เปิดตัว ‘โบอิ้ง 787’ ที่ ‘การบินไทย’ ซื้อ 45 ลำ จารึก ‘บิ๊กดีลแอร์โชว์’

23 ก.พ. 2567 - 06:53

  • เปิดตัว ‘โบอิ้ง-787’ ที่ ‘การบินไทย’ ซื้อ 45 เครื่อง เรียกว่าเป็น ‘บิ๊กดีล’ ที่ฮือฮาในงาน ‘แอร์โชว์’ ที่สิงคโปร์ สะท้านมาถึง ‘เมืองไทย’ กับดีลประวัติศาสตร์

  • เช็กสถานะ ‘การบินไทย’ หลังพ้นการเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ควบคู่ ‘แผนฟื้นฟู’ ครั้งสำคัญ ผ่านการซื้อ ‘เครื่องบินโบอิ้ง’ โดยไม่ผ่าน ‘ตัวแทน’ ในวันที่รัฐบาลไร้อำนาจคุม

Boeing-Thai-Airway-Bigdeal-SPACEBAR-Photo00.jpg

‘สเปซบาร์’ นำชมนิทรรศการของ บริษัทโบอิ้ง ภายในงาน ‘สิงคโปร์ แอร์โชว์ 2024’ ที่ Changi Exhibition Centre ประเทศสิงคโปร์ ภายหลังบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เซ็นสัญญาเช่าใช้เครื่องบิน ‘โบอิ้ง787-9 ดรีมไลเนอร์’ 45 เครื่อง พร้อมเครื่องยนต์ GF nx ของบริษัท จีอี แอร์โรว์ สเปซ โดยมีการเซ็นสัญญากันในงานดังกล่าว เมื่อ 20ก.พ.67 

‘บริษัทโบอิ้ง’ แถลงว่า เป็นคำสั่งซื้อเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท เครื่องบินทั้ง 45 ลำ จะเริ่มส่งมอบในปี 2570 และทยอยเข้าประจำการจนครบภายในเวลา 10 ปี  นอกจากนั้นการบินไทยยังมีแผนจะซื้อ/เช่า เครื่องบินโบอิ้ง เพิ่มอีก 35 ลำในอนาคต  

ปัจจุบัน ‘การบินไทย’ มีเครื่องบิน 79 ลำ ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 90 ลำ ถ้าไม่หาเครื่องบินใหม่มาเพิ่ม ในปี 2576 การบินไทยจะเหลือเครื่องบินเพียง 51 ลำ หรือน้อยกว่าปี 2556 หรือ 49 % เพราะมีเครื่องบินที่ต้องปลดระวาง และหมดสัญญาเช่า ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ การรักษาส่วนแบ่งการตลาด การสร้างการเติบโต และการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อพิจารณาเครื่องบินที่จัดหาเพิ่ม 45 ลำ จะเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 96 ลำในปี 2576 แต่ยังคงน้อยกว่าฝูงบินของ ‘การบินไทย’ เมื่อปี 2556 ที่มีเครื่องบินทั้งหมด 100 ลำ

Boeing-Thai-Airway-Bigdeal-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: บริษัทโบอิ้ง ภายในงาน ‘สิงคโปร์ แอร์โชว์ 2024’ ที่ Changi Exhibition Centre ประเทศสิงคโปร์

‘การบินไทย’ ออกแถลงการณ์ว่า การซื้อเครื่องบิน และเครื่องยนต์ครั้งนี้ เป็นการซื้อตรงกับบริษัทผู้ผลิต ‘ไม่ผ่านตัวแทน’ พร้อมย้ำว่าการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ ไม่กระทบการ ‘ชำระหนี้’ ตามแผนฟื้นฟู และเพื่อแก้ปัญหา ‘ต้นทุน’ การดำเนินงานต่างๆ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

สถานะของ ‘การบินไทย’ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2503 เป็น ‘สายการบินแห่งชาติ’ ต่อมามีสถานะเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ เมื่อปี 2531 จนมาถึงเมื่อปี 2563 ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการทำแผนฟื้นฟู ทำให้ ‘การบินไทย’ พ้นจากการเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ โดยกระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนหุ้นจาก 51.03 % เหลือ 47.86% ** ทำให้อำนาจ ‘การเมือง-ข้าราชการ’ เข้ามาจัดการหรือแทรกแซงไม่ได้

Boeing-Thai-Airway-Bigdeal-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: โมเดล ‘โบอิ้ง-787’ ภายในงาน ‘สิงคโปร์ แอร์โชว์ 2024’ ที่ Changi Exhibition Centre

ซึ่งตรงกับที่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อตอนหนึ่ง เมื่อ 13ก.พ.67 ว่า “เห็นในโซเชียลมีเดียบอกว่าผมเป็นคนอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินฝูงใหม่นี้ มันตรงกันข้ามเลย ถ้าผมมีอำนาจ ผมจะหยุดไว้ก่อน เพื่อดูว่าคุ้มทุนหรือไม่ แต่ผมไม่มีอำนาจ” 

‘สุริยะ’ กล่าวเสริมอีกว่า เราไม่มีอำนาจเข้าไป ทำได้เพียงสอบถามว่าการจัดซื้อคุ้มค่าหรือไม่ แต่กระทรวงคมนาคมมีความเป็นห่วงอย่างมาก 

ขณะที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯและรมว.คลัง กล่าวเมื่อ 13ก.พ.67 ว่า “จะต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้เป็นความซับซ้อนของเรื่องกฎหมาย เพราะทางการบินไทยเขามีสิทธิ เนื่องจากเขาเป็นผู้วางแผน ซึ่งผมก็มั่นใจว่าการบินไทยมีความหวังดีกับประเทศชาติ เราก็ต้องไปดูว่าจะสอดคล้องกับนโยบายอย่างไรบ้าง”

Boeing-Thai-Airway-Bigdeal-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: โมเดล ‘โบอิ้ง-787’ ภายในงาน ‘สิงคโปร์ แอร์โชว์ 2024’ ที่ Changi Exhibition Centre

สำหรับสเปกของ ‘โบอิ้ง787-9’ ที่ระบุในเว็ปไซด์ view.ceros.com ระบุว่า ที่นั่งโบอิ้ง 787-9 มีทั้งหมด 296 ที่นั่ง (ชั้นธุรกิจ-ชั้นประหยัด) พิสัยการบินของ 787-9 อยู่ที่ 7,565 ไมล์ หรือ 14,010 กิโลเมตร  

โบอิ้ง 787 ลดการใช้เชื้อเพลิงและคาร์บอนไดออกไซด์ 25% เมื่อเทียบกับ 767-300ER และลดเสียงรบกวน 50% เมื่อเทียบกับ 767-300ER ทำให้เสียงรบกวนในห้องโดยสารลดลง 

เครื่องบินดรีมไลเนอร์ ใช้วัสดุในการประกอบมาจากวัสดุคอมโพสิตที่มีความแข็งแรง จึงใช้เชื้อเพลิงน้อยลง และมีโครงสร้างแข็งแรงมากขึ้น ทำให้สามารถปรับความกดดันบนเครื่องบินได้ดีขึ้น ส่งผลต่อสภาพความชื้นที่สบายยิ่งขึ้น  

เรียกว่าการ ‘ลงนามสัญญา’ ระหว่าง ‘การบินไทย’ กับ ‘บริษัทโบอิ้ง’ ในงาน ‘แอร์โชว์’ ถือเป็น ‘บิ๊กดีล’ ที่เรียกว่าฮือฮาทั้งที่ ‘สิงคโปร์’ และ ‘ไทย’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์