขัดแย้งในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง พื้นที่ชายแดนรัสเซีย - ยูเครน หรือแถบทะเลจีนใต้ อาจกลายเป็นเรื่องรองไปชั่วขณะ หากนำมาเปรียบเทียบสถานการณ์ ‘คาบสมุทรเกาหลี’ ที่ ณ วันนี้หากอ่านเหตุผลในการประกาศกฎอัยการศึกของ ‘ยุน ซอก-ยอน’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีระบุความพาดพิงถึง ‘กองกำลังต่อต้านรัฐ’ และภัยคุกคามจาก ‘เกาหลีเหนือ’
ในมุมมองทั่วไปอาจเห็นเป็นเพียงการโจมตีคู่ขัดแย้งทางการเมืองอย่าง ‘พรรคประชาธิปไตย’ (Democratic Party) แต่หากมองให้ลุ่มลึกแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 3 ธ.ค. 2567 อาจส่งผลเชิงนัยเสถียรภาพรอบนอกด้วยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นกระทบเด้งที่ ‘ชาติพันธมิตร’ อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ พร้อมกับเครือข่ายโลกเสรี จะมอง ‘เกาหลีใต้’ แบบไหน ?
ฉากทัศน์อันซับซ้อนของ ‘โสมขาว - ลุงแซม’
“นโยบายของทรัมป์ (ที่จะเข้ามารับตำแหน่งช่วงต้นปีหน้า) ค่อนข้างชัดเจนในทุกภูมิภาค คือยุติการสู้รบในทุกพื้นที่ที่อเมริกามีส่วนสนับสนุน เพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพ โดยมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนแตกต่างกัน แต่วัตถุประสงค์หลักคือ การหยุดรบชั่วคราว”
เป็นความเห็นของ ‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับฉากทัศน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างมหามิตรโลกเสรีกับเกาหลีใต้ ภายหลังจากเกิดปรากฏการณ์ประกาศใช้อัยการศึก ซึ่งหากมองดูนโยบายต่างประเทศของ ‘โดนัล ทรัมป์’ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่
ในเรื่องการจัดสร้างสันติภาพในพื้นที่ความรุนแรงหลายแห่ง ทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเซีย ดูมีมิติที่ดีขึ้น อย่างกรณีการคลายความตรึงเครียดที่ ‘อิสราเอล’ กับ ‘ฮิซบอลเลาะห์’ ก็สำเร็จแล้วระดับหนึ่ง
ส่วนในคาบสมุทรเกาหลีนั้น ทรัมป์ก็พยายามที่จะสมานความขัดแย้งลง ผ่านการเจรจากับเกาหลีเหนือ ในห้วงระหว่างที่ทั่วโลกจับตา ซึ่งการเจรจานี้จะส่งผลดีในระยะสั้น เพราะจะมีการหยุดพักรบเป็นการชั่วคราว ทำให้ผ่อนคลายขึ้น
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดกับเกาหลีใต้ ณ วันนี้ ย่อมส่งผลให้มิติต่างๆ ดูซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะหาก ‘ยูน ซอกยอน’ ยังไม่ลาออกหรือถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฝ่ายตะวันตกจะเข้ามาแทรกแทรงหรือกดดันหรือไม่อย่างไร เพราะการประสานเรื่องการทหารกับเกาหลีใต้ จะซับซ้อนยิ่งขึ้น ทว่ากลไกทางนิติบัญญติของรัฐสภาเกาหลีเอง ก็พอจะมีความเป็นไปได้ ในการรวบรวมเสียงให้เกิน 2 ใน 3 (201 จาก 300 เสียง) นำไปสู่การลงจากอำนาจของ ‘ยูน’ ในที่สุด
เกาหลีเหนือยังไม่บุก แต่ ‘โลกเสรี’ ต้องหาแนวร่วมเพื่อถ่วงดุล
ด้าน ‘รศ.ดร.ดำรงค์ ฐานดี’ ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองโลกห้วงที่ผ่านมา มีผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย ที่แสดงท่าทีต่อเกาหลีเหนือ รัสเซีย และจีน (แบบออกลูก) อยู่ 3 คน คือ ‘โจ ไบเดน’ (อดีต) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ อดีตนายกรัฐมนตรีญีุ่่ปุ่น และ ‘ยุน ซอกยอล’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โดย 2 คนแรกพ้น (และกำลังจะพ้น) จากตำแหน่งไปแล้ว
ส่วน ‘ยุน’ เองก็ไม่มีเสถียรภาพที่มั่นคงมากพอ จากการตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้นส่วนตัวจึงคิดว่าบุคคลเหล่านี้มีอันเป็นไปในทางการเมือง เพราะสวมบทบาทเป็นแรงต้านกับประเทศมหาอำนาจ ขั้วตรงข้ามรุนแรงไป
ขณะเดียวกัน หากมองในอีกขั้วทั้ง ‘สีจิ้นผิง’ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน 'วลาดีมีร์ ปูติน' ประธานาธิบดีรัฐเซีย และ 'คิม จองอิน' ผู้นำเกาหลีเหนือ มีสถานภาพทางการเมืองถาวรอีกยาวนานมั่นคง อาจเป็นผลด้านกำลังใจให้ฮึกเหิมเพิ่มขึ้น ซึ่งการจะถ่วงดุลอำนาจเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม โลกเสรีนิยมจึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวร่วมเพิ่มเติม อาทิ อินเดีย แคนาดา และออสเตรเลีย
“จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ดูนิ่งที่สุดทั้งตัวผู้นำและนโยบายต่างๆ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ยิ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกันฝ่ายโลกเสรีก็ถดถอยความรุนแรงลงเรื่อยๆ แต่การที่ยูนกล่าวคำอ้างเรื่องการแทรกซึมของเกาหลีเนื้อมันไม่มีมูลเท็จจริง เพราะลำพังทุกคนก็รู้ว่าเขาจะบุกเกาหลีใต้ไม่ได้”
ดำรงค์ กล่าว
ดำรงค์ อธิบายต่อว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกาหลีเหนือจะบุกเกาหลีใต้อย่างเด็ดขาดในห้วงนี้ เนื่องจากยังมีทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่ร่วม 24,000 นาย ผนวกกับอำนาจทางเทคโนโลยีการทหารที่พัฒนาไปไกล อย่างเครื่องยิงต่อต้านขีปนาวุธพิสัยสูง ขณะเดียวกันก็มีกองทัพเรือญี่ปุ่น คอยตั้งท่าคุมเชิงอยู่ด้วย
แต่อย่างไรเสีย ก็คิดสอดคล้องกับ ‘ปณิธาน’ และเชื่อเป็นแม่นมั่นว่า นโยบายของ ‘ทรัมป์’ ที่ยอมลดราวาศอก เพื่อจะทำให้ประชาคมโลก รวมถึงประชาชนในประเทศ (ฐานเสียง) เห็นว่า ตนเองมีบทบาทสำคัญในการถอดชนวนความขัดแยกออกจากกันได้ ซึ่งเป็นมิติที่ดีต่อการเกิดสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี
ท้ายที่สุดคงต้องดูกันต่อไป ว่าสถานการณ์ ‘โสมแดง - โสมขาว’ จะไปต่ออย่างไร…โดยเฉพาะห้วงที่หัวหอกผู้นำโลกเสรีกำลังเปลี่ยนมือ ขณะที่อีกฝ่ายยังมั่นคงสถาพร