ศึกแย่ง ‘ปธ.กมธ.’ สงครามที่ไม่สิ้นสุด

7 ก.ย. 2566 - 08:01

  • ศึกครั้งนี้ดูเหมือนจะยืดเยื้อไปอีก สำหรับการแย่งชิงเก้าอี้ ‘ประธาน กมธ.’ ที่ไม่จบลงง่ายๆ เมื่อมีผู้ท้าชิงอย่าง ‘ก้าวไกล’ แม้ว่าจะ ‘ถอยแล้ว ถอยอยู่ ถอยต่อ’ มาเสมอ แต่ครั้งนี้ พวกเขาไม่ยอมถอยอีกแล้ว!

Commissioner-war-never-ending-SPACEBAR-Thumbnail (1)
เค้กประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ก้อนนี้ คงหวานหอมไม่แพ้เค้กรัฐมนตรี เพราะผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ ก็ยังแบ่งกันไม่ได้ แม้จำนวน กมธ.ของแต่ละพรรคจะสรุปได้เรียบร้อย แต่โควต้าประธาน กมธ.ว่าพรรคใครจะนั่งคณะใด ก็ยังตกลงกันไม่ได้  

เมื่อต่างฝ่ายต่างงัดข้อกัน 

พรรคฝั่งรัฐบาลประกาศชัดเจนว่า ต้องการตำแหน่งประธานกมธ.ที่ตรงกับกระทรวงของตัวเอง เพื่อให้การทำงานราบรื่นและคู่ขนานกันไป แต่พรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่งอย่าง ‘ก้าวไกล’ ไม่เห็นด้วย พร้อมยืนกรานว่า กมธ.สำคัญที่เป็นบทบาทตรวจสอบฝ่ายบริหาร จะต้องเป็นของ ‘ฝ่ายค้าน’ โดยเฉพาะ ‘กมธ.การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ’ และ ‘กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.)’ 

2 กมธ.เจ้าปัญหาทำให้อดีตคนรักอย่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ต้องปะทะกันอีกครั้ง เมื่อต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง แม้ว่า ‘เพื่อไทย’ จะยอมถอยหนึ่งก้าว ขอแค่ประธาน กมธ.ป.ป.ช. และยกประธาน กมธ.ติดตามงบประมาณให้ ‘ก้าวไกล’ เพื่อให้เรื่องของอดีตคนรักจบกันด้วยดี แต่นี่ไม่ใช่ละครรักโรแมนติก จึงไม่มีฉาก Happy Ending ให้เห็น เพราะ ‘ก้าวไกล’ ไม่อาจยอมรับข้อตกลงนี้ได้ ประธาน กมธ.ทั้ง 2 คณะนี้ ต้องเป็นของ ‘ก้าวไกล’ เท่านั้น! 

ศึกแบ่งเค้กก้อนนี้ ไม่ได้แย่งชิงกันแค่ 2 พรรค แต่เกือบทุกพรรคฝั่งรัฐบาลกลับต้องการเก้าอี้ประธาน กมธ.ซ้ำกับ ‘ก้าวไกล’ ผู้ซึ่งต้องการตรวจสอบรัฐบาลและสานงานต่อจากสภาชุดที่แล้วที่ ‘ก้าวไกล’ เคยเข้าไปนั่งมาก่อน อาทิ
  • กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 
  • กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
  • กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน 
  • กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ 
  • กมธ.การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ 
  • กมธ.ป.ป.ช. 
  • กมธ.คมนาคม 
  • กมธ.แรงงาน 
  • กมธ.กระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ 
ขณะที่ ‘ภูมิใจไทย’ จองเก้าอี้ประธาน กมธ.ไว้แบบครบจำนวนโควต้า ได้แก่ 
  • กมธ.ศึกษาธิการ 
  • กมธ.แรงงาน 
  • กมธ.ปกครอง 
  • กมธ.กระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ  
  • กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย 
ด้าน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ เล็งไว้ 3 คณะ สอดคล้องกับโควต้า รมต.ได้แก่ 
  • กมธ.การอุตสาหกรรม 
  • กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน  
  • กมธ.พลังงาน 
ส่วน ‘ประชาธิปัตย์’ ก็มีหลายชอยซ์ที่ต้องการเช่นกัน อาทิ 
  • กมธ.การคมนาคม 
  • กมธ.การพาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา
  • กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 
  • กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค 
‘ชาติไทยพัฒนา’ มีโควต้า 1 เก้าอี้ จึงเล็ง ‘กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ เพื่อให้สอดคล้องกับกระทรวงตัวเอง เช่นเดียวกับ ‘ประชาชาติ’ ที่ได้โควต้าเพียง 1 แต่ก็ขอจองเก้าอี้สำคัญ คือ ‘กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน’  

เมื่อดูเป้าหมายของแต่ละพรรคแล้ว พบว่า ซ้ำซ้อนกันบ้าง แต่ก็เคลียร์กันได้เกือบทุกพรรค เช่น กมธ.คมนาคม ที่ ‘ประชาธิปัตย์’ หวังครองเก้าอี้ แต่สุดท้ายเจรจากันได้ ยอมถอยให้ ‘เพื่อไทย’ แล้วไปเลือก ประธานกมธ.พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา และ กมธ.การตำรวจแทน

มีเพียง ‘ก้าวไกล’ ที่ไม่ถอย? 

จากจำนวน กมธ.ทั้งหมด 35 คณะ การแบ่งเค้กชิ้นนี้ เสร็จสมหวังไปแล้ว 29 คณะ ยังเหลืออีก 6 คณะที่สู้กันไม่หยุด เมื่อบังเอิญความต้องการไปตรงกับ ‘ก้าวไกล’ กลายเป็นสงครามที่ไม่สิ้นสุด 

ก้าวไกล vs ประชาชาติ 
  • กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 
ก้าวไกล vs ภูมิใจไทย 
  • กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ 
  • กมธ.แรงงาน 
ก้าวไกล vs เพื่อไทย 
  • กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 
  • กมธ.การคมนาคม 
  • กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ 

ส่องอดีต 6 ประธาน กมธ.เจ้าปัญหา 

การแย่งชิงนี้ ทำให้ต้องย้อนดูสภาชุดที่แล้วว่า อดีตประธาน กมธ.ทั้ง 6 คณะที่แย่งชิงกันอยู่ในเวลานี้ มาจากฝ่ายใดกันบ้าง เมื่อไปสำรวจก็พบข้อมูลที่น่าสนใจ  
  1. กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีศุภชัย ใจสมุทร ‘สส.ฝ่ายรัฐบาล’เป็นประธาน 
  2. กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ มีซูการ์โน มะทา ‘สส.ฝ่ายค้าน’ เป็นประธาน 
  3. กมธ.แรงงาน มีสุเทพ อู่อ้น ‘สส.ฝ่ายค้าน’ เป็นประธาน 
  4. กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ‘สส.ฝ่ายค้าน’ เป็นประธาน 
  5. กมธ.การคมนาคม มีโสภณ ซารัมย์ ‘สส.ฝ่ายรัฐบาล’ เป็นประธาน  
  6. กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ มีไชยา พรหมา ‘สส.ฝ่ายค้าน’ เป็นประธาน 
จะเห็นว่า ประธานกมธ.ทั้ง 6 คณะมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลคละกันไป แต่เมื่อมาถึงสภายุคนี้ ต่ายฝ่ายต่างงัดข้อ ทำให้ ‘ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล’ ถึงกับออกมาแฉว่าถูก ‘รุมกินโต๊ะ’ ผลักให้ ‘ก้าวไกล’ ยอมเอา กมธ.ที่ไม่มีใครเลือก จน ‘ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย’ ออกมาตอบโต้ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการซ้ำซ้อนกันของ กมธ.ไม่ได้มีเฉพาะก้าวไกล แต่ทุกพรรคเจรจากันได้ มีเพียง ‘ก้าวไกล’ ที่ไม่ยอมถอย ทำให้ ‘วิสุทธิ์ ไชยณรุณ วิปพรรคเพื่อไทย’ ตัดสินใจว่า จะต้องนัดคุย ‘ก้าวไกล’ เพื่อคลายปมนี้ให้ได้  

เช่นนี้แล้ว หาก ‘ก้าวไกล’ ยังไม่ยอมถอย? 

แต่เมื่อดูทิศทางแล้วไม่น่าจะจบลงง่ายๆ ‘พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2’ จึงเตรียมแผนสำรองไว้ ด้วยการ ‘จับสลาก’ แต่แน่นอนว่า เกือบทุกพรรคไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ เพราะจะเกิดเหตุการณ์ ‘ได้อย่าง เสียอย่าง’ ทำให้เปอร์เซ็นต์ไม่สมหวังดั่งใจมีมากขึ้นกว่าเดิม  

ท้ายที่สุด เค้กชิ้นนี้จะเคลียร์กันได้หรือไม่ คงต้องลุ้น เพราะใกล้จะสิ้นสุดปีงบประมาณแล้ว เมื่อตกลงกันได้ยาก ผู้ที่เสียโอกาสจากการทำงานของ ‘ท่านผู้แทนราษฎร’ ก็คือ ‘ประชาชน’ นั่นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์