‘นิรโทษปรองดอง’ รึจะกลายเป็น ‘นิรโทษฟอกขาว’

31 พ.ค. 2567 - 02:15

  • หลัง ‘อัยการสูงสุด’ สั่งฟ้อง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ความผิด ม.112 ทำให้ประเด็น ‘นิรโทษกรรม’ ถูกจับตาอีกครั้ง

commissioner-amnesty-112-30may2024-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจาก ‘อัยการสูงสุด’ สั่งฟ้อง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ฐานความผิดมาตรา 112 จากเหตุให้สัมภาษณ์กับสื่อของเกาหลีใต้ ทำให้ทิศทางข่าวพุ่งตรงไปที่ ‘ม.112’ อีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นการ ‘นิรโทษกรรม’ ที่ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กลับมาถูกจับตาอีกครั้งว่า สรุปแล้ว ‘ม.112’ จะถูกรวมเข้าไปในคดีที่จะได้รับการ ‘นิรโทษกรรม’ หรือไม่?

แม้ว่า ก่อนหน้านี้จะมีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พยายามผลักดันให้ ‘กมธ.นิรโทษกรรม’ นำไปรวมอยู่ด้วยก็ตาม แต่ ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ประธานกมธ.นิรโทษกรรม มักจะตอบคำถามแบ่งรับแบ่งสู้มาตลอดว่า ยังไม่มีมติใดๆ แต่ก็ยังไม่ตัดคดี ม.112 ทิ้ง

แต่หลังจากเกิดกรณีของ ‘ทักษิณ’ ขึ้นมา ทำให้ทุกสายตา ย้อนกลับมาพุ่งเป้าที่ กมธ.นิรโทษกรรมอีกครั้งว่า จากที่ ‘ไร้บทสรุป’ ปม ม.112 ทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่ง ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หนึ่งในกรรมาธิการนิรโทษกรรม ยอมรับว่า การขับเคลื่อนการนิรโทษกรรมในคดี ม.112 จะเกิดอุปสรรคมากขึ้น

แต่ ‘ยุทธพร อิสรชัย’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยืนยันว่า ท่าทีในวงประชุม กมธ.นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังที่ ‘อัยการสูงสุด’ สั่งฟ้อง ‘ทักษิณ’ ก็ยัง ‘เหมือนเดิม’ ไม่เคยพูดถึง ‘ตัวบุคคล’ ส่วนเรื่องฐานความผิดที่จะรวมไปในการนิรโทษกรรม ก็ยังเหมือนเดิม คือ ‘ไม่เคยตัดทิ้ง ม.112 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป’

‘ยุทธพร’ เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีกระบวนการปั่นและบิดเบือนว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะช่วยเหลือ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ทั้งที่การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ ไม่เคยพูดถึงฐานความผิดในเรื่องคดีทุจริต ไม่มีการพูดถึงฐานความผิดตามมาตรา 157 ดังนั้น ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ได้ประโยชน์อะไรอย่างแน่นอน 

ส่วนที่มีการบิดเบือนว่า กมธ.นิรโทษกรรม ถอด ม.112 ออก ไม่นำมาพิจารณานั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยถอดมาตราไหนออกเลยจากทั้งหมด 25 ฐานความผิด ทุกบทบัญญัติมาตราก็อยู่ในชั้นของการพูดคุย ยิ่ง ‘ทักษิณ’ ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ก็มีความพยายามไปมองว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับ ‘ทักษิณ’ ด้วยหรือไม่

“ถ้าจะมี ม.112 ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณ เพราะเป็นสิ่งที่พูดคุยกันมาก่อน ก่อนที่จะเกิดเรื่องคุณทักษิณ แต่ถ้าคุณทักษิณจะได้ประโยชน์ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่ได้จากกฎหมายที่เป็นคุณ ก็เป็นการได้ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นกฎหมายที่สร้างมาเพื่อคุณทักษิณ เพื่อคนกลุ่มใด หรือเพื่อใครเป็นการเฉพาะ ผมเข้าประชุมทุกครั้ง ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะมีการเอ่ยชื่อคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แม้แต่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นสบายใจได้”

ยุทธพร ยืนยัน

‘ยุทธพร’ ย้ำ ข้อเท็จจริงคือไม่มีการถอด ม.112 และไม่มีการตั้งธงว่าจะช่วยใครเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน หรือ ‘ทักษิณ’ และยืนยันว่า ‘ไม่ลำบากใจ’ หลังเกิดกรณีสั่งฟ้อง ‘ทักษิณ’ เพราะทุกอย่างมีข้อมูลและหลักฐานบันทึกการประชุมว่า “เราคุยอะไรกันเมื่อไหร่และอย่างไร สามารถอธิบายกับสังคมได้ทั้งหมด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร”

ส่วนจะมีแนวโน้มที่ ม.112 จะถูกตัดออกจากการนิรโทษกรรมหรือไม่? ‘ยุทธพร’ ยอมรับว่า “ยังไม่สามารถสรุปได้” เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นหลากหลาย และไม่อยากให้ ม.112 กลายเป็นปมขัดแย้งที่จะเกิดทับซ้อนขึ้นมาอีก คนที่เห็นด้วยสนับสนุนก็มี คนที่ไม่เห็นด้วยก็มี ไม่ว่าเราจะตัดสินไปอย่างไร ถ้าไม่เกิดฉันทามติร่วมกันในสังคม ก็จะไม่นำไปสู่เจตจำนงของการนิรโทษกรรม ซึ่งก็คือการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของผู้คนในสังคม ดังนั้นจะนิรโทษหรือนิรโทษในฐานความผิดใด ต้องตอบโจทย์ข้อนี้ให้ได้ นั่นก็คือ ‘ความปรองดอง’

“ไม่ได้จะนิรโทษเพื่อฟอกขาวใครคนใดคนหนึ่งแน่นอน ยืนยันได้เลย ไม่เคยพูดชื่อบุคคลทางการเมืองคนใดเป็นพิเศษ และก็ไม่เคยหนักใจกับการพิจารณา”

ยุทธพร ย้ำอีกครั้ง

สำหรับ ‘25 มูลฐานความผิด’ ที่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อสรุปเบื้องต้นและยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่  

1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

 •   ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 110 มาตรา 112

 •   ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 (1) หรือ (2) มาตรา 114 (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ) มาตรา 116 มาตรา 117 มาตรา 118 

 •   ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 (2) หรือ (3)  มาตรา 135/2 มาตรา 135/3 

 •   ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 มาตรา 137 มาตรา 138 มาตรา 139 มาตรา 140  

 •   ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามมาตรา 191 มาตรา 198 

 •   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามมาตรา 206 มาตรา 208 

 •   ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่ง มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 มาตรา 215 วรรคหนึ่ง มาตรา 216 

 •  ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา 217 ถึง มาตรา 220 มาตรา 221 มาตรา 225 มาตรา 226

 •   ความผิดต่อชีวิต มาตรา 289 

 •   ความผิดต่อร่างกาย ตามมาตรา 295 มาตรา 296 มาตรา 297 มาตรา 299 มาตรา 300 

 •   ความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 310 วรรคหนึ่ง มาตรา 310 ทวิ มาตรา 311 วรรคหนึ่ง

 •   ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 มาตรา 328 และมาตรา 329 

 •   ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 มาตรา 359 (3) และ มาตรา 360 

 •   ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 มาตรา 364 มาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3) 

 •   ความผิดลหุโทษ ตามมาตรา 368 มาตรา 370 มาตรา 371 มาตรา 385 มาตรา 391 และมาตรา 393

2.ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามมาตรา 30 มาตรา 31

3.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

5.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

6.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

7.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

8.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548

9.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปี 2551

10.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

11.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปี 2550

12.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

13.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ เรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

14.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 พ.ศ.2551

15.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

16.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2535

17.ความผิดตามคำสั่ง คสช.

18.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

19.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

20.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

21.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ พ.ศ.2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

22.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

23.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

24.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธง พ.ศ.2522

25.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550

นี่คือ ‘ฐานความผิดทั้งหมด’ ที่กรรมาธิการสรุปไว้เบื้องต้น แต่สุดท้ายคงต้องติดตามจากคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมอีกครั้งว่า จะมีคดีใดใน 25 ฐานความผิดนี้ ‘ถูกตัดออกบ้าง’ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว กรรมาธิการฯ จะทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์