กทม. ในมือ ‘ผู้ว่าฯวิศวะ’
สถานการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ ใน กทม. เมื่อ 28มี.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ กทม. ที่อาคารสูงหลายแห่งได้รับความเสียหาย จราจรติดขัด ประชนชนตกค้างในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเหตุการณ์อาคาร สตง. สูง 30 ชั้น ย่านจตุจักร-บางซื่อ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มลงมา
สถานการณ์ใน กทม. ที่ ‘โกลาหล’ ต้องได้รับการ ‘บริหารจัดการ’ อย่างรวดเร็ว ซึ่งหนีไม่พ้น ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และมี ‘อำนาจ’ ในสถานการณ์ที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ที่ให้อำนาจ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 32 ถึง 38 โดยเฉพาะมาตรา 32 ที่ให้อำนาจ ผู้ว่าฯ กทม. เป็น ‘ผู้อำนวยการกรุงเทพฯ’
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 13.23น. ต่อมาเวลา 13.30น. ได้มีการจัดตั้ง ‘วอร์รูม’ ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) จากนั้นทยอยดำเนินการ ‘ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์’ ของ กทม. ขึ้นให้แจ้งเตือนรอยร้าว-ความแข็งแรงของอาคาร , รายงานจุดเสี่ยงปิดการจราจร และข้อแนะนำการเดินทาง , การเตรียมสถานพยาบาล , การเตรียมรถสุขา-รถน้ำดื่ม บริการแก่ผู้ตกค้างเส้นทางจราจร , การตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว , เปิดสวนสาธารณะ 24 ชั่วโมง เป็นต้น
โดยภาพรวมสิ่งที่ กทม. เป็นไปตาม ‘ระบบ’ และ ‘อำนาจ’ ที่ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ มีอยู่ สิ่งสำคัญ คือ การที่ กทม. ประกาศเป็น ‘พื้นที่ประสบสาธารณภัย’ ในการจัดการสาธารณภัย ‘ระดับที่ 2’ ซึ่งจุดนี้ คือ ‘หัวใจ’ ของการบริหารงานในภาวะภัยพิบัติ ทำให้ กทม. มีอำนาจในการระดมสรรรพกำลังทั้ง ‘หน่วยงานรัฐ-เอกชน’ และทำให้ จนท. มีกฎหมายรองรับในการปฏิบัติงาน-เข้าพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการ ‘อนุมัติงบ’ ของรัฐ เพื่อใช้จ่าย และรองรับการ ‘ชดเชย’ ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป
สิ่งที่ปัญหาสำคัญหลัง ‘แผ่นดินไหว’ คือความเสียหายอาคาร-บ้านเรือน ที่มีการแจ้งผ่าน ‘ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์’ หลายพันเรื่อง ซึ่ง ‘ขัชชาติ’ มีเครือข่าย ‘วิศวกร-โยธา’ จำนวนมาก ผ่านวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ที่เริ่มระดมบุคลากรตั้งแต่ช่วงเย็น-ค่ำ ของวันเกิดเหตุ เพื่อตรวจอาคารต่างๆ เพื่อจัดระดับ ‘ความเสียหาย’ ในช่วงที่ประชาชนเริ่มทยอยเข้าที่พัก
สำหรับ ‘ชัชชาติ’ จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นไปเรียนปริญญาโท ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ สหรัฐฯ และปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ที่ ม.อิลลินอยฯ สหรัฐฯ และกลับมาเป็น ‘อาจารย์’ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งนี้ ‘ชัชชาติ’ ผ่านงานการเป็น ‘วิศวกรโครงสร้าง’ บริษัทเอกชน ที่สหรัฐฯ เคยเป็น ‘กรรมการ’ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ อดีต รมว.คมนาคม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
‘เจ้าแม่ภัยพิบัติ’ ข้างกาย ‘ชัชชาติ’
อย่างไรก็ตาม การเป็น ผู้ว่าฯ กทม. ของ ‘ชัชชาติ’ ต้องอาศัยความแม่นยำในเรื่อง ‘บริหารราชการแผ่นดิน’ เพราะมี ‘ลำดับขั้น-กฎหมาย’ ต่างๆ ที่มีกุนซือคนสำคัญ คือ ‘ทวิดา กมลเวชช’ รองผู้ว่าฯ กทม. ที่มีฉายาว่า ‘เจ้าแม่(จัดการ)ภัยพิบัติ’ ที่มีคอนเนกชั่นกับ ‘หน่วยงาน’ ต่างๆ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ ‘ทวิดา’ เคยทำงานด้วย และประสานกับอาสาสมัครต่างๆ
สำหรับ ‘ทวิดา’ อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ผ่านงานด้านการจัดการ ‘ภัยพิบัติ’ มากว่า 20 ปี ภายหลังจบปริญญาตรีและโท จากคณะรัฐศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท Graduate Certificate in Public Management (GCPM) School of Social Sciences, University of South Florida, USA และ ปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Public Administration and Public Policy School of Public and International Affairs, University of Pittsburgh, USA
‘ทวิดา’ อดีตที่ปรึกษาด้านการจัดการความเสี่ยง-การจัดการภัยพิบัติ , อดีตที่ปรึกษาทางด้านการจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประเทศไทย , อดีตที่ปรึกษาอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการจัดการสาธารณภัยและการลดความเสี่ยงภัยพิบัติกระทรวงมหาดไทย และ Risk Lighthouse International Pte สิงคโปร์ เป็นต้น รวมทั้งเคยร่วมงาน กทม. ผ่านคณะอนุกรรมการต่างๆ
ทั้งนี้ ‘ทวิดา’ เป็นบุตรสาว ‘ทวีศักดิ์ กมลเวชช’ อดีตผู้อำนวยการเขตพญาไท ทั้งยังเป็น ส.ก.เขตบางพลัด จากการเลือกตั้งในปี 2544
ทั้งหมดนี้คือ ‘ภูมิหลัง’ ของ ‘ชัชชาติ-ทวิดา’ จาก ‘อาจารย์มหาวิทยาลัย’ ที่อยู่กับ ‘ตำรา-ทฤษฎี’ ที่วันนี้คือ ‘บทพิสูจน์’ ของทั้งคู่ และมีผลต่อ ‘อนาคตการเมือง’ ที่อีกราว 1 ปี จะมีการ ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.’ อีกครั้ง